×

แบงก์ชาติเคาะ 3 มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ออกหลักเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อ Responsible Lending

18.01.2024
  • LOADING...
ธปท. เคาะมาตรการ

ธปท. เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน คุมแบงก์ปล่อยสินเชื่อตามเกณฑ์ Responsible Lending  เผยหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 90.9% ลดลงตามเศรษฐกิจฟื้น แนะลูกหนี้เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น ชำระคืนไหว เข้าใจเงื่อนไขการกู้เงิน

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 3/66 ของไทยอยู่ที่ 90.9% ลดลงจากปี 2565 อยู่ในระดับ 91.4% โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนทยอยลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่สินเชื่อขยายตัวชะลอลง 

 

อย่างไรก็ตาม การแก้หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อาจไม่เพียงพอให้ระดับหนี้ครัวเรือนลดลงต่ำกว่าที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 80% 

 

ธปท. จึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตั้งแต่การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้วงกว้างแบบปูพรมในช่วงโควิด แล้วปรับเป็นมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุดหลังสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น โดยยึดหลักการทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ และในไตรมาส 3/66 ธปท. ได้ออกแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนที่บางส่วนมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นปี เพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือนผ่านทั้งมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีอยู่เดิมและมีมาตรการเพิ่มเติม 

 

 

โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ Responsible Lending ซึ่งยกระดับจากการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้เป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืนขึ้น 

 

สรุปสาระสำคัญ 3 มาตรการ ดังนี้

 

ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

 

ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs (ที่ไม่เคยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อน) เมื่อเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ จะได้รับการเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ โดยผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการช่วยเหลือ (Product Program) 

 

สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง และสำหรับลูกหนี้ NPL อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะไม่ถูกโอนขายหนี้ก่อน 60 วัน นับจากวันที่ผู้ให้บริการเสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้

 

ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 120 วัน สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ โดยได้รับการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ผ่อนเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเพียง 3-5% ต่อปี และยกดอกเบี้ยค้างเดิมให้เมื่อชำระครบตามสัญญา (เฉพาะเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ)

 

และยังมีช่องทางเสริมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ได้แก่ ทางด่วนแก้หนี้ สำหรับประชาชนขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน ที่ให้คำปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs

 

ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้

 

ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็น NPL และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น โดยจะได้รับการแจ้งเพื่อกระตุกพฤติกรรมและร่วมแก้ปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้โดยเร็ว

 

สำหรับลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมใน 5 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท 

 

สำหรับนอนแบงก์สามารถเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (Installment Loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี

 

คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น

 

ลูกหนี้ได้รับการดูแลให้การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นธรรมมากขึ้น ตลอดจนได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้อง ครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงิน

 

โดยไม่ถูกคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (Prepayment Fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ยกเว้นกรณีรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรก เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำ

 

ไม่ถูกคิดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

 

ไม่ถูกคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ารายย่อย รวมกรณีบัญชีเดินสะพัดของสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (Overdraft) (เริ่ม 1 กรกฎาคม 2567)

 

นอกจากนี้ ลูกหนี้ได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้อง ครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงินผ่านการให้ข้อมูลของผู้ให้บริการเพื่อกระตุกพฤติกรรมตลอดวงจรหนี้ เช่น การมีคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” และอัตราดอกเบี้ยต่อปีต่ำสุด-สูงสุดในสื่อโฆษณา 

 

โดยการแจ้งเตือนเมื่อจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (เริ่ม 1 กรกฎาคม 2567) การแจ้งข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือกในการแก้หนี้ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันและรู้วิธีแก้ไขปัญหาเมื่อต้องประสบภัยทางการเงิน

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้หนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ลูกหนี้จำเป็นต้องปรับตัวและสร้างวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้น (Responsible Borrowing) เช่น รู้สิทธิและเงื่อนไขสำคัญของสินเชื่อก่อนกู้ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ชำระหนี้ตรงเวลา และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ให้รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้

 

โดยจะตรวจสอบผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง (Ongoing Supervision) เช่น ผลักดันและติดตามให้ผู้ให้บริการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด หรือตรวจสอบเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินเชื่อรายย่อยของผู้ให้บริการบางแห่งที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 

 

ทั้งนี้ปีนี้ ธปท. จะตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Responsible Lending อย่างใกล้ชิด เช่น การโฆษณาให้ข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง การให้สินเชื่อที่ลูกหนี้จ่ายไหว เพื่อกำกับดูแลให้เจ้าหนี้รับผิดชอบต่อลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X