ความกังวลต่อภาวะ Inverted Yield Curve ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้นักลงทุนบางส่วนกังวลว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังจะเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤต ในมุมของ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เชื่อว่า ในระยะสั้น 6-12 เดือน ภาวะดังกล่าวจะยังไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นกลับทิศจากขาขึ้นมาเป็นขาลงในทันที แต่มีโอกาสจะนำไปสู่ภาวะวิกฤตได้หาก Inverted Yield Curve เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน
ประธานกรรมการของ FETCO ระบุว่า ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น และการปรับฐานช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว พร้อมเชื่อว่าปีนี้จะยังได้เห็นดัชนี SET ขึ้นไปแตะระดับ 1,800 จุด แต่การจะไปถึงจุดนั้นคงต้องเห็นการเปิดประเทศได้จริง และเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการบางส่วนแล้ว อย่างเช่น การยกเลิกตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย
“การเปิดประเทศจะช่วยหนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น อย่างกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มธนาคาร ซึ่งจะหนุนให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นต่อได้”
ส่วนประเด็นความกังวลต่อภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ต้องติดตามว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องแค่ไหน จากข้อมูลในอดีตสะท้อนว่า หาก Inverted Yield Curve เกิดขึ้นต่อเนื่องประมาณ 3 เดือน จะทำให้ความน่าจะเป็นที่จะเกิดวิกฤตในตลาดหุ้นสูงขึ้น
“จากสถิติ ทุกครั้งที่เกิด Inverted Yield Curve ไม่ได้นำไปสู่ Recession แต่ทุกครั้งที่เกิด Recession จะเกิด Inverted Yield Curve ขึ้นก่อน แต่อีกสถิติที่น่าสนใจคือ การเกิด Inverted Yield Curve จะไม่ได้ทำให้ทิศทางของหุ้นในระยะสั้น 6 เดือน ถึง 1 ปี เปลี่ยนทิศ ตลาดหุ้นจะยังขึ้นต่อได้”
ทั้งนี้ หากเกิด Inverted Yield Curve ถึง 3 เดือน อาจทำให้เกิดวิกฤตหุ้นสหรัฐฯ ในอีก 1.5-2 ปี นับจากนี้ แต่ก็ไม่ได้แน่นอน 100% ว่าจะเกิดขึ้น
โดยสรุป เชื่อว่าในอีก 9 เดือน ของปีนี้ ตลาดจะยังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น แต่ตลาดพัฒนาแล้วอาจจะขึ้นได้ไม่มาก เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้นมาสูง และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพยายามทำให้เกิด Soft Landing มากกว่า
“ส่วนหุ้นไทยอยู่ในจุดที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จึงไม่แปลกใจที่เห็นเงินทุนไหลเข้ามา 1.1 แสนล้านบาท ใน 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแทบจะไม่ค่อยเกิดขึ้น หรืออาจจะมากที่สุดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา”
ไพบูลย์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าจากนี้น่าจะยังเห็นเงินทุนไหลเข้าต่อ แม้ Forward P/E ที่ระดับ 17 เท่า จะไม่ถูกนัก ซึ่งการที่ดัชนีจะไปถึง 1,800 จุด อาจต้องอาศัยการปรับประมาณการบริษัทจดทะเบียนขึ้น ซึ่งต้องลุ้นว่าภาคท่องเที่ยวจะทำได้ดีกว่าที่คิดไว้หรือไม่ และเงินเฟ้อจะลดลงแค่ไหน
แต่หากมองเฉพาะไตรมาส 2 หุ้นไทยอาจจะแค่ทรงตัว เพราะปัจจัยกดดันหลายอย่างยังไม่คลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังสูงกดดันเงินเฟ้อ ความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และการลดขนาดงบดุล
“ส่วนครึ่งปีหลังมีโอกาสจะเห็นตลาดหุ้นขึ้นได้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะหากไม่มีการระบาดของโควิดอีกระลอก และอาจจะเริ่มเห็นการปรับประมาณการกำไรขึ้นได้บ้าง รวมถึงแรงส่งจากการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้”
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากการสำรวจของ FETCO ในเดือนมีนาคม 2565 ดัชนีอยู่ที่ 117.92 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ 113.03 ยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (80-120) หากดูแยกเป็นรายกลุ่มนักลงทุน จะมีเพียงนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในเกณฑ์ Bullish ส่วนอีก 3 กลุ่มในไทยมองเป็นเกณฑ์ทรงตัว
ความกังวลหลักของนักลงทุนโดยรวมคือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ปัจจัยบวกที่สำคัญคือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงทิศทางเงินทุนไหลเข้า โดยกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนมองว่าจะโดดเด่นคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พลังงาน และอาหาร ส่วนกลุ่มที่นักลงทุนไม่ชอบนักคือ แฟชั่นและปิโตรเคมี
นอกจากนี้ FETCO ได้เผยผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆ ในเดือนมีนาคม โดยรวมมองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะลดลงมาที่ 3.09% จากผลสำรวจเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 3.71% โดยปัจจัยกดดันสำคัญมาจาก ความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด สายพันธุ์โอมิครอน, สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน, ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกชะลอลงจากเดิม
อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับการปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังหากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ในปี 2566 มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่า 4%