×

3 มุมมองให้คะแนนรัฐ ‘สอบตก’ บริหารวัคซีน แต่ยังจำเป็นต้องฉีดเพื่อตัวเอง-คนที่รัก ป้องกันการพลัดพรากอย่างเดียวดาย

15.05.2021
  • LOADING...
การบริหารวัคซีน

วันนี้ (15 พฤษภาคม) THE STANDARD จัดรายการพิเศษ VACCINE FORUM ตอบทุกคำถามวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยในช่วงแรกเป็นหัวข้อ ‘การบริหารจัดการวัคซีน สอบตกหรือได้ไปต่อ’ โดยมีผู้ร่วมพูดคุยคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, สรกล อดุลยานนท์ และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ดำเนินรายการโดย เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ และ น้าเน็ก-เกตุเสพสวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ​ อยุธยา

 

เคน นครินทร์ กล่าวก่อนเริ่มต้นช่วงแรกว่า รายการวันนี้จะไม่ใช่การโน้มน้าวว่าควรจะไปฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่สิ่งที่เราจะให้คือข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คนดูได้ตัดสินใจ โดยขอให้ติดตามทั้ง 4 ช่วง

 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องของการฉีดวัคซีนถือว่าอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 เหตุผลที่ต้องทำก็เพื่อให้ระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจไม่ล่มสลาย แต่วัคซีนก็เป็นเพียงหนึ่งในยุทธศาสตร์ย่อย ยังต้องมียุทธศาสตร์อื่นๆ ประกอบการยุติการแพร่ระบาดของโรคด้วย

 

วัคซีนช่วยใน 3 ประเด็น คือ ช่วยลดความเสี่ยงส่วนบุคคล คือหากติดเชื้อก็ไม่เป็นหนัก ไม่เสียชีวิต เพราะฉะนั้นหากฉีดวัคซีนก็ช่วยตรงนี้ได้ โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ส่วนข้อต่อมาคือการประคองระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่ม ซึ่งต้องเน้นฉีดในเขตที่มีการระบาดสูง เพื่อคุมสถานการณ์และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในบริเวณนั้นๆ และอย่างสุดท้ายคือการประคับประคองระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจ

 

“การที่จะให้คะแนนว่าสอบตกหรือไปต่อ ในช่วงแรกของการจัดหาวัคซีน ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2563 เรายังไม่รู้ว่าวัคซีนแต่ละตัวมันจะออกมาได้ผลดีแค่ไหน แต่หลังเดือนพฤศจิกายน 2563 หลายส่ิงหลายอย่างมันมีข้อมูล มันควรจะบอกให้เรารู้แล้วว่าเราต้องมีของตุนไว้ในมือแล้ว เราควรจะพยายามหาของให้ได้เยอะที่สุด เราควรจะแทงหวยหลายเบอร์อย่างที่คนชอบพูด แต่พอมีวัคซีนเยอะแล้วคำถามคือ คุณจะทำอย่างไรให้สามารถควบคุมโรคระบาดในกรุงเทพมหานคร ควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์คลองเตย และคลัสเตอร์เรือนให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้ผมยังไม่เห็นความชัดเจน” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

 

ขณะที่สรกลกล่าวว่า ถ้าเรามองสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ของวัคซีน มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้มาก่อน จึงไม่มีคำภีร์หรือตำรา ดังนั้นตนจึงให้คะแนนในส่วนนี้ ให้ค่าเพราะความไม่รู้ แต่เมื่อสถานการณ์ลงตัวมาเรื่อยๆ ตนคิดว่าการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลชุดนี้สอบตก เพราะว่าไม่ได้มีการกระจายความเสี่ยง และเป็นการคิดในมุมเดียวว่าวัคซีนจะช่วยแก้ปัญหา แต่วัคซีนมันมีมุมของโอกาส โอกาสสำหรับคนที่เข้าเส้นชัยเร็วคนนั้นชนะด้านธุรกิจ หากแต่คิดมุมเดียวในมุมของการรักษา โดยทอดเวลายาวนานเพื่อจัดหาวัคซีนที่ชัวร์ พยายามต่อรองให้ได้ราคาต่ำที่สุด

 

“ในมุมของผมก็คือว่า ถ้าเราประเมินดูแล้ว สถานการณ์ของการจัดหาวัคซีนเป็นมุมของโอกาสด้วย ที่คุณอนุทินเสนอว่าเดือนหนึ่งเสียหายเฉพาะท่องเที่ยวอย่างเดียว 2.5 แสนล้านบาท เราเห็นรายรับตรงนี้ชัวร์ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นสปีดและเร็วที่สุด การซื้อวัคซีนที่กระจายความเสี่ยงให้หลากหลาย ราคาไม่ใช่จุดตัดสินใจสูงสุด เวลาต่างหากที่เป็นจุดตัดสินใจสำคัญที่สุด” สรกลกล่าว

 

ส่วนวิโรจน์กล่าวว่า การสอบมิดเทอมนั้นรัฐบาลได้สอบตกไปแล้ว และเป็นการสอบตกที่มีคุณครูบอกแนวข้อสอบ แต่ไม่สนใจฟัง จึงต้องจับตาข้อสอบปลายภาคว่าจะสามารถแก้ตัวได้หรือไม่ ที่น่าเสียดายคือประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่พบผู้ป่วยโควิด-19 นอกประเทศจีน มีเวลาเตรียมการอีกปีกว่า

 

“เรามีเวลาเตรียมการปีกว่าๆ แต่เราทำได้แค่นี้ จะให้สอบผ่านได้อย่างไร แต่ข้อสอบชุดนี้อีกยาวไกล เพราะจนถึงขณะนี้เรายังไม่ได้เริ่มฉีดอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด” วิโรจน์กล่าว

 

ในช่วงท้าย สรกลระบุถึงความเชื่อมั่นของการรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะช่วงหลังที่มีการให้แพทย์ออกมาให้ความรู้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องของความรู้สึก คนบางคนอาจไม่ได้เชื่อรัฐบาล แต่อาจเชื่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการสื่อสารสิ่งที่ใกล้ตัวกับประชาชน อาจไม่ต้องสื่อสารถึงเศรษฐกิจระดับใหญ่ แต่เป็นการสื่อสารเรื่องใกล้ตัว เช่น ถ้าฉีดกันเยอะๆ ตลาดจะเปิดได้ หรืออย่างสั้นๆ ก็ “ถ้าสงสารคุณหมอ ฉีดเถอะ” เราไม่รู้ว่ากุญแจไหนจะถูกดอก แต่ให้ใช้เยอะๆ

 

ส่วนคำถามที่หากต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผู้ร่วมพูดคุยทั้ง 3 คนจะฉีดหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า หากตนเป็นคนที่อยู่ในสปอตไลต์ ต้องสร้างความเชื่อมั่น ก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องฉีด แต่หากตนเป็นผู้สูงอายุ อยู่ในจังหวัดไกลๆ ไม่ได้ไปไหน ก็ไม่ต้องรีบฉีดก็ได้ อย่างไรก็ตาม การกระจายการฉีดยังคงมีส่วนสำคัญ

 

ขณะที่วิโรจน์กล่าวว่า ตนได้ลงทะเบียน ‘หมอพร้อม’ ตามขั้นตอนและใช้สิทธิ์เหมือนประชาชนทั่วไป และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลควรยุติการใช้คำประเภทชาตินิยม เนื่องจากเป็นเรื่องไกลตัว และอาจเสี่ยงเป็นประเด็นในการให้ประชาชนโจมตีกันและกัน ควรเน้นประเด็นคือฉีดเพื่อตนเอง ฉีดเพื่อคนที่เรารัก และฉีดเพื่อความห่วงใย

 

“โรคโควิด-19 เป็นพลัดพรากเฉียบพลัน พอคุณเป็นแล้วคุณอาจพาไปติดคนที่เรารักก็ได้ ลูก พ่อแม่ และอาจทิ้งรอยแผลในใจก็ได้ คุณอาจรอดเพราะคุณเป็นวัยหนุ่มสาว แต่พ่อแม่ที่ติดอาจเสียชีวิต ก็เป็นรอยแผลในใจสำหรับคนที่ยังต้องอยู่ต่อไป ลมหายใจสุดท้าย คุณยังจะไปกุมมือคุณพ่อคุณแม่ของคุณไม่ได้เลย เปิดโลงก่อนฌาปนกิจ อยากจะดูหน้ากันเป็นครั้งสุดท้ายก็ยังไม่ได้เลย มันเป็นโรคที่ทำให้เราพลัดพรากจากคนที่เรารักแบบเฉียบพลัน โดยที่เรายังทำใจไม่ได้เลย” วิโรจน์กล่าว

 

ด้านสรกลยืนยันว่าตนฉีดแน่นอน โดยวิธีการคิดง่ายๆ คือ ความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนกับความเสี่ยงของการติดโควิด-19 เมื่อเทียบกันแล้วตนคิดว่าเสี่ยงกับการฉีดวัคซีนดีกว่าเสี่ยงกับการติดโควิด-19 และเห็นด้วยกับวิโรจน์ในประเด็นที่ว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคแห่งความเศร้า

 

“อย่างกรณีของน้าค่อม ที่ชัดเจนที่สุดคือว่าเมื่อถึงเวลาที่คุณป่วยโรคนี้ ถ้าคุณเสี่ยงกับการฉีด คุณจะมีหมอดูแล แต่ให้คุณแย่ที่สุดคุณยังอยู่กับคนรักได้ แต่ถ้าคุณติดโควิด-19 เหมือนคนกำลังเดินไปในป่าดงดิบ ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ออกมาหรือเปล่า และถ้าคุณไม่ได้ออก คุณจะไม่ได้เจอคนรักของคุณเลยแม้แต่วินาทีเดียว เวลาที่เราป่วยผมเชื่อว่าสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการได้อยู่ใกล้คนที่เรารัก จับมือ ให้กำลังใจกัน แต่โมเมนต์นั้นจะไม่เกิดขึ้นถ้าคุณติดโควิด-19” สรกลกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising