×

ถนนทุกสายมุ่งสู่ดาวอังคาร เปิดภารกิจยานอวกาศ 3 ลำ จาก 3 ประเทศ สู่ดาวสีแดงภายในเดือนกรกฎาคม

โดย Mr.Vop
17.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ในครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมปีนี้ มียานอวกาศ 3 ลำ จาก 3 ประเทศ ที่จะเดินทางสู่ดาวอังคาร เพราะหากพ้นเดือนนี้ไป จะต้องรอถึงกันยายน ปี 2022 จึงจะมีโอกาสเหมาะที่จะเดินทางไปดาวอังคารอีกครั้ง
  • ดาวอังคารเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ประเทศต่างๆ ที่คิดว่าตนมีศักยภาพเพียงพอต่างมุ่งจะเดินทางไปสำรวจตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งในเวลานั้นก็มีเพียง 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกากับโซเวียต ที่ต่างทุ่มงบประมาณ​ขับเคี่ยวกันอย่างไม่อั้น ก่อนจะกลายเป็นความท้าทายของหลายประเทศที่ต้องการนำธงชาติของตัวเองไปโบกสะบัดบนดาวสีแดงสักครั้งให้สำเร็จ
  • ยาน 3 ลำ จาก 3 ประเทศ ที่เตรียมมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารในครึ่งเดือนหลังกรกฎาคมนี้ ประกอบด้วย ยานโคจรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีชื่อเรียกว่า Hope (مسبار الأمل‎ หรือ Al Amal) ในชื่อภารกิจว่า Emirates Mars Mission, ยาน Tianwen (天問) ที่มีความหมายถึงคำถามต่อสรวงสวรรค์ ของจีน และยาน Perseverance​ ของสหรัฐฯ ที่จะปล่อยเฮลิคอปเตอร์ขนาดจิ๋ว​ออกมาบินในบรรยากาศ​อันเบาบางของดาวอังคาร​ด้วย

ระยะห่างระหว่างดาวอังคารกับโลกของเราจะมาถึงจุดเหมาะสมในการส่งยานอวกาศเดินทางไปในทุก 26 เดือน ตามเส้นโค้งของวงโคจร Hohmann ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด เพื่อให้ถึงจุดหมายได้เร็วและประหยัดพลังงาน 

 

และในครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมปีนี้ ก็มียานอวกาศ 3 ลำ จาก 3 ประเทศ ที่จะคว้าโอกาสนี้ร่วมกัน เพราะหากพ้นเดือนนี้ไป ก็หมายความว่าจะต้องรอถึงกันยายน ปี 2022 จึงจะมีโอกาสเหมาะที่จะเดินทางไปดาวอังคารอีกครั้ง

 

ดาวอังคารเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ประเทศต่างๆ ที่คิดว่าตนมีศักยภาพเพียงพอต่างมุ่งจะเดินทางไปสำรวจตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งในเวลานั้นก็มีเพียง 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกากับโซเวียต ที่ต่างทุ่มงบประมาณ​ขับเคี่ยวกันอย่างไม่อั้น 

 

การขับเคี่ยวสู่ดาวสีแดง ภารกิจไม่สิ้นสุดของนานาประเทศ

การแข่งขันเดินทางไปดาวอังคารเริ่มขึ้นโดยสหภาพโซเวียดในปี 1960 ตามมาด้วยสหรัฐฯ ในปี 1964 และก็เป็นสหรัฐอเมริกาที่สามารถส่งยาน ‘บินผ่าน’ ดาวอังคารได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปี 1965 นั่นคือยาน ‘มารีเนอร์ 4’ หลังจากนั้นทางโซเวียตก็แซงหน้าด้วยการทำสิ่งที่ยากกว่าการบินผ่านของสหรัฐฯ นั่นคือการส่งยาน ‘มาร์ส 2’ ไป ‘เข้าวงโคจร’ ของดาวอังคารในเดือนพฤศจิกายน ปี 1971 

 

เพียงเดือนเดียวต่อมา ในเดือนธันวาคม ปี 1971 โซเวียตก็กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถส่งยานไปทำขั้นตอนที่ยากที่สุดในการสำรวจดาวเคราะห์ นั่นคือ ‘ลงจอด’ บนดาวอังคาร โซเวียตทำสำเร็จด้วยยานแลนเดอร์ ‘มาร์ส 3’ (คาดว่ายานเกิดความเสียหาย​เนื่องจาก​ขาดการติดต่อไปหลังลงจอดไม่ถึงนาที) 

 

ทางด้านสหรัฐอเมริกานั้นต้องรอถึงเดือนกรกฎาคม ปี 1976 คืออีกเกือบ 5 ปี จึงสามารถลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จด้วยยาน ‘ไวกิ้ง 1’ ในครั้งนี้สหรัฐฯ แม้จะถือว่าได้ลงจอดหลังโซเวียตหลายปี แต่ก็เป็นการลงจอดที่สมบูรณ์แบบชนิดยานไม่เสียหาย สหรัฐ​ฯ จึงได้ชื่อ​ว่าเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์​ รวมทั้ง​ภาพถ่ายทิวทัศน์บนพื้นผิวดาวอังคารกลับมาที่โลกได้สำเร็จ 

 

หมดยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตล่มสลายกลายเป็นรัสเซีย โลกก้าวเข้าสู่ยุคที่จำเป็น​ต้องประหยัดงบประมาณ​ในการสำรวจอวกาศ​ การเดินทางไปเยือนดาวอังคารเว้นว่างไปถึง 13 ปี จนเข้าสู่ปลายทศวรรษ 80 การส่งยานเดินทางไปสำรวจดาวอังคารก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้รัสเซียกลับมาด้วยการพยายามส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์โฟบอสของดาวอังคาร แต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนทางสหรัฐฯ ก็พยายามหาทางไปสำรวจดาวเคราะห์แดงวิธี​ที่มากไปกว่าแค่การส่งยานแลนเดอร์ไปลงจอดเฉยๆ 

 

และในที่สุดค่ายอเมริกันก็สามารถเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการส่งยานโรเวอร์คือ Sojourner ไปวิ่งบนผิวดาวอังคาร (ปล่อยออกมาจากยานแลนเดอร์  Mars Pathfinder หลังลงจอด) ได้สำเร็จ​ ถือเป็นยานติดล้อลำแรกของโลกที่ไปวิ่งบนพื้นผิวดาวเคราะห์อื่น

 

ปล่อยให้ 2 มหาอำนาจทางอวกาศครองเส้นทางสู่ดาวอังคารอยู่หลายปี ในที่สุดก็มีประเทศที่ 3 ที่พยายามไปสำรวจดาวอังคารกับเขาด้วย นั่นคือประเทศญี่ปุ่น ด้วยการพยายามส่งยานไปเข้าสู่​วงโคจรรอบดาวอังคารในปี 1998 แต่ภารกิจครั้งนั้นก็ประสบความล้มเหลว ยาน Nozomi ของญี่ปุ่นประสบปัญหาเชื้อเพลิงหมดก่อนจะเดินทางไปถึงเป้าหมาย องค์การอวกาศของญี่ปุ่นก็ไม่หวนกลับสู่การแข่งขันนี้อีกเลยนับแต่นั้น

 

ประเทศต่อมาที่เข้าสู่การแข่งขันในการเดินทางสู่ดาวอังคารก็คือ สหภาพยุโรป (ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ) โดยได้ส่งยาน ‘มาร์ส เอ็กซเพลส’ เดินทางไปเข้าวงโคจรสำเร็จในปี 2004 ยานลำนี้ทุกวันนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่ยานแลนเดอร์ที่ส่งไปในภารกิจเดียวกันกลับล้มเหลว ไม่สามารถลงจอดบนผิวดาวอังคารได้ดังที่ตั้งความหวังเอาไว้ 

 

ประเทศที่ 5 ก็คือจีน โดยตั้งใจจะส่งยาน ‘Yinghuo (萤火)’ ในความหมายของ ‘หิ่งห้อย’ ไปเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์แดงร่วมกับยานโฟบอส-กรันท์ (Фобос-Грунт) ซึ่งเป็นภารกิจเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์โฟบอสของรัสเซีย จรวดออกเดินทางจากฐานปล่อยของศูนย์อวกาศไบโคนูร์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2011 แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ทั้งยานของจีนและรัสเซียเดินทางไปไม่พ้นวงโคจรโลกด้วยซ้ำ 

 

ในปีต่อมาคือปี 2012 สหรัฐอเมริกาซึ่งเวลานี้เป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่สามารถส่งยานโรเวอร์ไปวิ่งบนผิวดาวอังคาร ก็ได้ตอกย้ำความก้าวหน้าเหนือประเทศอื่นใดด้วยการส่งหุ่นยนต์โรเวอร์พลังนิวเคลียร์ ‘คิวริออซิตี้ (Curiosity)’ ขนาดเท่ารถเก๋งมีล้อหกล้อ พร้อมระบบ AI ห้องแล็บขนาดจิ๋ว​และแขนกล ไปวิ่งสำรวจผิวดาวอังคาร ซึ่งในนาทีนี้ยานลำนี้ก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ และได้กลายเป็นต้นแบบสำคัญของยานรุ่นน้องในเวลาต่อมา

 

ประเทศ​ที่ 6 ที่ไปสำรวจดาวอังคารก็คือ อินเดีย ซึ่งได้ส่ง ‘มังคลายาน’ เข้าสู่วงโคจรสำเร็จในเดือนกันยายน ปี 2014 ผลงานครั้งนั้นทำให้อินเดียมีชื่อเสียงมาก เนื่องจากเป็นการส่งยานไปดาวอังคารครั้งแรกของประเทศแล้วก็ประสบความสำเร็จในทันที ซึ่งหากเทียบกับประเทศที่มีชื่อเสียงด้านนี้มายาวนานอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ก็ยังทำไม่ได้ในครั้งแรก

 

เปิด 3 ภารกิจสู่ดาวอังคาร โอกาสทองในเดือนกรกฎาคม

และก็มาถึงเดือนนี้ เดือนกรกฎาคม​ ปี 2020 เดือนที่เหมาะสม​ในการเดินทาง​สู่​ดาว​อังคาร​อีกครั้ง​ ​อันที่จริง​แล้วในตอนแรกจะมีถึง 4 ประเทศที่มีกำหนดการส่งยานอวกาศออกจากโลกในเดือน​นี้ แต่โครงการ Exomars ของยุโรปมีอันต้องเลื่อนไป เนื่องจากความไม่พร้อมในการทดสอบยานจากการระบาดของโรคโควิด-19 สุดท้ายจึงเหลือเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ยังอยู่ในเกม

 

 

และผู้แข่งหน้าใหม่​ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็​ได้ประกาศตัวเป็นประเทศที่ 7 ที่พร้อมจะเข้า​สู่เส้นทางพิชิตดาวอังคาร​ โดยยานโคจรที่มีชื่อเรียกว่า ‘Hope (مسبار الأمل‎ หรือ Al Amal)’ ในชื่อภารกิจว่า Emirates Mars Mission ยานมีกำหนดออกจากโลกในช่วงวันที่ 20-22 กรกฎาคม ตามเวลา​ประเทศไทย เมื่อสภาพอากาศอำนวย ด้วยจรวด H-IIA จากฐานปล่อยโยชิโนบุในศูนย์อวกาศทาเนกาจิมะทางใต้ของญี่ปุ่น และจะเดินทางไปถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งก็จะทันเวลาการฉลอง​ครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พอดี

 

สามารถติดตามความคืบหน้าได้จากเว็บไซต์นี้ https://www.thenational.ae/uae/science/uae-mars-mission-here-s-what-launch-day-will-look-like-1.1043174

 

แน่นอนว่าจีนไม่อาจอยู่เฉยที่จะตามหลังสหรัฐฯ และรัสเซีย หรือแม้แต่อินเดียอีกต่อไป และหากยาน Hope ของทางสหรัฐ​อาหรับเอมิเรตส์​เข้าสู่วงโคจรดาวอังคารสำเร็จอีกลำ ประเทศจีนคงถูกทิ้งห่างไปอีกไกล ทางองค์การอวกาศ CNSA ของจีน ซึ่งได้แอบซุ่มพัฒนายานอวกาศของตนเองอยู่หลายปี ก็ได้ประกาศในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ​ในเดือนกรกฎาคมนี้จีนพร้อมจะส่งยาน ‘Tianwen (天問)’ ที่มีความหมายถึงคำถามต่อสรวงสวรรค์ บทกวีอันโด่งดังของ ชวีหยวน ขุนนางผู้ภักดีแห่งรัฐฉู่ในยุคจ้านกว๋อ เดินทางไปดาวอังคารชนิดเต็มรูปแบบ นั่นคือไม่เพียงแค่การนำยานเข้าสู่วงโคจรเท่านั้น​ แต่จะมีการส่งยานแลนเดอร์ไปลงจอด และหากลงจอดสำเร็จ​ ก็จะมีการปล่อยยานโรเวอร์ 6 ล้อขนาดเล็ก ออกมาวิ่งบนผิวดาวอังคาร​ด้วย เรียกว่าถ้าทำสำเร็จครบถ้วนทุกขั้นตอน ประเทศจีนก็จะแซงหน้าทุกประเทศก่อนหน้านี้​ไปเคียงข้างสหรัฐฯ ทันที ในฐานะประเทศที่ 2 ของโลกที่สามารถส่งยานโรเวอร์ไปวิ่งบนผิวดาวอังคารได้

 

จากที่เคยต้องอาศัยเทคโนโลยีทางอวกาศของรัสเซีย มาครั้งนี้จีนจะยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ยาน Tianwen จะออกจากโลกด้วยจรวดพลังขับดันสูง Long March 5 ที่ทางจีนพัฒนา​ขึ้น จากฐานปล่อยในศูนย์อวกาศเหวินฉาง บนเกาะไห่หนาน (เกาะไหหลำ) ทางใต้ของจีนใกล้เวียดนาม ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง​ระหว่าง​วันที่ 20-25 กรกฎาคม​ แล้วแต่สภาพอากาศ​อำนวย

 

มาถึงประเทศสุดท้ายที่จะคว้าโอกาสสำคัญในเดือน​แห่งการเดินทางไปสู่ดาวอังคารนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือเจ้าเก่าพี่เบิ้มแห่งวงการ สหรัฐอเมริกา​นั่นเอง รอบนี้จะเป็นการส่งหุ่นยนต์​โรเวอร์พลังนิวเคลียร์​ Perseverance  ขึ้นไปวิ่งเก็บตัวอย่างดินหินบนดาวเคราะห์​แดงอีกรอบ เพื่อค้นหาร่องรอยของจุลชีพโบราณ โรเวอร์​ขนาดเท่ารถเก๋งนี้เป็นรุ่นที่พัฒนาต่อยอดมาจากคิวริออซิตี้ที่เคยประสบความสําเร็จ​ไปแล้ว 

 

และรอบนี้สหรัฐ​ฯ จะทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน คือหลังการลงแตะพื้นแล้ว ยาน Perseverance​ จะปล่อยเฮลิคอปเตอร์ขนาดจิ๋ว​ออกมาบินในบรรยากาศ​อันเบาบางของดาวอังคาร​ด้วย ซึ่งหากทำสำเร็จ​ สหรัฐ​ฯ จะกลายเป็น​ประเทศ​แรกของโล​กที่​สามารถ​ส่งยานบินที่พยุงตัวด้วยอากาศไปบินบนดาวเคราะห์​อื่น ไม่ต่างจากวันแรกที่พี่น้องตระกูล​ไรท์พาเครื่อง​บินบินขึ้นฟ้า

 

ยาน Perseverance​​ มีกำหนดออกจากโลกวันที่ 30 กรกฎาคม ด้วยจรวด Atlas V-541 ของ ULA จากฐานปล่อยจรวดในแหลมคานาเวอรัล รัฐ​ฟลอริดา​ สหรัฐ​ฯ มีกำหนดเดินทางถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์​ปีหน้าเช่นเดียวกับยานของสหรัฐ​อาหรับ​เอ​มิเรตส์​และจีน

 

ซึ่งก็ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่ายานทั้ง 3 ลำ จาก 3 ประเทศ จะสำเร็จลุล่วงทุกภารกิจตามที่ตั้งความหวังเอาไว้หรือไม่ ในเดือนสำคัญแห่งการส่งยานไปเยือนดาวอังคารนี้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI

ในกรณีที่มีการเลื่อนส่งยานจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม ช่วงเวลาสุดท้ายที่เป็นไปได้ต้องไปเกิน 15 สิงหาคม เนื่องจากยานจะเริ่มเปลืองเชื้อเพลิงที่จากระยะทางของโลกและดาวอังคารที่แยกห่างออกไปเรื่อยๆ ซึ่งหากเชื้อเพลิงเหลือไม่มากพอ ยานจะไม่อาจถึงเป้าหมาย หรือหากไปถึง ก็ไม่สามารถเข้าวงโคจรของดาวอังคารได้ เนื่องจากต้องใช้เชื้อเพลิงอีกส่วนในการติดเครื่องยนต์ชะลอความเร็ว จนแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารสามารถจับยานไว้ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising