โลกในปี 2022 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการแพร่ระบาดของโควิด (Pandemic) ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งการกลายพันธุ์ของโควิดล่าสุดมาเป็นสายพันธุ์โอมิครอน มีความเป็นไปได้ถึงการปรับตัวของเชื้อโรคที่มีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แต่มีระดับความรุนแรงของโรคที่ลดลง สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือต่อเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังคงดำเนินต่อไป
โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2022 ว่ามีแนวโน้มขยายตัวที่ 4.9% และใน 3 ปีข้างหน้า อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.97% ต่อปี จากปัจจัยหลักเรื่องความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน รวมถึงขนาดและระยะเวลาของมาตรการภาครัฐ โดยคาดว่าการฟื้นตัวจะมาจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเป็นหลักเพราะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อได้ดี สำหรับการลงทุนในปี 2022 ได้แนะนำธีมที่น่าสนใจลงทุน 3 ธีม ประกอบด้วย
- ธีมฟื้นตัวจากภายใน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นเวียดนาม และตลาดหุ้นจีน A-Shares ซึ่งการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันการขยายตัวในปี 2022 โดยตลาดหุ้นเวียดนามมาจากโครงสร้างประชากรและการขยายของขอบเขตเมือง (Urbanization) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเจริญเติบโตระยะยาวของประเทศภายหลังการระบาดของโควิดระลอกล่าสุด ในขณะที่ตลาดหุ้นจีน A-Shares ที่มีการชะลอตัวลงไปในปี 2021 จากการลดสภาพคล่องของธนาคารกลางจีน และการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งเรามองว่ามูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นจีน A-Shares ได้ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจแล้ว โดยในระยะถัดไปความคาดหวังต่อเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะเป็นปัจจัยผลักดันการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน แม้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้รัฐบาลจีนยังต้องดำเนินนโยบายปิดประเทศต่อไป แต่กำลังซื้อของประชาชนในประเทศที่มีจำนวนมหาศาลจะทำให้การบริโภคในประเทศเติบโตได้ต่อเนื่อง สำหรับกองทุนแนะนำ ได้แก่
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ แอคทีฟ (SCBASHARE(S)) เป็นกองทุนบริหารเชิงรุก ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Allianz China A-Shares (กองทุนหลัก) โดยมีวัตถุประสงค์สร้างการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว ผ่านการลงทุนในหุ้น A-Shares ของจีน สำหรับกองทุนหลักจัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท EAA OE China Equity-A Shares ของมอร์นิ่งสตาร์ จาก Allianz China A-Shares ชนิดหน่วยลงทุน AT ที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนเดียวกันกับกองทุนหลัก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2021)
- ธีมกำไรที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่รัฐบาลยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องจากการใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่ รวมถึงความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนิติบุคคลก็หายไปภายหลังข้อเสนอการปฏิรูปภาษีที่มีเพียง Foreign Tax และการพิจารณาเก็บภาษีจากคนรวยแทน ทำให้บริษัทเทคในสหรัฐฯ คาดการณ์กำไรที่ดีขึ้นในปี 2022 นอกจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจในแง่ของการฟื้นตัวจากโควิดตามสหรัฐฯ และมีแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากวงเงินช่วยเหลือโควิด (EU Recovery Fund) ที่ยังมีเม็ดเงินคงเหลือให้เบิกจ่ายอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ หุ้นกลุ่ม Growth ของทั้งสองตลาดมีการขยายตัวของอัตรากำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด ถึงแม้ว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น แต่ด้วยระดับมาร์จิ้นที่มีอยู่สูงจะเป็นปัจจัยรองรับที่ทำให้การเติบโตของกำไรโดยรวมสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปได้ สำหรับกองทุนแนะนำ ได้แก่
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCBEUSM) เป็นกองทุนบริหารเชิงรุก เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว คือ European Smaller Companies Fund (กองทุนหลัก) มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กในทวีปยุโรป และหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทรัพย์ของบริษัทที่จัดตั้งหรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในทวีปยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักรและตลาดเกิดใหม่ในยุโรป อีกทั้งยังจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Europe Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 2021) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน iShares Core S&P 500 ETF บริหารจัดการโดย BlackRock Fund Advisors ซึ่งมีการบริหารจัดการแบบ Passive มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี S&P 500
- ธีมการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม สภาพเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ Robotics เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มขีดจำกัดความสามารถของมนุษย์ ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงปี 2021-2025 การเติบโตของอุตสาหกรรม Robotics จะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (5G) ในส่วนของภาคบริการการลงทุนใน Robotics ก็มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีการนำ Robotics เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น และอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจลงทุนก็คือ Semiconductors เนื่องจากตลาด Memory Chips ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเป็นชิ้นส่วนสำคัญของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายประเภท อีกทั้งยังได้ถูกนำมาใช้ในโครงข่าย Wireless, 5G, Internet of Thing, ด้านการแพทย์ และด้านการทหาร เป็นต้น สำหรับกองทุนแนะนำ ได้แก่
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลโรโบติกส์ (SCBROBO) เน้นลงทุนในตราสาร และ/หรือหลักทรัพย์ที่การลงทุนมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ และ/หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติซึ่งสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้อย่างไม่จำกัด และเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Semiconductor (SCBSEMI) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ VanEck Vectors Semiconductor UCITS ETF (กองทุนหลัก) โดยมุ่งเน้นให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี MVIS US Listed Semiconductor 10% Capped Index (MVSMCTR) โดยประกอบไปด้วยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ตราสารที่ควรระมัดระวังในการลงทุนในปี 2022 จะเป็นกลุ่มตราสารหนี้ที่มีอายุยาว เนื่องจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะเป็นแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กดดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน Short-duration High Yield Bond ซึ่งมีผลตอบแทนส่วนเพิ่มจาก Credit Spread ที่สูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐโดยเน้นอายุเฉลี่ยที่สั้นมาก น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี ทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวได้ ในส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันและทองคำนั้น เนื่องจากสภาพคล่องในระบบที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับขึ้นอย่างจำกัด โดยเฉพาะทองคำที่เป็นสินทรัพย์ไม่มีผลตอบแทนจากกระแสเงินสด ซึ่งภายใต้ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ทองคำมีความน่าสนใจลดลง อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนในการกระจายการลงทุนไปในทองคำก็สามารถช่วย Hedge พอร์ตการลงทุนได้ดี หากเกิดเหตุการณ์ Risk-Off อย่างเช่นการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ เรื่องของการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจส่งผลไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าที่คาด รวมถึงเรื่องของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Antitrust Laws) และการเจรจาทางการค้าในสหรัฐฯ และจีน เป็นต้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP