วันนี้ (2 มีนาคม) ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน หรือ iLaw เปิดเผยต่อสาธารณะผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตามที่มีหลักฐานปรากฏ ทั้งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 2 ครั้งที่ผ่านมา รายงานเปิดเผยเครือข่ายข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงกับรัฐของทวิตเตอร์ รายงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฏบนสื่อมวลชนและเอกสารการปฏิบัติงานภายในที่ถูกนำมาเผยแพร่ จึงชัดเจนแล้วว่ากองทัพบกกำลังทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ต่อประชาชนเพื่อหวังผลทางการเมืองภายในประเทศ
ข้อมูลที่เปิดเผยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นเอกสารของทางราชการ ที่ออกโดยกองทัพภาคที่ 2 เพื่อมอบหมายการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการ ด้านข้อมูลจากรายงานที่เปิดเผยโดยทวิตเตอร์ ก็แสดงให้เห็นว่าบัญชีทวิตเตอร์ที่เชื่อมโยงกับกองทัพบกถูกใช้เพื่อ ‘อวย’ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลชุดนี้อย่างโจ่งแจ้ง และโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างหนัก ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคม นักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ และสื่อมวลชนก็ตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบกด้วยเช่นกัน
จากเอกสารที่ถูกเผยแพร่พบบัญชีทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรผู้จัดรายการ เป็นเป้าหมายของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารด้วย รายงานของทวิตเตอร์ปรากฏการตรวจพบปฏิบัติการต่อบัญชีทวิตเตอร์ของทั้งสามคนหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีข้อความไปหาบัญชี @johnwinyu ว่า “กูโคตรจะเกลียดมึงเลย เป็นดาราเสือกมายุ่งเรื่องการเมือง ไอ้ขยะ”
ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เพียงการ ‘ประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบก’ ตามที่กองทัพบกเคยชี้แจงต่อสาธารณะเท่านั้น แต่มีเนื้อหาและลักษณะที่ ‘หวังผลทางการเมือง’ โดยใช้ข้อความที่ ‘เป็นบวก’ กับนายกรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และ ‘เป็นลบ’ ต่อพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งกลุ่มภาคประชาสังคม นักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ และสื่อมวลชน ที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตแต่ไม่เป็นบวกกับฝ่ายการเมืองที่ถืออำนาจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบธรรม
สฤณี, ยิ่งชีพ และวิญญู จึงรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม และจะเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยยื่นฟ้องกองทัพบก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอให้ศาลปกครองสั่งยุติปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดนี้ทันที
ในขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีทั้งสามคนยังได้ยื่นจดหมายถึงผู้ให้บริการเฟซบุ๊ก เพื่อให้ตรวจสอบการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารโดยรัฐ เพื่อสร้างความรับรู้ของประชาชนที่ไม่เป็นความจริง และดำเนินการต่อการกระทำที่ละเมิดกฎของเฟซบุ๊ก รวมทั้งยื่นหนังสือและข้อมูลหลักฐานต่อผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (UN Special Rapporteur on Freedom of Expression) เพื่อให้ตรวจสอบปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่กองทัพบกไทยกระทำต่อประชาชนไปพร้อมกัน
ยิ่งชีพระบุว่า สำหรับนัดหมายยื่นฟ้องคดีและแถลงข่าวคือวันที่ 4 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 น. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ข้อมูลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ https://prachatai.com/journal/2020/03/86617
- ข้อมูลจากรายงานของทวิตเตอร์ https://blog.twitter.com/en_us/topics/company/2020/disclosing-removed-networks-to-our-archive-of-state-linked-information.html
- ข้อมูลจากรายงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด https://cyber.fsi.stanford.edu/publication/cheerleading-without-fans-low-impact-domestic-information-operation-royal-thai-army
- https://www.facebook.com/100000620045796/posts/3971782169519079/