×

ล้ำกว่า EV! 3 บริษัทใหญ่ร่วมทุนพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ‘พลังงานไฮโดรเจน’ รายแรกของไทย ตั้งเป้าผลิตต้นแบบปีภายในปี 2567

12.04.2024
  • LOADING...

โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น (Toyota Tsusho Corporation), เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น (Denso Corporation) และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ประกาศลงนามความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน สำหรับภาคพาณิชย์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย  

 

มีการวางแผนมุ่งเน้นพัฒนารถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่สามารถทำงานได้เทียบเท่าหรือสูงกว่ารถสันดาป พร้อมวิ่งได้ไกลในระยะทางมากขึ้นต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง และปล่อยมลภาวะน้อยลง ซึ่งตั้งเป้าจะผลิตต้นแบบให้สำเร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567 และนำไปสู่การขยายใช้งานในเชิงพาณิชย์ในอนาคต

 

ความร่วมมือครั้งนี้เกิดจากจุดแข็งของทั้ง 3 ฝ่าย โดย Toyota Tsusho จะรับผิดชอบในการประสานงานพัฒนาโครงการ จัดหาอุปกรณ์ระบบไฮโดรเจน และประเมินประสิทธิภาพยานยนต์ ด้าน Denso จะพัฒนาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบเซลล์เชื้อเพลิง รวมถึงให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและทดสอบรถ ส่วน NEX จะทำหน้าที่พัฒนา ผลิต และดัดแปลงตัวรถ ติดตั้ง และทดสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน

 

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน หรือ Fuel Cell Electric Vehicle (FCEV) กำลังได้รับความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์เผาไหม้ เติมเต็มเชื้อเพลิงได้รวดเร็วใกล้เคียงน้ำมัน วิ่งได้ระยะทางไกลกว่ารถไฟฟ้าแบตเตอรี่ถึง 600-800 กิโลเมตรต่อการเติมไฮโดรเจน 1 ครั้ง ขณะเดียวกันก็ให้แรงบิดสูงและอัตราเร่งที่ดี เหมาะสำหรับทุกสภาพถนน

 

อย่างไรก็ตาม ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนยังมีข้อจำกัดบางประการ ไม่ว่าจะเป็นราคาสูงกว่ารถไฟฟ้าแบตเตอรี่ สถานีเติมไฮโดรเจนยังมีน้อยและกระจายไม่ทั่วถึง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องพัฒนา ดังนั้น การผลักดัน FCEV ในเชิงพาณิชย์จึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลง การขยายจุดให้บริการเติมไฮโดรเจน และการลงทุนสร้างระบบรองรับที่ครอบคลุม

 

คณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEX มองว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการก้าวสู่มิติใหม่ในการพัฒนายานยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการตอบสนองเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการผลักดันใช้รถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้าในหน่วยงานราชการ พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่ซื้อรถ EV ที่ผลิตในประเทศอีกด้วย

 

ปัจจุบัน NEX มีกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ประมาณ 9,000 คันต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการในตลาด โดยมีออร์เดอร์ค้างส่งกว่า 2,700 คัน ทั้งรถบัสโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และรถกระบะไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบได้หมดภายในปี 2567

 

นอกจากนี้ คณิสสร์ยังมั่นใจว่า ความร่วมมือกับทั้งโตโยต้า ทูโช และเด็นโซ่ ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ทั้งตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญมาตรการปรับคาร์บอน (CBAM) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคขนส่ง รวมถึงเป็นแรงผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทแตะเป้า 2 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ตามแผนที่วางไว้

 

การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนในครั้งนี้จึงเป็นความร่วมมือที่น่าจับตามองของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่จะเป็นการเปิดศักราชใหม่สู่ยุคขนส่งที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ในการผลักดันให้ FCEV เป็นที่แพร่หลายยังขึ้นอยู่กับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X