ช่วงสายวันนี้ (21 กรกฎาคม) ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ประกาศส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม โดยให้พรรคเพื่อไทย พรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน โดยพรรคก้าวไกลพร้อมที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้
THE STANDARD ชวนทำความรู้จัก 3 รายชื่อ ที่พรรคเพื่อไทยยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในบัญชีผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
รู้จักพรรคเพื่อไทย
– เริ่มต้นจากพรรคไทยรักไทยในอดีต ต่อเนื่องมาที่พรรคพลังประชาชน ขณะที่ในเวลาต่อมาสองพรรคตั้งต้นถูกตัดสินให้ยุบพรรค จึงก่อรูปกลายเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
– พรรคเพื่อไทยมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองเป็นพรรคที่ถูกรัฐประหารถึง 2 ครั้งซ้อน คือในปี 2549 ยุคไทยรักไทย และในปี 2557 ยุคเพื่อไทย โดยเป็นพรรคที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกของไทยคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
– ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยใช้กลยุทธ์ ‘แตกแบงก์พัน’ ทำพรรคที่มีแนวทางคล้ายๆ กันหลายพรรค แม้จะถูกสกัดด้วยกติกาและการยุบพรรคลูก แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. มากที่สุดในสภา อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล
– การเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยเริ่มชูแคมเปญ ‘แลนด์สไลด์’ ตั้งแต่ปลายปี 2564 ต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด เพื่อเอาชนะการโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาที่มี ส.ว. ร่วมโหวตด้วย
แพทองธาร ชินวัตร
หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
อายุ 36 ปี
– แพทองธารคือลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เติบโตท่ามกลางครอบครัวที่กำลังรุ่งโรจน์ทางธุรกิจและการเมืองถึงขีดสุด
– ก่อนหน้านี้แพทองธารเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชน เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตระกูลชินวัตร นั่นคือ SC Asset และยังถือหุ้นในธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย
– แพทองธารปรากฏตัวบนเวทีการเมืองครั้งแรกในปี 2564 ที่จังหวัดขอนแก่น ในงาน ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ต่อมาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และถูกคาดหมายว่านี่คือทายาทตระกูลชินวัตรรายต่อไปที่จะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
– สื่อมวลชนมองว่า แพทองธารได้ไฟเขียวจากตระกูลชินวัตรอย่างชัดเจนที่สุด เมื่อคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นมารดาของเธอ ปรากฏตัวให้กำลังใจในกิจกรรม ‘สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ’ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการปรากฏตัวในงานการเมืองของคุณหญิงพจมานในรอบ 15 ปี หลังการรัฐประหาร 2549
เศรษฐา ทวีสิน
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
อายุ 61 ปี
– เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักในปี 2555 หลังมีข่าวตามหน้าสื่อ
– เศรษฐาเริ่มทวีตข้อความพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองต่อเนื่อง และมีข่าวหลายครั้งว่าจะเข้ามาเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย จนมีความชัดเจนจากการเข้ามาเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
– เศรษฐารับไม้ต่อแพทองธารในการเป็นผู้นำหาเสียงบนเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นบทบาทที่น่าจับตาจากนักธุรกิจมาตลอดทั้งชีวิต ขยับเข้าสู่การเมืองด้วยการนำพรรคใหญ่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง
ชัยเกษม นิติสิริ
ประธานยุทธศาสตร์ด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ
อายุ 74 ปี
– ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด หลังเกษียณอายุราชการเข้าสู่สนามการเมืองในนามพรรคเพื่อไทย
– ชัยเกษมเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้ยืนยันว่ารัฐบาลรักษาการในขณะนั้นจะไม่ลาออกในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2557 ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลรักษาการ
– ในการเลือกตั้ง 2562 ชัยเกษมได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ร่วมกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในการเลือกตั้ง 2566
นโยบายเด่นของพรรคเพื่อไทย เช่น
– ค่าแรง 600 บาทต่อวัน ตลอดสมัยการเป็นรัฐบาล
– เงินเดือนเริ่มต้นปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570
– สานต่อนโยบาย 30 บาท ให้สามารถรักษาได้ทั่วประเทศ
– เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
– สร้างรถไฟรางคู่ทั่วประเทศภายในปี 2570