วันนี้ (19 พฤศจิกายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เรื่อง การกระทำ ‘3 ป.’: อุปสรรคในการพาประเทศออกจากวิกฤตการเมือง หลังรัฐสภาโหวตรับหลักการเพียง 2 จาก 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดระบุว่า ผลการลงมติของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวานนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่ผมเชื่อว่าหลายคนคงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกผิดหวัง
ผิดหวังที่สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. ไม่โหวตรับหลักการทุกร่าง เพื่อไปพิจารณารายละเอียดเนื้อหาต่อในวาระถัดไป
ผิดหวังที่สมาชิกรัฐสภาหลายท่าน เลือกที่จะเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อกล่าวหาใส่ร้ายร่างของภาคประชาชน โดยไม่รับฟังคำอธิบายของหลายฝ่าย ที่พยายามคลายข้อสงสัยและความกังวลเหล่านั้นให้เบาบางลง
ผิดหวังที่สมาชิกรัฐสภาบางท่าน ยังปักใจเชื่อว่าร่างของภาคประชาชนมี ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ ที่มีเจตนาร้ายต่อบ้านเมือง และลดทอนคุณค่าเจตนารมณ์ของประชาชน แทนที่จะพยายามเข้าใจว่าร่างนี้เป็นความต้องการของประชาชนธรรมดาที่เพียงฝันอยากอยู่ในประเทศที่เขามีอำนาจกำหนดอนาคตของตัวเอง
พริษฐ์ระบุอีกว่า สิ่งที่รัฐสภาและรัฐบาลเลือกทำเมื่อวานนี้ คือการปิดช่องทางแคบๆ ที่เราเคยมี ในการแสวงหาฉันทามติจากทุกฝ่ายอย่างสันติวิธี เพื่อสร้างหนทางสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง
ขอนิยามอุปสรรคที่ท่านได้สร้างต่อหนทางนี้ เป็นคำว่า ‘3 ป.’
- ‘ปฏิเสธ’ หลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย
การไม่โหวตรับหลักการของร่างฉบับที่ 4 ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการปฏิเสธหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตย ว่าประชาชนทุกคนควรมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง เท่ากันในการกำหนดทิศทางของประเทศ
ในเชิงคณิตศาสตร์ การเลือกที่จะคงอำนาจ ส.ว. ไว้เช่นนี้ คือการเลือกที่จะคงไว้ซึ่งระบอบที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. 1 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชนธรรมดา 1 คนถึง 2 ล้านเท่า และระบอบที่ ส.ว. 1 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชนธรรมดา 1 คน 7-8 หมื่นเท่า
การที่ ส.ว. ส่วนใหญ่ ที่ได้ผลประโยชน์จากระบอบนี้ เลือกที่จะคงอำนาจอันล้นฟ้าของตัวเองไว้ เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง
แต่สิ่งที่น่าผิดหวังกว่า คือการที่ ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาล เกือบทั้งหมด ซึ่งล้วนเป็นตัวแทนที่มาจากเสียงของประชาชน กลับเลือกที่จะไม่ยืนยันหลักประชาธิปไตยพื้นฐานข้อนี้เสียเอง
ใครที่อ้างว่าให้รอนำเรื่องนี้ไปคุยใน สสร. อาจไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจว่ากระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจใช้เวลาถึง 1-2 ปี ดังนั้นการไม่ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ตั้งแต่วันนี้ (ทั้งๆ ที่ทำได้โดยไม่ต้องผ่านประชามติ) จะทำให้ความวิปริตที่สุดอย่างหนึ่งของระบอบการเมืองไทยยังคงอยู่ และยังคงเป็นชนวนแห่งวิกฤตทางการเมืองที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
- ‘ปิดประตู’ ต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกเรื่องสถาบันฯ
การโหวตไม่รับหลักการร่างของภาคประชาชน เป็นการปัดตกร่างฉบับเดียวที่เสนอให้ สสร. มีอำนาจพิจารณาแก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ภายในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญต่อผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการเห็นการปฏิรูป และฝ่ายที่คัดค้าน
ทางออกเดียวตอนนี้จึงเป็นการหา ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เพื่อสร้างบรรยากาศการพูดคุย พิจารณา ผสมผสานทุกความเห็น และทุกข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ ให้แปรมาเป็นฉันทามติที่ทุกฝ่ายพอรับได้ และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า
รูปธรรมที่สุดของ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ นั้นคือ สสร. ที่มีอำนาจพิจารณาหมวด 1 และ หมวด 2 ได้ การล็อกไม่ให้ สสร. พิจารณา 2 หมวดนี้ เป็นการผลักให้ประชาชน 2 ฝ่ายที่กำลังมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องไปหาพื้นที่พูดคุยในเวทีชุมนุม ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงและท้าทายมากกว่าในการแสวงหาฉันทามติ หรือพูดคุยในวงเสวนา หรือวงส่วนตัวที่ไม่นำไปสู่การแลกเปลี่ยน และหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม
ใครที่อ้างว่าการเปิดให้พิจารณาหมวด 1 หมวด 2 จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ผมย้ำอีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ท่านเข้าใจผิด และขอเชิญชวนท่านลองอ่านคำอธิบายของผมในโพสต์นี้
[ #รับทุกร่างคือทางออก : หากรัฐสภาจริงใจและไม่ “ลักไก่” ทุกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้ไปต่อ ]
.
เมื่อวันก่อน…โพสต์โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2020
- ‘ปาหี่’ โมเดล สสร.
แม้สองร่างที่ผ่านการโหวตรับหลักการของรัฐสภา จะเป็นข้อเสนอให้ตั้ง สสร. ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จริง แต่เรายังคงต้องจับตาดูรายละเอียดในวาระที่ 2 และ 3 ว่าทางรัฐบาลจะมีลูกเล่นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ที่อาจทำให้กระบวนการนี้ ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นลูกเล่นในเชิงการ ‘ล็อกสเปก’ สสร. ผ่านการจัดสรรที่นั่งใน สสร. 50 จาก 200 ที่นั่ง ให้มาจากกระบวนการแต่งตั้งที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ (ตามข้อเสนอในร่างของพรรคร่วมรัฐบาล)
ไม่ว่าจะเป็นลูกเล่นในเชิงการ ‘ยื้อเวลา’ ผ่านการอ้างกระบวนการต่างๆ (เช่น การออกกฎหมายประชามติ การตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเพิ่มเติมหลายชุดที่ทับซ้อนกัน) ที่จะยืดระยะเวลาก่อนจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หรือไม่ว่าจะเป็นลูกเล่นในเชิงการ ‘ล้มกระดาน’ ผ่านแผนสำรองของรัฐบาลในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย (อย่างไม่สมเหตุสมผล) ว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้น ขัดรัฐธรรมนูญและเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้
การกระทำของรัฐบาลและรัฐสภาเมื่อวานนี้ จึงเป็นเหมือน ‘3 ป.’ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำพาประเทศออกจากวิกฤตทางการเมือง ในการแสวงหาฉันทามติใหม่ให้กับสังคม และในการสร้างหนทางกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง อย่างสันติวิธี
การเดินทางของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชาชนฉบับนี้ อาจสิ้นสุดลงแล้ว แต่การเดินทางเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังอีกยาวไกล
แม้ดูแล้วหนทางข้างหน้าจะลำบากมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะหยุดเดิน ตราบใดที่ ‘เวลา’ และ ‘ความหวัง’ ยังอยู่ข้างเรา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์