ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 สะท้อนภาพการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยหลายเครื่องชี้เศรษฐกิจขยายตัวจากฐานต่ำในปีก่อน ส่วนในระยะข้างหน้ายังมีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามใน 3 ด้านสำคัญ เพราะอาจมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะถัดไป
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นความเสี่ยงทั้ง 3 ด้านที่ยังต้องติดตาม คือ 1. การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเด็นนี้มีผลต่อความเชื่อมั่นการใช้จ่ายในระยะข้างหน้า
“เราคงต้องรอดูว่าภาครัฐจะมีมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดอย่างไร เข้มงวดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าดูจาก Google Mobility Index ล่าสุดกิจกรรมการเดินทางเริ่มลดลงบ้าง แต่ยังไม่เท่ากับรอบแรก หากสถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังรุนแรงขึ้น ก็อาจกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน”
- ต้องดูว่าการใช้มาตรการ ‘ปิดเมือง’ ที่เข้มงวดขึ้นในต่างประเทศ จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากน้อยแค่ไหน โดยประเด็นนี้จะส่งผลต่อเนื่องมายังภาคการส่งออกของไทย
- ความต่อเนื่องการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งข้อนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะแม้ว่าตลาดแรงงานจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเปราะบางในบางจุด
“การฟื้นตัวแม้เริ่มดีขึ้นแต่ยังไม่ทั่วถึง ตัวเลขการขอรับสวัสดิการการว่างงานก็ยังสูง ยังต้องติดตามดูพัฒนาการส่วนนี้ต่อไป และจำนวนผู้เสมือนการว่างงาน คือผู้ที่มีงานทำน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในภาคเกษตร และต่ำกว่า 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในฝั่งแรงงานนอกภาคเกษตร สิ่งที่เห็นคือ เริ่มมีจำนวนลดลง แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อยู่นอกภาคเกษตรเป็นสำคัญ”
ชญาวดี กล่าวด้วยว่า ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 นั้น ยังต้องติดตามดูพัฒนาการอย่างต่อเนื่องว่าภาครัฐจะมีมาตรการดูแลอย่างไร เพราะสถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดย ธปท. จะนำประเด็นเหล่านี้มาประเมินภาพเศรษฐกิจเป็นระยะ
อย่างไรก็ตามในการประเมินเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินความเสี่ยงด้านต่ำไว้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นผลกระทบโดยภาพรวมจึงน่าจะอยู่ในกรอบการประเมินของ กนง.
สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2563 แม้ว่าจะทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง และหลายเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้จากฐานปีก่อนที่ต่ำ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากผลของมาตรการภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ
ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ส่วนการส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
ชญาวดี กล่าวด้วยว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาขาดดุลจำนวน 1,475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดุลการค้าเกินดุลลดลง ในขณะที่ดุลบริการขาดดุลมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากค่าขนส่งสินค้าทางเรือที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันในเดือนพฤศจิกายนยังพบว่า บริษัทต่างชาติได้ส่งเงินกลับต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลจำนวน 1,475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นตัวเลขการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 18 เดือนนับจากเดือนพฤษภาคม 2562
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์