×

สรุป 3 ประเด็นเด็ด อ่านปุ๊บ เข้าใจภาษีคริปโตเคอร์เรนซีปั๊บ

25.02.2022
  • LOADING...
ภาษีคริปโต

จากช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักลงทุนในประเทศไทยได้เริ่มลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหลายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำกำไรได้จากสินทรัพย์ประเภทนี้อย่างมหาศาล เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 กรมสรรพากรจึงได้ออกแนวปฏิบัติเพื่ออธิบายวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือเรียกง่ายๆ ว่า เหรียญคริปโตเคอร์เรนซี (เหรียญคริปโต) ซึ่งผมได้สรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 3 ประเภทสำคัญให้นักลงทุนได้เข้าใจง่ายๆ ได้แก่ กำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี ผลตอบแทนที่ได้จากการฝาก การได้รับรางวัลหรือผลตอบแทนเป็นเหรียญคริปโตแทนที่จะได้เป็นเงินบาท และการขุดเหรียญคริปโต ขอชวนทุกท่านอ่านตัวอย่างและข้อมูลสรุปเพื่อความเข้าใจได้มากขึ้น ดังนี้

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

1. กำไรขาดทุนจากการขาย และผลประโยชน์จากการถือครอง

 

คงเป็นเรื่องปกติที่เวลานักลงทุนลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี หรือลงทุนใน Digital Asset ต่างๆ แล้ว จะหวังผลกำไรจากการซื้อถูกขายแพง การถือครองให้ราคาเหรียญคริปโตพวกนี้มีราคาเติบโตขึ้น จะทำให้ผู้ถือครองเหรียญคริปโตสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินบาท หรือเปลี่ยนเป็นเหรียญคริปโตประเภทอื่น หรือนำไปซื้อสินค้าและบริการได้ปริมาณมากขึ้น ล้วนแต่เป็นผลกำไรจากการถือครองและจำหน่ายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีทั้งสิ้น 


ดังนั้นเวลาเสียภาษีจากเงินได้กลุ่มนี้ เมื่อมีกำไรกฎหมายถือกำไรเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งเวลาคำนวณภาษีเราต้องนำไปรวมยื่นแบบเองตามระบบ Self-Declaration ของประเทศไทย ที่ผ่านมาแม้จะมีระบบหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ก็ตาม แต่ผู้จ่ายเงินได้ เช่น ผู้ซื้อจะจ่ายเงินให้ผู้ขาย ก็ต้องทราบว่าผู้ขายเหรียญคริปโตเป็นใคร และมีต้นทุนเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในทางปฏิบัติ ทำให้ที่ผ่านมาไม่ค่อยพบเห็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างผู้ซื้อผู้ขายกันเท่าไร 


เมื่อระบบหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ค่อยทำงาน ทำให้คนขายเหรียญคริปโตอาจจะลืมไปว่าตนเองมีเงินได้ จึงจำเป็นต้องมีการจดบันทึกไว้ทุกครั้งเพื่อประกอบการคำนวณกำไรขาดทุน เพราะเมื่อผู้ขายเหรียญคริปโตมีกำไรจากการขายหรือแลกเปลี่ยนจะต้องนำเฉพาะรายการกำไรมาเสียภาษี ส่วนรายการขาดทุนไม่ถือเป็นเงินได้เสียภาษี และหากลงทุนใน Exchange ที่อยู่ในกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. สามารถนำส่วนขาดทุนมาหักได้ด้วย


ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆ เช่น ซื้อเหรียญ AAA มา 5 เหรียญ เหรียญละ 10,000 บาท และขายได้ 4 เหรียญ เหรียญละ 11,000 บาท จึงกำไรเหรียญละ 1,000 บาท หรือ 4 เหรียญก็กำไร 4,000 บาท ต่อมาราคาเหรียญนี้ตกลงเหลือ 9,000 บาท แต่นักลงทุนเห็นว่าราคาอยู่ในช่วงขาลงและอยากตัดขาดทุน หรือ Cut Loss ทำให้ขายขาดทุนไป 1,000 บาท (ราคาขาย 9,000 บาท หักต้นทุน 10,000 บาท) หากทั้งสองรายการขายอยู่ในปีปฏิทินเดียวกัน ทำให้เราสามารถมาหักกลบกันได้ ทำให้เรามีกำไรเท่ากับ 3,000 บาท เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ขายเหรียญคริปโตจะต้องนำเงินได้ในส่วนนี้มากรอกในแบบฟอร์มภาษีเงินได้ของตัวเองด้วย


ผลตอบแทนอีกอย่างเกี่ยวเนื่องกันคือนักลงทุนถือเหรียญคริปโตไว้ไม่นำไปขายแต่นำเหรียญคริปโตไปฝากไว้ ทั้งฝากแบบยืดหยุ่น คือถอนได้ทันทีเมื่อต้องการ หรือแบบไม่ยืดหยุ่น ที่เรียกกันว่า Staking คือต้องล็อกเวลาที่เราจะถอนเหรียญคริปโตได้ เช่น 45 วัน เพื่อได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นเหรียญนั้นๆ เช่น ซื้อเหรียญคริปโต Bitcoin และฝากไว้ที่ Exchange ได้รับผลตอบแทนร้อยละ 4 ต่อปี และเวลาที่ได้รับจะได้รับเป็นรูปแบบเหรียญคริปโตเช่นเดียวกัน เหมือนกับฝากอะไรก็ได้ผลตอบแทนเป็นร้อยละของสิ่งนั้น สมมติตัวเลขเพื่อเข้าใจว่าปีปฏิทินที่ผ่านมา นักลงทุนได้รับเหรียญคริปโต ซึ่งตีค่าเป็นเงินบาทได้ประมาณ 400 บาท เราก็ต้องเอากำไรในส่วนนี้ไปบวกกับเงินได้อื่นๆ ของเรา เพื่อกรอกในแบบฟอร์มเงินได้เพื่อเสียภาษีเช่นเดียวกัน 

 

2. ผลตอบแทนจากการได้รับรางวัลหรือจากการรับทำงานให้เป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี 

 

กรณีนี้เกิดจากการได้รับคริปโตเคอร์เรนซีเป็นรางวัลหรือมีผู้ให้เหรียญคริปโตจากโปรแกรมส่งเสริมการขาย เช่น นักลงทุนไปซื้อสินค้าและบริการ และเป็นลูกค้าชั้นดี ได้รับรางวัลเป็นเหรียญคริปโต หรือแพลตฟอร์ม Exchange ออกโปรโมชัน ชวนเพื่อนมาเปิดบัญชีแล้วจะแจกเหรียญ ต้องถือว่ามูลค่าเหรียญคริปโต เท่ากับมูลค่า ณ วันที่ได้รับและตีราคาเป็นเงินบาท โดยนักลงทุนต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ได้รับเหรียญมูลค่า 1,000 บาท มาเป็นรางวัล อย่างนี้ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ให้นำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนยื่นแบบประจำปีด้วย


แต่ถ้าไปทำงานให้และได้รับค่าจ้าง เช่น เป็นนายหน้าขายที่ดิน ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 แต่ผู้จ่ายค่าจ้างจ่ายเป็นเหรียญคริปโต ไม่ได้จ่ายเป็นเงินบาท ผู้ได้รับเหรียญคริปโตก็ต้องถือว่าได้รับค่าจ้างแล้วโดยตีราคาเป็นเงินบาทในวันที่ได้รับ และถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามตัวอย่างนี้ ทำนองเดียวกับการได้รับค่าจ้างเป็นเงินนั่นเอง


การขุดคริปโตเคอร์เรนซี (Crypto Mining) 

 

สำหรับการขุดคริปโตเคอร์เรนซี จะถือว่ามีเงินได้เสียภาษีต่อเมื่อขายเหรียญคริปโต เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะก่อนหน้านี้อาจสงสัยว่ากรณีนี้จะถือว่ามีเงินได้เมื่อไรระหว่างเมื่อได้รับเหรียญคริปโต หรือเมื่อขายเหรียญคริปโตกันแน่


ประเด็นต่อมาคือการคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษี รายได้ที่เกิดเราจะใช้วันที่ขายเหรียญหรือแลกเปลี่ยนเหรียญเป็นวันที่เกิดรายได้ สมมติว่ากลางปี 2564 คุณกมลเป็นคนขุดเหรียญคริปโตได้รับเหรียญคริปโตมูลค่าวันนั้น 500,000 บาท (มูลค่าดูได้จาก Exchange ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.) แต่ไม่ได้ขายจึงเก็บเหรียญคริปโตไว้ ปรากฏว่าเหรียญนี้เพิ่มมูลค่าสูงขึ้นเป็น 1,000,000 บาทในปี 2564 ตอนปลายปี จึงขายเหรียญคริปโตออกไปได้เงินบาทมา 999,000 บาท (หักค่าธรรมเนียมแล้ว) ดังนั้นจึงไปคำนวณภาษีเพื่อยื่นแบบในปี 2565 (ภายในสิ้นเดือนมีนาคมของปี 2565) แต่มีค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นจากการขุด เช่น ค่าไฟฟ้าและค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเท่ากับ 400,000 บาท ทำให้สามารถนำ 990,000 บาทไปกรอกแบบช่องเงินได้ประเภทที่ 8 และกรอกค่าใช้จ่าย 400,000 บาทเพื่อหักจากรายได้นั้น สรุปจึงมีเงินได้สุทธิรายการนี้เท่ากับ 590,000 บาท 

 

จากที่กล่าวมาเงินได้ที่เกี่ยวกับเหรียญคริปโตมีหลายประเภท สามารถสรุปได้ว่าการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นักลงทุนควรใช้แบบแสดงรายการเงินได้ประจำปีคือแบบ ภ.ง.ด.90 และยื่นเงินได้ประเภทรายได้จากการทำหน้าที่นายหน้าแต่ได้รับเป็นเหรียญคริปโตในช่องเงินได้ประเภทที่ 2 ส่วนกำไรจากการขายเหรียญคริปโตในแบบแสดงรายการเงินได้ประเภทที่ 4 และผลประโยชน์จากการฝากและเงินได้จากการรับเหรียญคริปโตจากการส่งเสริมการขายเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 และเงินได้สุทธิจากการขุดก็ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 เช่นเดียวกัน โดยอัตราภาษีไม่มีอัตราที่ตายตัว เช่น กำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลคิดเป็นภาษีอัตราร้อยละ 15 ขึ้นอยู่กับรายได้ทั้งหมดของนักลงทุน และคิดโดยใช้อัตราก้าวหน้าของเงินได้ ผู้เขียนหวังว่านักลงทุนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย เพื่อเป็นแนวทางในการชำระภาษีจากการได้มาซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัล

 

ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X