3 กองกำลังชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army), กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army: MNDAA) หรือกองกำลังโกก้าง และกองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมเมื่อวานนี้ (30 มีนาคม) เตือนไปยังกองทัพเมียนมาว่า หากยังคงเดินหน้าเข่นฆ่าประชาชน พวกเขาจะร่วมมือกับกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อสู้กลับ
กองกำลังทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งเรียกตัวเองว่าพันธมิตรสามภราดรภาพ ยังเรียกร้องให้ตะมะดอว์ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมา หยุดการยิงผู้ประท้วงอย่างสันติในทันที และเร่งเปิดการเจรจา เพื่อหาหนทางคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยเร็ว
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ของเมียนมาเปิดเผยว่า กองกำลังความมั่นคง ทั้งทหารและตำรวจได้สังหารประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงแล้วอย่างน้อย 510 คน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตจากการประท้วงเมื่อวันเสาร์ (27 มีนาคม) ที่ผ่านมา เพิ่มสูงสุดในวันเดียวถึง 141 คน
เนื้อหาแถลงการณ์ยังบรรยายถึงสถานการณ์ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารว่าตำรวจและทหารเมียนมาใช้ทั้งกระสุนปืนและระเบิดมือโจมตีใส่ผู้ประท้วง ซึ่งกองกำลังชนกลุ่มน้อยยังแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้ประท้วงที่เสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่เผยว่ามีประชาชนที่ถูกทางการจับกุมตัวไว้แล้วมากกว่า 3,000 คน ส่วนผู้บาดเจ็บไม่ระบุตัวเลขที่ชัดเจน แต่คาดว่ามีจำนวนมาก
นอกจากนี้กองกำลังชนกลุ่มน้อยยังเตือนการทบทวนข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพเมียนมาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหวั่นวิตกว่า หากกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาตัดสินใจจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพ สถานการณ์อาจบานปลายไปสู่สงครามกลางเมือง
ทั้งนี้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาเปิดฉากโจมตีทางอากาศ ถล่มเป้าหมายฐานที่มั่นกองพลที่ 5 ของสหภาพกะเหรี่ยง ในพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งถือเป็นการโจมตีครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังทางกองกำลังสหภาพกะเหรี่ยงบุกยึดฐานบัญชาการกองทัพ
ผลที่ตามมาทำให้ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากพยายายามหนีตายข้ามชายแดนมายังฝั่งไทย แต่สื่อต่างประเทศหลายสำนัก อาทิ Reuters รายงานว่า ทหารไทยได้ผลักดันกลุ่มผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่กลับไปยังฝั่งเมียนมา เนื่องจากมองว่าสถานการณ์บริเวณชายแดนยังปลอดภัย แต่ผู้ลี้ภัยหลายคนที่เผชิญกับการโจมตีทางอากาศ เปิดเผยว่ายังคงหวาดกลัวและไม่กล้ากลับไปยังหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยชี้แจงว่าไทยได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้บางส่วนและกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ภาพ: Stringer / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: