×

ครม. ไฟเขียว 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อ เคาะ ‘คนละครึ่ง’ เฟส 4 คนละ 1,200 บาท เริ่มใช้ 1 ก.พ. ถึง 30 เม.ย. คาดกระตุ้น GDP ปีนี้ได้เพิ่ม 0.21%

24.01.2022
  • LOADING...
คนละครึ่ง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (24 มกราคม) คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบโครงการดังต่อไปนี้ 1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และ 3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ตามที่กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเสนอ 

 

เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิดให้แก่กลุ่มที่มีความเปราะบางทางด้านรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สิน และผู้ต้องการความช่วยเหลือตลอดจนเพื่อรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

  1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 8,071 ล้านบาท ให้แก่ผู้มีบัตรฯ จำนวนไม่เกิน 13.45 ล้านคน โดยจะใช้ฐานข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2565

 

  1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้า หรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นวงเงินรวม 1,352 ล้านบาท 

 

  1. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 สนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตรา 50% ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 1,200 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ให้กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 29 ล้านคน 

 

สำหรับรายละเอียดของการลงทะเบียนและการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีดังนี้

 

  1. ประชาชนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (คนเดิม) จำนวน 27.98 ล้านคน จะต้องยืนยันสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

 

โดยจะต้องเริ่มใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 22.59 น. หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ โดยสิทธิที่เหลืออาจจะนำมาพิจารณาเปิดให้ลงทะเบียนอีกครั้ง ทั้งนี้ หากยืนยันสิทธิและใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ครั้งแรกในระยะที่กำหนด สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 

 

  1. สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 จนกว่าจะครบจำนวนประมาณ 1 ล้านสิทธิ โดยสามารถใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ซึ่งช่องทางการลงทะเบียนแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ 

 

2.1 กรณีเป็นประชาชนที่เคยได้รับสิทธิมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ หรือ ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com

 

2.2 กรณีประชาชนที่ไม่มีแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com

สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป เวลา 06.00-22.00 น. จนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัครผ่าน www.คนละครึ่ง.com หรือสาขา หรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย

     

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ จากการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 79,023 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ GDP ทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้น 0.21% ต่อปี จากกรณีฐาน อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X