×

รู้จัก ‘3 มาตรการกำกับซื้อ-ขาย’ ที่จะมาคุมความผันผวนของราคาหุ้นรายตัวตั้งแต่ 2 ก.ย. นี้ เป็นต้นไป

23.08.2024
  • LOADING...

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่ม 3 มาตรการกำกับการซื้อ-ขาย ทั้ง Auction Matching, Dynamic Price Band และ Minimum Resting Time หวังลดความผันผวนของราคาหุ้นและควบคุมพฤติกรรมซื้อ-ขายหุ้นที่ไม่เหมาะสม เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 เป็นต้นไป 

 

รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมประกาศใช้ 3 มาตรการกำกับการซื้อ-ขาย เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ควบคุมพฤติกรรมการซื้อ-ขายหุ้นที่ไม่เหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ในวันที่ 2 กันยายนนี้ โดยประกอบด้วย

 

1. มาตรการกำหนดกรอบราคาซื้อ-ขายระหว่างวันแบบ Dynamic Price Band (DPB) เป็นรายหลักทรัพย์ (±10% จากราคาซื้อ-ขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น) เพิ่มเติมจาก Ceiling & Floor ในปัจจุบัน (±30% จากราคาปิดในวันทำการก่อนหน้า) เพื่อเพิ่มกลไกในการควบคุมความผันผวนของราคาซื้อ-ขายหลักทรัพย์ 

 

มาตรการ DPB มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความผันผวนของราคาซื้อ-ขายหุ้นระหว่างวัน โดยกลไกการทำงานคือ เมื่อมีคำสั่งซื้อหรือขายที่จะทำให้เกิดการจับคู่นอก DPB (Aggressive Order) ระบบซื้อ-ขายจะหยุดจับคู่หุ้นนั้น และเข้าสู่ Pre-open 2 นาที

 

ลักษณะการทำงานของ DPB ระบบจะยกเลิก Aggressive Order เฉพาะในส่วนของคำสั่งที่ทำให้ Trigger จากนั้นจะเข้าสู่ Pre-open 2 นาที โดยผู้ลงทุนสามารถส่ง, แก้ไข รวมทั้งยกเลิก Order ได้ และหากเหลือเวลาไม่ถึง 2 นาที จะเข้าสู่ Session ถัดไปทันทีโดยไม่มีการจับคู่ ซึ่งช่วงเวลาที่ใช้มาตรการจะใช้ทุกช่วงเวลาการซื้อ-ขาย ยกเว้น Pre-open และ Pre-close

 

 

หลักทรัพย์และสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าที่จะใช้ DPB Phase 1 ได้แก่ หุ้นสามัญและหน่วยทรัสต์ เช่น REIT, หน่วยลงทุนของกองทุนรวม เช่น Property Fund ที่มีราคามากกว่าหรือเท่ากับ 1 บาท ซึ่งจะไม่รวมหลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ข้างต้นเป็น Underlying เช่น DW, หลักทรัพย์ที่ซื้อ-ขายแบบหน่วยย่อย (Odd-Lot) และหลักทรัพย์ Foreign

 

ส่วน Phase 2 (น่าจะเริ่มต้นปี 2568) ได้แก่ หลักทรัพย์ที่ใช้ DPB ใน Phase 1, หลักทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์ข้างต้นเป็น Underlying เช่น DW, หลักทรัพย์ที่ซื้อ-ขายแบบหน่วยย่อย (Odd-Lot) และหลักทรัพย์ Foreign รวมถึง Single Stock Futures (ที่มีหุ้นที่หยุดการซื้อ-ขายชั่วคราวตามมาตรการ DPB เป็น Underlying) จะเข้าสู่มาตรการ DPB เช่นเดียวกับหุ้นอ้างอิง

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะยกเว้นไม่ใช้กับหลักทรัพย์ที่มีเหตุการณ์ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคาได้มากกว่าปกติ เช่น หุ้น IPO หรือหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการขยาย Ceiling & Floor ประจำวัน อาทิ หุ้นที่มีข่าว Tender Offer 

 

2. เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ที่มีการซื้อ-ขายผิดไปจากสภาพปกติจากมาตรการฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเพิ่มวิธีจับคู่ซื้อ-ขายในคราวเดียว (Auction) ตามช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด สำหรับหลักทรัพย์ที่มีการซื้อ-ขายผิดไปจากสภาพปกติ และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้เข้ามาตรการฯ ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป 

 

ทั้งนี้ การซื้อ-ขายด้วยวิธี Auction มีเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ที่มีการซื้อ-ขายผิดปกติ โดยเปิดจับคู่ซื้อ-ขายวันละ 3 รอบ คือ ช่วง Pre-open 1, Pre-open 2 และ Pre-close และมาตรการนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้หลักทรัพย์เข้ามาตรการฯ ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป

 

ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 มาตรการกำกับซื้อ-ขายจะมี 3 ระดับ ดังนี้

 

  • ระดับ 1 คือ ซื้อ-ขายเงินสด 100% และห้ามนำหุ้นมาคำนวณวงเงินซื้อ-ขาย 
  • ระดับ 2 คือ ซื้อ-ขายเงินสด 100%, ห้ามนำหุ้นมาคำนวณวงเงินซื้อ-ขาย, ห้าม Net Settlement และซื้อ-ขายด้วย Auction
  • ระดับ 3 คือ หยุดซื้อ-ขาย Pause (P) 1 วัน + มาตรการฯ ระดับ 2

 

 

ในกรณีที่หุ้น Underlying ของ Single Stock Futures (SSF) ที่ซื้อ-ขายใน TFEX เข้าสู่มาตรการกำกับการซื้อ-ขายและต้องซื้อ-ขายด้วยวิธี Auction ผู้ลงทุนจะยังสามารถซื้อ-ขาย SSF ดังกล่าวใน TFEX ตามปกติหากเป็นวันซื้อ-ขายวันสุดท้ายของ SSF ดังกล่าว TFEX จะคำนวณราคาสำหรับการส่งมอบและใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณส่วนต่างของราคา เพื่อใช้ชำระในวันซื้อ-ขายวันสุดท้าย โดยใช้ราคา Auction ครั้งสุดท้ายของหุ้นที่เป็น Underlying, TFEX อาจปรับลด Position Limit ของ SSF ดังกล่าว (ผู้ลงทุนสามารถถือ SSF เดิมต่อไปได้ แต่จะไม่สามารถเพิ่มฐานะ (Position) ให้เกินกว่าจำนวนที่ TFEX กำหนดได้

 

3. กำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อ-ขาย ก่อนที่จะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งซื้อ-ขาย (Minimum Resting Time) โดยคำสั่งซื้อ-ขายจะต้องคงอยู่ในระบบอย่างน้อย 250 มิลลิวินาที จึงจะสามารถแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งได้ เพื่อชะลอและป้องกันไม่ให้เกิดคำสั่งซื้อ-ขายในลักษณะใส่-ถอนที่มีความถี่มากจนเกินไป จนอาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดว่ามีความต้องการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในปริมาณมาก

 

ทำไมถึงต้อง 250 มิลลิวินาที หรือ 0.250 วินาที? 

 

ตัวเลขนี้มาจากการศึกษาในเชิงสถิติซึ่งพบว่า เป็นช่วงเวลาที่สามารถควบคุมการส่งคำสั่งหรือแก้ไขคำสั่งซื้อ-ขายจาก AI เทรดแบบได้ผลจริง

 

กระทบใครบ้าง และตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหวังอย่างไร?

 

ทั้ง 3 มาตรการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลดความผันผวนของราคาหุ้น และควบคุมพฤติกรรมการซื้อ-ขายที่ไม่เหมาะสมให้เกิดขึ้นน้อยลง 

 

ในมุมของผู้ลงทุนทั่วไป 3 มาตรการนี้น่าจะให้ประโยชน์มากกว่าขัดขวางการซื้อ-ขาย โดยที่เห็นได้ชัดคือราคาหุ้นจะไม่เหวี่ยงแรงและเร็วเกินไป เหตุการณ์ Panic Sell หรือขายเพราะตกใจ จะเกิดขึ้นน้อยลง 

 

“เชื่อว่า DPB จะลดโอกาสที่เกิดเหตุการณ์ราคาหุ้นชน Ceiling หรือ Floor ภายใน 5 นาที ไม่น่าจะเกิดขึ้นให้เห็นหรือเกิดขึ้นน้อยลง เพราะ DPB จะช่วยแตะเบรกให้ราคาหุ้นไม่พุ่ง ไม่ผันผวนรุนแรงและรวดเร็วเกินไป ด้วยกลไกของ DPB จะทำให้ลดการเข้ามาแล้ว Ceiling หรือ Floor ไม่ว่าจะเป็น HFT หรือนักลงทุนทั่วไป จะถูกครอบด้วยกรอบราคาเดียวกัน ส่วนหุ้น IPO ที่เข้ามาเทรดวันแรก ยังไม่เข้าเกณฑ์ใช้มาตรการ DPB เพราะมองว่าหุ้น IPO ที่เข้ามาซื้อ-ขายวันแรกยังเป็นช่องของการหาราคาที่เหมาะสมอยู่” รองรักษ์กล่าว  

 

ขณะที่มาตรการ Auction นั้นถูกคาดหวังว่าเมื่อเริ่มบังคับใช้แล้ว พฤติกรรมการซื้อ-ขายที่ไม่เหมาะสมจะลดลง 

 

“ความคิดก่อนหน้านี้ที่บอกว่าถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีมาตรการกำกับการซื้อ-ขายก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมีเงินก็ซื้อหุ้นได้เป็นความคิดที่ผิด เพราะด้วยกลไกของ Auction แม้ผู้ลงทุนจะมีเงิน แต่เมื่อหุ้นเข้ามาตรการระดับ 2 ก็ไม่สามารถซื้อได้ ตราบใดที่ไม่มีคนที่เห็นตรงกันคือ คุณต้องการซื้อและเขาต้องการขาย แล้วสามารถแมตช์กันได้ 

 

ส่วนมาตรการ Minimum Resting Time นั้น คาดว่าจะช่วยป้องกันคำสั่งซื้อ-ขายที่ไม่เหมาะสมจากโปรแกรมเทรดหรือโรบอตเทรดได้อย่างมีนัยสำคัญ และไม่กระทบต่อการซื้อ-ขายของนักลงทุนบุคคลทั่วไป

 

Uptick Rule Short Sell 66% 

 

รองรักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกณฑ์ Uptick หลังประกาศใช้ไปแล้วพบว่าสามารถช่วยลดการ Short Sell ที่ไม่ต้องการได้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา มูลค่าการ Short Sell ลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาสู่ระดับ 1,800 ล้านบาทต่อวัน จาก 5,200 ล้านบาทต่อวันในช่วงครึ่งแรกปี 2567 หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลง 66%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising