วานนี้ (22 ธันวาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานกาชาดประจำปี 2565 ที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้รับหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาความสะอาดและการจัดการขยะภายในงาน ระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต
โดยปีนี้ กทม. ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการขยะภายในงาน หวังให้เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการขยะงานแฟร์ และงานมหกรรมอื่นๆ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ร้านค้า ผู้มาเที่ยวงานคัดแยกขยะ และจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการคัดแยกขยะตามจุดต่างๆ ในส่วนของร้านค้า ให้นำขยะมาทิ้งที่จุดพักขยะภายในงาน ในช่วงเวลา 10.00-03.00 น. จากนั้น กทม. จะเก็บขยะจากจุดพัก
ส่วนขยะอินทรีย์จะนำไปเข้าเครื่องย่อยขยะเศษอาหารเพื่อใช้เป็นปุ๋ยต่อไป ส่วนขยะจากผู้มาเที่ยวชมงาน สำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดให้มีจุดตั้งถังขยะแยกประเภท จำนวน 40 จุด ประกอบด้วย ถังสีเหลือง สำหรับขยะรีไซเคิล ถังสีเขียว สำหรับขยะอินทรีย์ ถังสีฟ้า สำหรับขยะทั่วไป โดยจุดทิ้งขยะจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 11 วัน กทม. สามารถจัดเก็บขยะได้ทั้งหมด 292 ตัน หรือ 292,472 กิโลกรัม เฉลี่ยวันละ 26,588 กิโลกรัม (27 ตัน) แบ่งเป็น ขยะทั่วไป 273,845 กิโลกรัม (93.63%) ขยะรีไซเคิล 9,701 กิโลกรัม (3.32%) ประกอบด้วยขวดพลาสติกใส 5,109 กิโลกรัม และวัสดุรีไซเคิลอื่น เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติกขุ่น กระป๋องโลหะ กระป๋องอะลูมิเนียม 4,592 กิโลกรัม ขยะเศษอาหาร 8,926 กิโลกรัม (3.05%)
โดยขยะที่มีการแยกประเภทเรียบร้อยแล้วจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ดังนี้ ขยะเศษอาหาร นำไปทำปุ๋ย โดยบริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนที่เหลือนำเข้าโรงงานหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ของ กทม. ขวดพลาสติกใสได้ถึง 5.1 ตัน นำเข้าโครงการมือวิเศษ กรุงเทพ แยกเพื่อให้พี่ไม้กวาดจัดทำเสื้อสะท้อนแสงให้พนักงานกวาด ขยะรีไซเคิลประเภทอื่นส่งกลับเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิลใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ส่วนขยะทั่วไปรวบรวมส่งกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะต่อไป
ชัชชาติกล่าวด้วยว่า กทม. ขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันแยกขยะ และทิ้งในจุดที่จัดเตรียมไว้ ทำให้ กทม. บริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางให้เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการขยะงานแฟร์ และงานมหกรรมอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ที่ได้จากการแยกขยะภายในงาน สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ถึง 18,626.4 กิโลกรัม ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือลดก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 25,889 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการช่วยปลูกต้นไม้ 5,178 ต้น การแยกขยะนอกจากจะทำให้สภาพแวดล้อมดีแล้ว ยังเป็นการช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย