×

‘3 องค์กรใหญ่’ ชี้หลังโควิดจบ ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจ แนะดึงเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับ Business Model ให้ทันผู้บริโภค

25.08.2021
  • LOADING...
องค์กรเอกชน

3 องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, ปูนซิเมนต์ไทย และเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘การปรับตัวของธุรกิจไทยเพื่อก้าวข้ามวิกฤต’ ในงาน Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์ โดย 3 ผู้นำองค์กรมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้ไปได้ สิ่งที่ต้องทำคือการปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของลูกค้า และต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ส่วนความแมสอาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะ 

 

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL กล่าวว่า โลกหลังโควิดนั้น ไทยจะเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าการเดินทางทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นโดยเร็ว อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมา ไทยจึงควรหันไปยังการท่องเที่ยวที่มูลค่าเพิ่มแทน  

 

นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าโลก การเร่งสร้างความร่วมมือระบบการเงินระดับภูมิภาค โดยเฉพาะระบบการชำระเงินจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้เอเชีย ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวจะเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ทั่วภูมิภาค ทั้งหมดนี้จะเอื้อประโยชน์หากจีนจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกต่อไป 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องปฏิรูปตัวเองและเน้นไปที่อุตสาหกรรม S-Curve เช่น ธุรกิจสุขภาพเวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด โซลาร์เซลล์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ และท่าเรือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย และเดินหน้าโครงการ EEC เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องเร่งสร้างงานให้ประชาชนที่สูญเสียรายได้ และสนับสนุนให้เกิดธุรกิจท้องถิ่น

 

สำหรับสถานการณ์โควิดที่เผชิญมาเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนทั้งลูกค้าและภาคธนาคาร เช่น การปิดสาขาและปรับรูปแบบทำงาน WFH อย่างไรก็ตาม โควิดได้เปิดโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่จนถึงผู้ค้ารายย่อยสามารถใช้ช่องทางออนไลน์ ตลอดจนการเข้าถึงลูกค้าต่างชาติด้วยการชำระเงินออนไลน์ เช่น Alipay, WeChat Pay นับเป็นการเร่งปรับตัวให้พร้อม ทางด้านพนักงานเองก็ปรับตัวให้ทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ตอบสนองลูกค้าได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน    

 

สำหรับภาคธนาคาร รวมทั้ง BBL ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ ทำอย่างไรที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ธนาคารกรุงเทพมุ่งเน้นเติมสภาพคล่องให้ลูกค้าเพื่อให้ยังคงการจ้างงานต่อไป รวมทั้งมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ให้ลูกค้าเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้โครงการ Soft Loan จากธนาคารแห่งประเทศไทย และมาตรการเศรษฐกิจต่างๆ จากกระทรวงการคลัง รวมทั้งการสนับสนุนของบริษัทขนาดใหญ่รักษาซัพพลายเชนให้คงอยู่นั้นมีส่วนช่วยภาคธุรกิจได้อย่างมาก 

 

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ชัดว่าหลังจากนี้เราจะได้พบกับโลกหลังโควิด หรือจะต้องอยู่กับโควิดต่อไป แต่ชัดเจนว่าโควิดได้ส่งผลให้เกิดการรีเซ็ตเศรษฐกิจและธุรกิจ ที่ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณค่า สุขภาพ ประสบการณ์ และความยั่งยืน สำหรับธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องปรับสูตรการดำเนินธุรกิจใหม่ ตั้งแต่การปรับองค์กรให้อยู่รอดด้วยความฉลาด การปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ เน้นความแตกต่าง การทำงานคิดใหม่ทำใหม่ ล้มเร็วลุกเร็ว มุ่งการทำงานเป็นทีมไม่ใช่ One Man Show  

 

ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา CRC ต้องรับมือ 2 ด้าน คือการอยู่รอดซึ่งจะต้องปรับตัวเร็วและมีความยืดหยุ่น ขณะที่ยังต้องชนะ ความคิดที่แตกต่างและสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจคงอยู่ได้ 

 

“วิกฤตโควิดยังทำให้ช่องว่างระหว่างผู้นำกับผู้ตามแคบลง รวมทั้งยังให้บทเรียนว่าเราไม่สามารถอยู่รอดได้คนเดียว แต่ทั้งซัพพลายเชนต้องรอดไปด้วยกัน ตั้งแต่ซัพพลายเออร์ ลูกค้า พนักงาน” ญนน์กล่าว 

 

ด้าน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป นำสู่การปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้เข้ากับการ WFH เช่น การให้บริการรีโนเวตปรับปรุงตกแต่งบ้าน นอกจากนี้ พฤติกรรมลูกค้ายังเร่งให้พันธมิตรธุรกิจในซัพพลายเชนได้ปรับตัวสู่วัฒนธรรมอีคอมเมิร์ซเร็วขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง 

 

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด กลุ่ม SCG เห็นว่าการเข้าใจต่อสถานการณ์โควิดอย่างถูกต้องมีความจำเป็นเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง จึงได้ปรับให้มีประชุมจากรายเดือนเป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้ SCG ยังได้ปรับแผนการทำงานของพนักงานทั้ง WFH และในโรงงาน เพื่อไม่ให้ซัพพลายเชนสะดุด และลดผลกระทบน้อยที่สุดหากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 

 

ทั้งนี้ 3 ธุรกิจของกลุ่ม SCG ได้รับผลกระทบจากโควิดที่แตกต่างกัน ได้แก่ ธุรกิจเคมีคัล มีสัดส่วน 50% ของธุรกิจทั้งหมด ผลกระทบขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก ธุรกิจปูนซีเมนต์ มีสัดส่วน 30% ทิศทางธุรกิจขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ และนโยบายรัฐบาล ส่วนธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง 20% ผลกระทบขึ้นกับเศรษฐกิจภูมิภาค

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising