×

ธปท. จับตา 3 ความเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง มองท่องเที่ยว-ส่งออกยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

31.07.2023
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนมิถุนายน 2566 ว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีทิศทางฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ สะท้อนจากปริมาณการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ Air และ Accommodation ในไทยของต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันก็คาดว่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีตามวัฏจักรความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เดือนกรกฎาคมของ ธปท. ยังพบว่าความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดี ในระยะต่อมีความเสี่ยง 3 ประการที่ ธปท. มองว่ายังต้องติดตาม ประกอบด้วย 

 

  1. เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง เช่น การฟื้นตัวของจีนที่ช้าซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย 

 

  1. การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ โดยในระยะสั้นประเมินจะกระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่หากลากยาวมากอาจกระทบความเชื่อมั่น

 

  1. ผลของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงต่อกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

 

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/66 พบว่าปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากการผลิตยานยนต์และหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ 

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับเงินเฟ้อในหมวดพลังงานลดลง ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและรายรับด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลลดลง

 

ทั้งนี้ หากเจาะดูเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนในเดือนก่อนเป็น 2.24 ล้านคน กระจายในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวบางสัญชาติ เช่น ยุโรปและตะวันออกกลาง ปรับลดลงบ้างหลังจากเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า 

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตามการส่งออกทุเรียนไปจีน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามรอบการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรแปรรูปลดลงตามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปอินเดีย และการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า จากที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อน

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาผลิตตามปกติ หลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน รวมทั้งการผลิตเหล็กปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการนำเข้าจากจีนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าบางหมวดปรับลดลงจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง เช่น น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ยางเป็นสำคัญ

 

ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด หลังปัจจัยชั่วคราวหมดลง ประกอบกับการเร่งส่งมอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัว ด้านปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising