×

279 นักวิชาการ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงจุฬาฯ ปมตั้งกรรมการสอบณัฐพล จี้ต้องปกป้องเสรีภาพวิชาการ

โดย THE STANDARD TEAM
26.03.2021
  • LOADING...
279 นักวิชาการ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงจุฬาฯ ปมตั้งกรรมการสอบณัฐพล จี้ต้องปกป้องเสรีภาพวิชาการ

วันนี้ (26 มีนาคม) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรายชื่อของนักวิชการและวิชาชีพอื่นร่วมลงชื่อจำนวน 279 คน โดยมีรายละเอียดระบุว่า

 

ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตของณัฐพล ใจจริง ปีการศึกษา 2552 เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ โดยเริ่มต้นจากการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งได้ตรวจสอบการอ้างอิงในเล่มวิทยานิพนธ์ดังกล่าว จนร้องเรียนมายังบัณฑิตวิทยาลัย และนำไปสู่การออกคำสั่งระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ การดำเนินการเพื่อถอดถอนปริญญา การตั้งกรรมการสอบแบบปิดลับ การเคลื่อนไหวโจมตีของสมาคมและเครือข่ายต่างๆ เช่น สถาบันทิศทางไทย กลุ่มจุฬาฯ พิทักษ์ธรรม มาจนกระทั่งการฟ้องร้องคดีแพ่งของตัวแทนราชสกุลรังสิตต่อณัฐพล ผู้เขียน, รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้ตีพิมพ์เผยแพร่

 

นักวิชาการ 239 คน นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา 25 คน และบุคคลในสาขาอาชีพอื่นอีก 15 คน ดังมีรายชื่อข้างท้ายจดหมายฉบับนี้ รู้สึกกังวลใจอย่างยิ่งกับการดำเนินการตั้งแต่ต้นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขอเสนอข้อคิดเห็นประกอบการพิจารณาและตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้มีอำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

1. ความบริสุทธิ์ใจและจรรยาบรรณทางวิชาการของผู้เขียน – นับตั้งแต่ที่ ศ.ไชยันต์ ไชยพร ได้ทำหนังสือถึงบัณฑิตวิทยาลัย แจ้งปัญหาความคลาดเคลื่อนของข้อเท็จจริงในวิทยานิพนธ์ในปี 2561 ณัฐพล ผู้เขียนมิได้นิ่งนอนใจหรือบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง แต่ได้ตรวจสอบเอกสาร ทำหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ และขอปรับแก้ข้อความที่ผิดพลาดดังกล่าวในทันที แต่ตามระเบียบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแก้ไขวิทยานิพนธ์ที่ได้รับอนุมัติแล้วจะกระทำมิได้ กระนั้นเมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์หนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ซึ่งณัฐพลเรียบเรียงปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ของตน ณัฐพลก็ได้แก้ไขจุดผิดพลาดที่ ศ.ไชยันต์ท้วงติงด้วย   

 

ข้อเท็จจริงตามลำดับข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจและความรับผิดชอบทางวิชาการของผู้เขียน ที่จะแก้ไขความผิดพลาดทั้งในวิทยานิพนธ์และหนังสือที่ตีพิมพ์ในภายหลัง ฉะนั้น การตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีวิทยานิพนธ์ของณัฐพล จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดพลาดที่ณัฐพลได้แก้ไขตามข้อท้วงติงแล้ว 

 

2. น้ำหนักของความผิด และผลกระทบต่อข้อเสนอของงานวิจัย – ในการให้สัมภาษณ์หลายกรรมหลายวาระของ ศ.ไชยันต์ รวมถึงในข้อเขียนของบุคคลต่างๆ และล่าสุดคือคำฟ้องของตัวแทนราชสกุลรังสิต ล้วนกล่าวไปในทางเดียวกันว่าณัฐพลปั้นแต่งความเท็จในวิทยานิพนธ์ของตนว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร แทรกแซงการเมืองโดยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี อันเป็นการหยิบยกความผิดพลาดเพียงประเด็นเดียวมาโจมตีและขยายผล เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ซ้ำร้ายยังเป็นความผิดพลาดที่ณัฐพลได้ยอมรับและแก้ไขแล้วในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี แล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ในวิทยานิพนธ์   

 

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือความผิดพลาดในการอ้างอิงและการตีความไม่ได้ผันแปรโดยตรงกับสาระสำคัญหรือข้อเสนอหลักของวิทยานิพนธ์ของณัฐพล อันที่จริงแล้วกระทั่งงานวิชาการจำนวนมากของนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลก็พบข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนเช่นกัน เช่น งานของ Fernand Braudel และ Edward Said ทว่าตราบเท่าที่ข้อผิดพลาดเหล่านั้นไม่ได้กระทบต่อข้อเสนอหลักของงานวิชาการ งานเหล่านั้นก็ยังทรงพลังทางปัญญาอยู่จนถึงปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ การประเมินสาระสำคัญหรือข้อเสนอหลักของงานทางวิชาการไม่สามารถทำได้ด้วยการตรวจสอบความถูกต้องของการอ้างอิงเท่านั้น เพราะข้อความในวิทยานิพนธ์ของณัฐพลเป็นผลของการตีความหลักฐานและการใช้เหตุผล การพิจารณาว่าข้อความในวิทยานิพนธ์ของณัฐพลในกรณีนี้ผิดพลาดหรือไม่ จึงไม่สามารถใช้วิธีการเทียบคำต่อคำในระหว่างวิทยานิพนธ์ของณัฐพลและหลักฐานที่ณัฐพลอ้างอิง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า การประเมินสาระสำคัญหรือข้อเสนอหลักของงานทางวิชาการต้องการความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของงานเขียนทางวิชาการ รวมถึงความเข้าใจที่ว่าความรู้ทางวิชาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งที่เป็นผลมาจากแสวงหาและการสั่งสมความรู้ผ่านกระบวนการค้นคว้า พิสูจน์ตรวจสอบ ยืนยัน และหักล้างข้อเท็จจริง และเป็นผลมาจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางวิชาการ   

 

การโยงเรื่องวิชาการกับการล้มล้างสถาบันและกล่าวหาว่าณัฐพลว่ามีเจตนาบิดเบือนหลักฐาน จึงเป็นผลของอคติส่วนตัวและความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ตรวจสอบ ทั้งๆ ที่วิทยานิพนธ์และหนังสือของณัฐพลไม่ได้เสนอหรือแม้แต่ชี้นำให้มีการยกเลิกหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด การโจมตีและโฆษณาขยายผลเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมต่อณัฐพลอย่างยิ่ง 

 

3. เสรีภาพทางวิชาการ – การดำเนินการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ผ่านมาหาได้ทำให้การค้นคว้าวิจัยทางวิชาการรัดกุมยิ่งขึ้นไม่ ในทางตรงกันข้าม สิ่งนี้สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ โดยเฉพาะในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะกระทบต่อการวิจัยด้านไทยศึกษาทั้งในและต่างประเทศ  

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรมีจุดยืนที่แน่วแน่และชัดเจนในการรักษาและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของสมาชิกประชาคมทางวิชาการในระดับอุดมศึกษาทั้งของอาจารย์และนิสิต อันได้แก่เสรีภาพในการเรียนการสอนและการอภิปรายถกเถียง เสรีภาพในการดำเนินการวิจัยและการเผยแพร่และการตีพิมพ์ผลการวิจัย เสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างอิสระเกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานและศึกษาอยู่ และเสรีภาพจากการเซ็นเซอร์เชิงสถาบัน ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสสังคมและแรงกดดันจากกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด  

 

ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกประจำปี 2564 ของ Quacquarelli Symonds (QS) หรือ QS World University Rankings 2021 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับที่ 208 แต่หากนำดัชนีเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom Index: AFi) ประจำปี 2564 ของไทยที่จัดทำโดย Global Public Policy Institute (GPPi) และ Scholars at Risk Network มาร่วมคำนวณด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยไทยโดยรวมจะมีคะแนนรวมลดลงอย่างแน่นอน 

 

นักวิชาการที่ดีต่างรู้ดีว่าความผิดพลาดในงานวิชาการเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ และไม่ถือเป็นการละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ หากไม่ใช่ความผิดร้ายแรงอย่างเช่นการโจรกรรมหรือคัดลอกงานวิชาการ (Plagiarism) การสร้างข้อมูลหรือผลการทดลองที่ไม่มีอยู่จริง หรือการบิดเบือนแก้ไขผลการทดลองเพื่อสนับสนุนสมมุติฐานของงานวิจัย ด้วยเหตุนี้ ความผิดพลาดอื่นใดในการอ้างอิง การอ่านตีความหลักฐาน หรือการใช้เหตุผล จึงต้องไม่นำไปสู่ความผิดทางวินัยและอาญาใดๆ การตรวจสอบความผิดพลาดดังกล่าวพึงกระทำด้วยมาตรการทางวิชาการ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์และการโต้เถียงทักท้วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ควรละเมิดมาตรฐานและจรรยาบรรณนี้ เพราะนั่นจะนำความเสื่อมเสียมาสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสายตาประชาคมทางวิชาการไทยและสากล  

 

อาศัยเหตุอันได้แสดงมาโดยลำดับ พวกเราจึงขอเรียนมายังท่านเพื่อโปรดพิจารณายุติการสอบสวนกรณีวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง เพื่อธำรงเกียรติภูมิแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ

 

โดยมี รายชื่อนักวิชาการ เช่น ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, ศ.ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ Graduate School Cornell University, ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์, ศ.บาหยัน อิ่มสำราญ นักวิชาการอิสระ, ศ.สรวิศ ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.(เกียรติคุณ) ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

คลิกอ่านรายชื่อเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

ภาพ: https://hs.ssru.ac.th/news/view/26-1-61-5

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising