×

เปิด ‘3 เหตุผล’ ทำส่งออกไทยฟื้นตัวช้า ถูก ‘เวียดนาม’ แซง

24.10.2020
  • LOADING...
เวียดนาม แซง เปิด เหตุผล ส่งออกไทยฟื้นตัวช้า

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ส่งออกไทยเดือนกันยายนหดตัว -3.86% ‘ดีกว่าคาด’ แต่ ‘ฟื้นตัวช้า’ กว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่เติบโต 18%
  • ‘3 เหตุผล’ ทำส่งออกไทยฟื้นตัวช้ามาจากโครงสร้างสินค้าส่งออก โครงสร้างตลาดส่งออก และบทบาทในห่วงโซ่การผลิตโลกของไทยลดลง
  • มูลค่า FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามสูงกว่าไทยหลายเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกของเวียดนามแซงหน้าไทย
  • นักวิชาการแนะเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะแบบพหุภาคี ก่อนที่ไทยจะตกขบวนการค้าโลก

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘กระทรวงพาณิชย์’ รายงานตัวเลข ‘การส่งออก’ ของไทยเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่ารวม 1.96 หมื่นล้านบาท ‘หดตัว’ น้อยลงเหลือ -3.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มองผิวเผินนับเป็นตัวเลขที่ ‘ดีขึ้น’ เมื่อเทียบกับช่วงหลายๆ เดือนก่อนหน้า ทั้งเดือนสิงหาคมที่หดตัว -7.9% และเดือนกรกฎาคมที่หดตัว -11.4% 

 

แต่ถ้าเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันแล้ว การส่งออกของไทยถือว่า ‘ฟื้นตัวช้า’ กว่าคนอื่นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ ‘เวียดนาม’ ซึ่งในเดือนกันยายน การส่งออกของเวียดนาม ‘ขยายตัว’ ได้ถึง 18% เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ‘ไต้หวัน’ หรือ ‘เกาหลีใต้’ ก็กลับมาขยายตัวได้ในระดับ 9.4% และ 7.7% ตามลำดับ

 

มองไปข้างหน้า การส่งออกไทยมีแนวโน้มว่าจะยัง ‘ฟื้นตัวช้าต่อเนื่อง’ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่าถ้าดูการส่งออกของไทยเทียบเดือนต่อเดือน (MoM) พบว่าขยายตัวแค่ 1.5% เท่านั้น สะท้อนว่าการส่งออกยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังมีอีก ‘3 ปัจจัยเสี่ยง’ ที่ต้องติดตามดูระยะข้างหน้า ทั้งเรื่องนโยบายการค้าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ การกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก และความเสี่ยงต่อการส่งออกในระยะปานกลางจากกระแสการจัดสรรห่วงโซ่อุปทานใหม่ ทั้งหมดนี้คือโจทย์ความท้าทายที่การส่งออกไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า

 

 

 

กล่าวโดยสรุปคือ ‘การส่งออกไทย’ แม้จะเริ่มดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังช้ากว่าประเทศคู่แข่งขันอยู่มาก นำไปสู่คำถามที่ว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ กับการส่งออกของไทย เรื่องนี้มีการวิเคราะห์โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพอจะสรุปเหตุผลออกมาได้ใน 3 ประเด็น  

 

1. โครงสร้างสินค้าส่งออก (Product Composition) ของไทยอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ฟื้นตัวช้า เช่น ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยสินค้าเหล่านี้อยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีมูลค่าสูง ทำให้ความต้องการลดลงในช่วงที่กำลังซื้อทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

 

ส่วนสินค้าในกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็ว เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นกลุ่มที่มี ‘ดีมานด์’ สูงในช่วงที่โลกต้องใช้เทคโนโลยีในการปรับตัวเข้าสู่โลกวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal แต่สัดส่วนสินค้าในกลุ่มเหล่านี้ของไทยอยู่ระดับ ‘ต่ำกว่า’ ประเทศอื่นในภูมิภาค จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ

 

2. โครงสร้างตลาดส่งออก (Market Composition) ของไทยที่ส่งไป ‘จีน’ ต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจอาเซียนยังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับเศรษฐกิจอาเซียนพึ่งพาดีมานด์จากต่างประเทศสูง จึงโดนผลกระทบจากการค้าและการท่องเที่ยวของโลกที่ฟื้นตัวช้า แตกต่างจากเศรษฐกิจ ‘จีน’ ที่ดีมานด์ในประเทศฟื้นตัวได้เร็ว และกำลังซื้อของคนในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้น ‘ไทย’ ซึ่งส่งออกไป ‘จีน’ น้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่า

 

3. บทบาทของไทยในห่วงโซ่การผลิตโลกลดลง ซึ่งข้อนี้ถือเป็นเหตุผลเชิง ‘โครงสร้าง’ ที่สำคัญ และเป็นปัญหาที่รัฐบาลควรต้องรีบหาทางแก้ไข โดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การส่งออกไทยฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคคือพัฒนาการด้าน ‘ความสามารถทางการแข่งขัน’ ที่ช้ากว่าคู่แข่ง สะท้อนผ่านระดับการมีส่วนร่วมของไทยใน ‘ห่วงโซ่’ การผลิตโลกที่ ‘ลดลง’ ในหลายอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือ ‘สวนทางกับคู่แข่ง’ โดยเฉพาะเวียดนาม

 

 

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา ‘เวียดนาม’ มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เฉลี่ยปีละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 7.2% ของ GDP เม็ดเงินในส่วนนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ส่วนของ ‘ไทย’ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเงินลงทุนจาก FDI เข้ามาเฉลี่ยแค่ปีละ 3.6 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.9% ของ GDP 

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2562 ‘แซง’ ไทยเป็นครั้งแรก แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนถึงปัจจัยดึงดูดเม็ดเงิน FDI ที่เวียดนาม ‘ได้เปรียบ’ ไทยในหลายด้าน ทั้งขนาดตลาดและศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้นทุนแรงงาน คุณภาพของลูกจ้าง เสถียรภาพทางการเมือง ระดับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

 

รวมทั้งจำนวนประเทศที่เวียดนาม ‘ทำข้อตกลงการค้าเสรี’ (Free Trade Agreement: FTA) ก็มีมากกว่าไทยเกือบ 3 เท่า ส่งผลให้ผู้ประกอบการเวียดนามมี ‘แต้มต่อ’ ทางการค้าเหนือไทย เพราะเวียดนามสามารถส่งออกไปหลายประเทศในอัตราภาษีที่ระดับ ‘ใกล้ศูนย์’ มากกว่าไทย

 

ไม่เฉพาะการส่งออกปี 2562 เท่านั้นที่ ‘เวียดนาม’ เบียดแซง ‘ไทย’ ถ้าดูมูลค่าการส่งออกของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีมูลค่ารวมแล้วกว่า 2.01 แสนล้านดอลลาร์ เทียบกับมูลค่าการส่งออกของไทยซึ่งทำได้เพียง 1.79 แสนล้านดอลลาร์ เท่ากับว่า 9 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกสินค้าสูงกว่าไทยแล้วถึง 16.5%

 

เวียดนาม แซง เปิด เหตุผล ส่งออกไทยฟื้นตัวช้า

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองว่านอกจากเวียดนามจะได้ประโยชน์จาก FTA แล้ว สินค้าหลายๆ อย่างของเวียดนามเป็นสินค้าที่ไทยไม่สามารถผลิตได้เอง และส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการของโลกในปัจจุบัน คือเป็นสินค้าที่คนต้องใช้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) 

 

“การส่งออกของเราที่ฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับเวียดนามหรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่พลิกกลับมาขยายตัวได้ดี ทำให้เราต้องมาวิเคราะห์แล้วว่าสินค้าของเรายังเป็นที่ต้องการของโลกอยู่หรือไม่ เรายังจะโตในสินค้ากลุ่มเดิมๆ คือ อาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งเป็นสินค้าที่มูลค่าไม่ได้สูงมาก และดีมานด์ในตลาดโลกเริ่มน้อยลงหรือไม่”

 

ด้าน เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าประเด็นเรื่อง FTA ทำให้เวียดนามได้เปรียบทางการค้าเหนือไทย ถ้าไทยไม่เร่งเจรจา FTA กับประเทศอื่นๆ ในระดับเดียวกับเวียดนาม ไม่แน่ว่าในอนาคตการส่งออกของไทยก็คงสู้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคไม่ได้เช่นกัน

 

สาเหตุหนึ่งที่ FDI เข้าเวียดนามเยอะเพราะเขาได้เปรียบในเรื่อง FTA สะท้อนว่ากิจกรรมการลงทุนของเขาขยายตัวดี มีการเปิดโรงงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง การลงทุนของเวียดนามจึงเพิ่มกว่าไทยมาก ทำให้การส่งออกของเวียดนามดีกว่าไทยด้วย 

 

ไม่เฉพาะ FDI จากต่างชาติที่มุ่งไปเวียดนาม โรงงานจากบ้านเรายังย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามจำนวนมากด้วย เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องหยิบมาพิจารณา ถ้าปล่อยไว้ นักลงทุนต่างชาติจะย้ายเข้าไปที่เวียดนามกันหมด ยิ่งเวลานี้นักลงทุนบางส่วนกำลังย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เขาอาจไม่ได้มองเราเป็นประเทศแรกๆ ที่อยากเข้ามาลงทุน ถือเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องเร่งนำมาพิจารณา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็เริ่มออกมาพูดถึงประเด็นนี้บ้างแล้ว”

 

นอกจากนี้บทวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยยังสรุปด้วยว่า ‘ไทย’ มีความเสี่ยงที่จะถูก ‘ลด’ บทบาทใน ‘ห่วงโซ่’ การผลิตโลกระยะยาว ดังนั้นการพัฒนาความสามารถการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะข้อตกลงแบบพหุภาคี 

 

รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs รวมถึงการปรับรูปแบบธุรกิจและประเภทสินค้าให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่หลังโควิด-19 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยในอนาคต

 

มาถึงบทสรุปของเรื่องนี้ เชื่อว่าทุกคนคงมีความเห็นคล้ายกันว่าหากปล่อยทิ้งไว้เราอาจ ‘ตกขบวน’ การค้าโลก ยิ่งเศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนการส่งออกสูงในระดับ 60-70% ของ GDP ถ้าการส่งออกของเรายังฟื้นตัวช้า ตามไม่ทันคู่แข่ง หมายความว่าเงินที่เคยเข้ากระเป๋าเรา จะไปอยู่กระเป๋าคนอื่นแทน …ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนเศรษฐกิจต้องเร่งหารือเพื่อหาทางออก

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X