วันนี้ (29 ธันวาคม) อรรถกร ศิริลัทธยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ในการเข้าร่วมบริหารงานของพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส. แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าร่วมบริหารงานภายใต้รัฐบาลครบ 3 เดือน มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ ที่ล้วนมุ่งเน้นยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกมิติ ให้อยู่ดีกินดี โดยเฉพาะการสานต่อนโยบายเรื่องที่ทำกิน การยกระดับราคาสินค้าเกษตร การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงการยกระดับสุขอนามัยขั้นพื้นฐานให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง
พรรคพลังประชารัฐได้เข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานผ่านกระทรวงหลักทั้ง 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันนโยบายตามที่พรรคพลังประชารัฐได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในมาตรการสำคัญๆ เช่น การเดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้ลดลง ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการนำเสนอ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีสาระสำคัญกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้สามารถลดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา และนำเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภาต่อไป
ขณะเดียวกัน มีการทำงานในด้านการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา ร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องดำเนินมาตรการลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ทั้งยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการควบคุมการเผาป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของภาคการเกษตร และการจัดการพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างมาตรการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทย
นอกจากนี้ ยังมีแผนรับมือกับปัญหาภัยแล้งขับเคลื่อนผ่านกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน มีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างเหมาะสม แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่วิกฤต
พร้อมมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 47 โครงการ 48 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่วิกฤตภัยแล้งรุนแรงได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันนโยบายสำคัญ การสานต่อนโยบายเปลี่ยนพื้นที่เอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ทำให้ประชาชนมีหลักประกันในการประกอบอาชีพที่มั่นคง ได้เริ่มดำเนินการเปิดให้เกษตรกรใช้สิทธิยื่นลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ขณะนี้มีเกษตรกรยื่นเจตจำนงเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันมีเกษตรกรถือครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 1.6 ล้านราย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพรรคที่ต้องการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสิทธิและแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงผลักดันการช่วยเหลือเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2566/67 เพื่อสนับสนุนค่าบริหารจัดการและคุณภาพผลผลิต โดยให้เงินอุดหนุน 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ซึ่งมีเกษตรกรกว่า 4.68 ล้านครัวเรือนที่ได้รับการเยียวยา ในมาตรการดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน เข้าไปตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ โดยเป็นห้องเย็นด้านปศุสัตว์ 2,437 แห่ง ด้านประมง 2,062 แห่ง มีการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมปราบปรามยางพาราผิดกฎหมาย โดยเฉพาะที่ผ่านมามีการจับกุมผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
พร้อมป้องปรามการกระทำผิดในอนาคต โดยจะขยายผลให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรอื่นๆ ทั้งพืชและประมงเพิ่มเติมด้วย เพื่อเป็นการแก้ปัญหากลไกตลาดทั้งระบบอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก มีรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอีกด้วย
การดำเนินงานด้านสาธารณสุข ได้ผลักดันด้านการส่งเสริมสุขภาพ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขระดับชุมชนทั่วประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการในเมือง เพื่อลดความแออัดในการรักษาของโรงพยาบาลภาครัฐได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานของ รพ.สต. ทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่
ทั้งนี้ หากเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาได้ที่ รพ.สต. ใกล้บ้านทุกแห่ง มีเทคโนโลยีช่วยเชื่อมต่อการรักษาจาก รพ.สต. ถึงโรงพยาบาลใหญ่ให้มีบทบาทมากขึ้น ทั้งการคัดกรองโรคและส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก พร้อมจัดสรรงบประมาณลงสู่ชุมชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพอย่างครบวงจร พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับบุตรหลาน อสม. หรือเด็กในชุมชนให้ได้เรียนแพทย์ เรียนพยาบาล เพื่อกลับมาดูแลพ่อแม่พี่น้องในบ้านเกิดตามมาตรการเชิงรุกป้องกันก่อนป่วย และขยายหมอชุมชนหรือ อสม. ให้เพียงพอกับประชาชนในพื้นที่
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้จะได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล แต่การทำให้ผู้สูงอายุยืนอยู่ในสังคมปัจจุบันอย่างภาคภูมิใจ เป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยพรรคได้ผลักดันให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง มีอายุยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้ สามารถรับบริการด้านสาธารณสุขถึงที่บ้านได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมทั้งวาระแห่งชาติส่งเสริมสตรีมีบุตร เพื่อเพิ่มประชากรให้ทันต่อการพัฒนาประเทศ
ส่วนการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติ ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผ่านกลไกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้ง 39 คนของพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยความมุ่งมั่นทำหน้าที่แทนประชาชนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ สส. ของพรรคได้ร่วมเสนอกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภา รวมถึงการทำหน้าที่กรรมาธิการในคณะต่างๆ เพื่อนำปัญหาของประชาชนในพื้นที่เข้าสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยพรรคพลังประชารัฐทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะ เน้นใช้ข้อมูลและสติปัญญามากกว่าวาทกรรม