×

สามหน่วยงาน สธ. ออกโรงแจง ยืนยันใช้ Sinovac เป็นสูตรไขว้มีประสิทธิภาพ ย้ำไม่มีส่วนต่างจัดซื้อวัคซีน

โดย THE STANDARD TEAM
31.08.2021
  • LOADING...
Sinovac

วันนี้ (31 สิงหาคม) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวชี้แจงกรณีข้อสงสัยในการจัดซื้อวัคซีน Sinovac ส่วนต่าง และการเข้าร่วม COVAX

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยนำวัคซีน Sinovac มาใช้ครั้งแรกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งการนำมาใช้ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จากการศึกษาประสิทธิภาพในสถานการณ์จริงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่าช่วยลดการระบาดของโรค มีเอกสารวิชาการยืนยัน และเมื่อมีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ที่จังหวัดเชียงราย พบว่าวัคซีน Sinovac ช่วยลดการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของโรคอย่างมีนัยสำคัญประมาณ 70-80% ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่ป้องกันโควิดและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% อย่างวัคซีน Pfizer ที่ฉีดในอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางก็มีการระบาดจากเชื้อกลายพันธุ์ แต่วัคซีนทุกชนิดยังมีประสิทธิผลที่ดีในการลดป่วยหนักและเสียชีวิต

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า สายพันธุ์เดลตาทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงทุกตัว ประเทศไทยจึงมีการหาวิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดสูตรไขว้ คือ Sinovac เข็มแรก ตามด้วย AstraZeneca เข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ สร้างภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่า AstraZeneca 2 เข็ม แต่สามารถฉีดครบ 2 เข็มได้รวดเร็วกว่า ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการตรงกันทั้งนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดหาวัคซีน Sinovac เข้ามา ดังนั้น การระบุว่าการฉีดวัคซีนไขว้อันตราย โดยไม่มีข้อมูลวิชาการ และไม่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เรื่องจริง  ต้องชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะประชาชนอาจกังวลและไม่กล้ามารับวัคซีน อาจกระทบต่อระบบการควบคุมโรคได้ ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกมีการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac หลายร้อยล้านโดสเพื่อฉีดคนทั่วโลก เป็นการยืนยันว่าวัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพ

 

ด้าน นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีน Sinovac เนื่องจากทางบริษัทไม่มีตัวแทนในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ระหว่างรอวัคซีน AstraZeneca ส่วนที่ระบุว่าประเทศไทยซื้อ Sinovac ราคาแพง 17 ดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นราคาในล็อตแรก 2 ล้านโดส หากเทียบกับประเทศบราซิลและอินโดนีเซียที่มีราคาถูกกว่านั้น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นพื้นที่ในการวิจัย มีการซื้อวัคซีนเข้ามาจำนวนมากและเป็นแบบนำมาบรรจุเอง ทำให้ราคาถูกกว่าประเทศไทยที่ซื้อแบบสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเจรจาต่อรองราคาและสั่งซื้อต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดราคาลงได้ จาก 17 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 8.9 ดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยคือ 11.99 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีส่วนต่างในการจัดซื้อนั้น ยืนยันว่าไม่จริง เนื่องจากการซื้อวัคซีนนั้นทาง อภ. เป็นผู้ไปลงทุนซื้อ โดยใช้เงินของ อภ. เมื่อได้วัคซีนแล้วจึงขายให้แก่กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นผู้ดูแลกรอบวงเงินงบประมาณจัดซื้อ โดยเรียกเก็บราคารวมค่าดำเนินการและขนส่งตามความเป็นจริง จึงไม่มีการได้รับส่วนต่างจากกรอบวงเงินที่ตั้งไว้แต่อย่างใด

 

ด้าน นพ.นคร กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca มีการจองซื้อตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 กับผู้ผลิตตั้งแต่ก่อนได้ผลการทดลอง โดยมีเงื่อนไขและมีโอกาสที่จะไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับล่าช้า ซึ่งวัคซีนทุกตัวและทุกประเทศ รวมถึงโครงการ COVAX ก็เป็นการทำสัญญาในลักษณะการจองซื้อล่วงหน้าเช่นกัน ต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันระหว่างรอผลวิจัยพัฒนา จึงไม่ใช่การทำสัญญาเสียเปรียบ เนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่มีวัคซีนพร้อมให้สั่งซื้อ ส่วนการที่ไม่จองซื้อวัคซีนผ่านโครงการ COVAX เนื่องจากเราพิจารณาตามสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วคาดว่าจะส่งมอบวัคซีนล่าช้า และไทยเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจ่ายเงิน ไม่ได้รับวัคซีนฟรี

 

“ปัจจุบันมี 139 ประเทศที่เข้าร่วม COVAX มีการส่งวัคซีนไปแล้ว 224 ล้านโดส แต่จากการเจรจาโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิต ทำให้ได้รับวัคซีนจำนวนมากกว่าและแน่นอนกว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 30 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม หากโครงการ COVAX มีสถานการณ์ดีขึ้น เงื่อนไขต่างๆ เหมาะสม ก็จะพิจารณาเข้าร่วมได้ในเวลาถัดไป” นพ.นครกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising