×

3 กลุ่มวิจัยเผยข่าวดีพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขณะที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดโชว์ผลทดลอง ชี้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

โดย THE STANDARD TEAM
21.07.2020
  • LOADING...

วานนี้ (20 กรกฎาคม) 3 กลุ่มวิจัยจากสหราชอาณาจักร จีน และสหรัฐฯ ต่างเผยแพร่ผลทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ขั้นต้นในคน พบสัญญาณบวกที่วัคซีนสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันและใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ผลทดลองแรกจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร ที่ร่วมมือกับบริษัทยา AstraZeneca พัฒนาวัคซีนชื่อว่า AZD1222 พบสัญญาณบวกที่สำคัญ ในการทดลองขั้นต้น เฟสที่ 1/2

ข้อมูลการทดลองที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่ามีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,077 คน อายุ 18-55 ปี ที่ไม่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าวัคซีนนั้นมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของกลุ่มตัวอย่างได้ดีเกือบทุกคน และนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญอย่างแอนติบอดี้ (Antibody) หรือสารภูมิต้านทาน และทีเซลล์ (T-Cell) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้สามารถต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2 ) ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ได้

จากการทดลองพบว่าระดับการตอบสนองของทีเซลล์จะเพิ่มสูงสุดหลังฉีดวัคซีนในระยะเวลาประมาณ 14 วัน ส่วนแอนติบอดี้จะมีการตอบสนองสูงสุดหลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 28 วัน ซึ่งในการทดลองยังพบผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงจากการฉีดวัคซีน เช่น มีไข้ หรือปวดศีรษะในกลุ่มตัวอย่างราว 70%

“เราพอใจกับผลการทดลองที่เผยแพร่ในวันนี้ (20 กรกฎาคม) เนื่องจากเราเห็นการตอบสนองทั้งจากแอนติบอดี้และทีเซลล์” ศ.แอนดรูว์ พอลลาร์ด หัวหน้าโครงการวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าว

ออกซ์ฟอร์ดพัฒนาวัคซีน AZD1222 ด้วยเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัด ซึ่งพบได้ทั่วไปในลิงชิมแปนซี โดยเชื้อไวรัสจะถูกดัดแปลงพันธุกรรมขนานใหญ่จนทำให้ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อ อีกทั้งยังมีลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายกับไวรัสโคโรนา 2019 และเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดการตอบสนอง

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของออกซ์ฟอร์ดยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ก่อนจะยืนยันว่าวัคซีนนั้นสามารถต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนตรวจสอบว่าวัคซีนนั้นสามารถปกป้องร่างกายจากไวรัสได้นานแค่ไหน

ขณะที่ตอนนี้ทีมวิจัยของออกซ์ฟอร์ดได้เริ่มการทดลองเฟสที่ 2/3 ซึ่งจะมีการขยายการทดลองในกลุ่มตัวอย่างในสหราชอาณาจักรเพิ่มเป็น 10,000 คน และได้ขยายการทดลองไปยังต่างประเทศด้วย เนื่องจากอัตราการติดเชื้อในสหราชอาณาจักรตอนนี้ค่อนข้างต่ำ ทำให้ยากต่อการยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีน โดยปัจจุบันได้เริ่มการทดลองในแอฟริกาใต้และบราซิลแล้ว และจะเริ่มการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 30,000 คนในสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมนี้

ทางด้านรัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่าได้ทำข้อตกลงและจ่ายเงินสั่งผลิตวัคซีนโควิด-19 จาก 3 กลุ่มวิจัย รวมถึงออกซ์ฟอร์ดแล้ว โดยแบ่งเป็น

  • วัคซีน 100 ล้านโดส ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 
  • วัคซีน 30 ล้านโดส ของบริษัท BioNtech/Pfizer
  • วัคซีน 60 ล้านโดส ของบริษัท Valneva 

 

ซึ่งทางประธานคณะทำงานด้านวัคซีนของสหราชอาณาจักรเปิดเผยสาเหตุที่ต้องค้นหาและสั่งผลิตวัคซีนจากกลุ่มวิจัยที่มีความก้าวหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าสหราชอาณาจักรจะได้วัคซีนจากหนึ่งในกลุ่มวิจัยเหล่านี้ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

สำหรับผลทดลองที่ 2 ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวานนี้ (20 กรกฎาคม) เช่นกันคือผลทดลองจากบริษัท CanSino Biologics ผู้ผลิตวัคซีนของจีน ซึ่งทำการทดลองเฟสที่ 2 ในเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยให้วัคซีนกลุ่มตัวอย่าง 500 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน ทั้งมาก น้อย และได้วัคซีนหลอก (Placebo)

จากการทดลองพบว่าวัคซีนนั้นมีความปลอดภัย และในกลุ่มตัวอย่าง 95% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนปริมาณมาก และ 91% ของผู้ได้รับวัคซีนปริมาณน้อย มีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างแอนติบอดี้และทีเซลล์ในระยะเวลา 28 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ไม่พบว่าช่วยยับยั้งการติดเชื้อ และในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนปริมาณมาก 9% มีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง ซึ่งผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบคือมีไข้สูง

อีกกลุ่มวิจัยที่มีความก้าวหน้าในผลทดลองวัคซีนโควิด-19 คือกลุ่มวิจัยภายใต้การร่วมมือของบริษัท Pfizer จากสหรัฐฯ และบริษัท BioNTech จากเยอรมนี ซึ่งพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA หรือการตัดต่อสารพันธุกรรม

ผลการทดลองขั้นต้น เฟสที่ 1/2 ที่เผยแพร่ทาง medRxiv.org แต่ยังไม่ถูกเผยแพร่และตรวจสอบแบบ Peer Review ในวารสารการแพทย์ พบว่ามีการสุ่มให้วัคซีนกลุ่มตัวอย่าง 60 คน อายุ 18-55 ปี ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในปริมาณน้อยสามารถกระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดี้และทีเซลล์ได้ดี

สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดกับกลุ่มตัวอย่าง หลายคนมีอาการในระดับเบาบางจนถึงปานกลาง ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะคล้ายกับมีไข้ ขณะที่ Pfizer และ BioNTech เปิดเผยว่าหลังจากนี้จะมีการขยายการทดลองเข้าสู่เฟสที่ 3 และขยายการทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มเป็น 30,000 คน ซึ่งจะเริ่มต้นในปลายเดือนนี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X