×

ครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนฯ กางโจทย์ใหญ่ ‘สังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง’ ให้รัฐบาลหน้าสร้างความเชื่อมั่นในเวทีโลก

โดย THE STANDARD TEAM
04.07.2023
  • LOADING...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

วานนี้ (3 กรกฎาคม) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 26 ปี โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ องค์กรวิชาชีพสื่อที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล โดยทำหน้าที่มาแล้ว 26 ปี

 

การกำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรมของสมาชิกนั้นถือเป็นภารกิจหลักของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยการกำกับดูแลจริยธรรมในเชิงรุก โดยมีกลไกในการสอดส่องและรับฟังข้อคิดเห็นจากสาธารณชนที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกว่ามีการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนในเรื่องใดหรือไม่ อย่างไร ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และการกำกับดูแลในเชิงรับ หรือการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายหรือผู้ที่เห็นว่าสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกระทำการละเมิดจริยธรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

สำหรับการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี เริ่มที่ในส่วนภูมิภาค จัดที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘BCG: โอกาสของการพัฒนาอีสาน’ โดย พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ถัดมาเป็นปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘บทบาทสื่อและองค์กรสื่อที่สังคมคาดหวัง’ โดย เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และอดีตกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และเวทีเสวนาหัวข้อ ‘จริยธรรมสื่อกับความอยู่รอดทางธุรกิจของสื่อภูมิภาค’

 

“สภาการสื่อมวลชนฯ ยืนยันที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองในด้านจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างแข็งขัน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” ชวรงค์กล่าว

 

ทั้งนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง’ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ทรรศนะมุมมองอนาคตประเทศไทยด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เริ่มด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘ทิศทางการเมืองไทยในบริบทการเมืองโลก’

 

ด้าน สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวว่า สถานการณ์ในเวทีโลกในปัจจุบันมีลักษณะเป็นวิกฤตถาวร หรือ Permacrisis ซึ่งหมายถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องถาวร โดยเป็นการผสมระหว่างคำว่า Permanent ที่แปลว่า คงทน ถาวร และคำว่า Crisis ที่แปลว่า วิกฤต คำดังกล่าวนี้เกิดขึ้นภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งเป็นวิกฤตที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั้งโลก แม้ว่าทุกคนจะปรับตัวและหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาสงบ แต่ในปัจจุบันโลกก็ยังผันผวนไม่แน่นอน มีวิกฤตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือสงคราม

 

โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนใหญ่ในเวทีโลกปัจจุบันประกอบไปด้วย 5 โจทย์ใหญ่ คือ

 

  1. การสิ้นสุดของสงครามเย็นเก่า ในปี 1991 และระเบียบโลกใหม่
  2. การก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001
  3. การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่หรือสงครามเย็นใหม่
  4. การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2019 และ 2020
  5. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2022

 

สุรชาติกล่าวต่อว่า โลกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการ Disruption ของปัจจัยที่เกิดขึ้น และส่งผลโดยตรงต่อการจัดระเบียบระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้คำว่าระเบียบระหว่างประเทศ (International Oder) หมายถึงแบบแผนหรือการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงที่เป็นรัฐในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ใช่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเวทีโลก โดยระเบียบระหว่างประเทศวางอยู่บน 3 เสาหลัก คือ กฎและกติการะหว่างประเทศ บรรทัดฐานระหว่างประเทศ และระบอบระหว่างประเทศ

 

สำหรับข้อกำหนดของระเบียบระหว่างประเทศในปัจจุบันมีแบบแผนเป็นระเบียบเสรีนิยม ซึ่งขัดแย้งกับคุณค่าแบบอำนาจนิยม และมุ่งเน้นคุณค่าหลักคือประชาธิปไตย เสรีภาพ นิติรัฐ สิทธิมนุษยชน การค้าเสรี และความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคี โดยยอมรับถึงการดำรงอยู่ของเอกราช บูรณภาพ และอธิปไตยแห่งรัฐ แต่ไม่ยอมรับต่อการใช้กำลังเป็นเครื่องมือในการปรับเส้นเขตแดนของรัฐ

 

สุรชาติกล่าวถึงวิกฤตโลกกับสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านเศรษฐกิจ พลังงาน อาหาร รวมถึงผู้อพยพ โดยสงครามถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดระเบียบระหว่างประเทศ โดยระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 วันที่รัสเซียเปิดฉากส่งกำลังทหารกว่า 2 แสนนายบุกข้ามชายแดนเข้าสู่ยูเครน ส่งผลให้เกิดการแบ่งโลกเป็น 2 ค่าย และ 2 ชุดความคิดทางการเมือง ทำให้การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่เข้มข้นมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการลากเส้นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของยุโรป รวมถึงการขยายระบบพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สงครามไม่ได้มีเฉพาะมิติทางทหารเพียงเท่านั้น ยังรวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูง การควบคุมอาวุธ และลดอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังโยงถึงองค์กรระหว่างประเทศกับการควบคุมความขัดแย้ง และการกำหนดพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในส่วนต่างๆ ของโลกอีกด้วย

 

เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยว่าอยู่ในสถานะไหนในจุดวิกฤตโลก พบว่าสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไทย ในส่วนปัญหาบทบาทและสถานะของรัฐไทยในเวทีสากล พบว่าตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

 

สุรชาติกล่าวต่อว่า ไทยยังมีปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ เช่น ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดเหตุก่อความไม่สงบอันเนื่องจากปัญหาการบริหารพื้นที่ การกระจายอำนาจ นำมาสู่ปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐ อีกทั้งปัญหาสถานะของกองทัพในสังคมไทยจากบทบาทของทหารในการเมือง ส่งผลต่อการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร รวมถึงภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ

 

นอกจากนี้ไทยยังมีปัญหาความแตกแยกและความเห็นต่างทางการเมืองในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสงครามความคิด-สงครามความเชื่อ-สงครามความศรัทธา ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (Climate Change) ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์และการฟื้นฟูสังคมไทยในยุคหลังโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย ที่จะเป็นตัวการสร้างขีดความสามารถของรัฐและสังคมในการรับมือกับ Global Disruption ในอนาคต

 

สุรชาติกล่าวว่า จากปัญหามากมายที่ไทยกำลังเผชิญอันเนื่องมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก นำมาสู่คำถามว่ารัฐบาลใหม่จะวางประเทศไทยไว้ตรงไหนบนแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์โลก และจะพลิกฟื้นสถานะและสร้างเสถียรภาพทางการเมือง สร้างความเชื่อถือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเวทีสากลโลกได้อย่างไร

 

ทางเดินสำหรับประเทศไทยบนเวทีโลกที่เป็น Permacrisis นั้นจากเดิมที่ประเทศไทยวางตัวเป็นกลาง จะเป็นเหมือนสนลู่ลม ถ้าลมแรงสองทาง จะลู่ไปทางใด และการไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่งนั้นไทยอาจจะต้องตีความใหม่ว่าอะไรคือความเป็นกลาง การไม่เลือกข้างนั้นแปลว่าเราเลือกข้างไปแล้วหรือไม่

 

ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘ทิศทางเศรษฐกิจไทย’ โดยเริ่มต้นที่คำถามว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรหลังการเลือกตั้ง โดยโจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่มีหลายเรื่องให้ตัดสินใจ เรื่องที่ 1 คือภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้ลดลงตามเป้าหมายที่น่าพอใจหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวหรืออาจถดถอยก็อาจจะกระทบแรงกว่าที่คาดไว้ จึงอาจเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง

 

เช่นเดียวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเช่นกัน ขณะที่เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของภาคการผลิตและส่งออก แต่ยังมีข้อดีที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จึงมาช่วยชดเชยเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง ฉะนั้นถ้าประเทศไทยปลดล็อกเรื่องการท่องเที่ยวได้ดี จะมีแรงส่งให้ก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้

 

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจเห็นการปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยจะปรับมาอยู่ที่ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบและภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 โจทย์สำคัญจึงยังต้องทำให้ประชาชนมีรายได้เพื่อมาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างต่อเนื่อง และหวังว่าการปลดล็อกเรื่องท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยประเด็นนี้ได้ดีขึ้นเช่นกัน

 

“ความท้าทายของโจทย์ในข้อนี้อาจจะไม่ใช่ว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เท่าไร แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรที่ทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ผ่านก้อนวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถวิ่งได้อีกครั้งเมื่อทุกอย่างจบลง ถือว่าเป็นชัยชนะที่ดีน่าพอใจในระดับหนึ่ง” กอบศักดิ์กล่าว

 

กอบศักดิ์กล่าวว่า ความท้าทายเรื่องที่ 2 คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ปัจจุบันยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรวดเร็วมาก เรียกว่าก้าวกระโดดยิ่งกว่าทวีคูณ ดังนั้นประเทศไทยต้องก้าวให้ทันกับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่นี้

 

เรื่องต่อมาคือสถานการณ์เงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไปที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ มาที่ประเทศไทยบ้างแต่เป็นส่วนน้อย โจทย์นี้จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อสร้างเสน่ห์ให้ประเทศไทยน่าดึงดูดให้เข้ามาลงทุน ประเด็นนี้อาจจะไม่เห็นผลลัพธ์ในทันที แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อสร้างโรงงาน สร้างนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่การผลิตต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน หากประเทศไทยไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนเหล่านี้ได้ เราจะตกขบวนในอนาคต และขีดความสามารถการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนจะเปลี่ยนไป

 

สุดท้ายคือเรื่องความขัดแย้งในสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้แต่ละประเทศเลือกข้าง ซึ่งในมุมมองของตนนั้นเห็นว่าการเลือกข้างใดข้างหนึ่งอาจไม่ใช่คำตอบ แต่การเลือกเป็นกลางน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ทั้งเชื่อว่าในอนาคตประเทศที่เลือกเป็นกลางน่าจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ แต่จะมีคุณมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องกำหนดบทบาทและการวางตัวให้ชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ของประเทศไทยในระยะยาว 20 ปีข้างหน้าด้วย

 

“จากโจทย์ทั้งหมดนี้ ความยากคือตอนนี้เรายังไม่เห็นหน้าตาที่ชัดเจนของรัฐบาล และด้วยโครงสร้างของการเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งจะต้องจัดสรรเกี่ยวกับการดูแลกระทรวงต่างๆ ดังนั้นนโยบายเศรษฐกิจจึงอาจไม่มีเอกภาพมากเพียงพอ เป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไรต่อไป” กอบศักดิ์กล่าว

 

ปิดท้ายด้วย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘ทิศทางสังคมไทย’ ว่าในปัจจุบันสังคมไทยก้าวหน้าไปมาก จากสถิติเพื่อสำรวจความเห็นว่ากฎหมายควรยอมรับการสมรสคนเพศเดียวกันหรือไม่เมื่อปี 2558 มีคนเห็นด้วยเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ในปี 2565 มีคนเห็นด้วยมากถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับการสำรวจความเห็นว่าเพศที่ 3 ควรเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ ในปี 2562 มีคนเห็นด้วยประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2565 มีคนเห็นด้วยราว 64 เปอร์เซ็นต์ จาก 2 สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีความก้าวหน้า และยอมรับความหลากหลายในสังคมมากขึ้น

 

สำหรับทิศทางสังคมไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า การจ้างงานฟื้นตัวหลังจากที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของไทยติดลบ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 จำนวนคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.29 พันคน และปรับลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันมีคนว่างงานอยู่ที่ 1.05 พันคน

 

ในขณะที่อัตราการจ้างงานฟื้นตัว แต่ค่าจ้างขั้นต่ำยังต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภาพ ราคา และค่าจ้างขั้นต่ำ จนนำมาสู่วลีเด็ดว่า ‘เงินเดือนใช้หนี้ โอทีใช้กิน’ โดยค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยเริ่มต้นที่ 300 บาทมาตั้งแต่ปี 2556 และปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำและระยะเวลาเกือบสิบปี พบว่ามีอัตราการปรับขึ้นอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถือว่าขึ้นน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ลูกจ้างควรจะได้รับ

 

“ค่าแรงขั้นต่ำควรอย่างน้อย 380 บาท ที่ควรจะได้ ก็เรียกได้ว่าอาจจะยังต่ำไปเมื่อเทียบกับนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ 450 หรือ 600 บาท หรือถ้าจะรวมอัตราเงินเฟ้อในปีนี้เข้าไปด้วย ก็น่าจะได้อยู่ที่ 390 บาทต่อวัน รายได้ขั้นต่ำที่ควรจะเป็นขั้นต่ำจริงๆ ไม่ควรต่ำกว่านี้” สมเกียรติกล่าว

 

สมเกียรติกล่าวว่า จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเชิงของมูลค่า คือจาก 14 ล้านล้านบาท ไล่ต่อเนื่องมาจนถึง 15 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับ GDP สัดส่วนไม่ค่อยเพิ่มขึ้นเร็วมากหนัก เพราะ GDP ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และเมื่อเร็วๆ นี้ ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลสถิติและนิยามหนี้สินครัวเรือนใหม่ให้ครอบคลุมหนี้ 4 กลุ่ม

 

คือหนี้ กยศ. หนี้ประกอบธุรกิจ หนี้การเคหะแห่งชาติ และหนี้พิโกไฟแนนซ์ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 16 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 91 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ในภาพรวมก็ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

 

“เมื่อหนี้ทะยานสูงขึ้น คนก็มักจะหาทางไต่เต้าทางเศรษฐกิจสังคมยากขึ้น และเราก็จะเห็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นทุกๆ ต้นเดือนและกลางเดือน คือระบบ Online Payment หรือระบบโอนเงินออนไลน์ล่ม จากการศึกษาพบว่าสาเหตุเกิดจากการเสี่ยงโชค ซื้อหวย เนื่องจากคนมีรายได้ไม่พอ และเมื่อการขยันทำงานก็ยังยากสู่การสร้างเนื้อสร้างตัวได้ วิธีรวยทางลัดก็คือการเสี่ยงโชค คำถามว่าทำไมไม่ปรับปรุงระบบโอนเงินให้รองรับการใช้จำนวนมาก เพราะการใช้จำนวนมากเกิดขึ้นเพียงแค่สองวันและไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่คุ้มกับการลงทุน” สมเกียรติกล่าว

 

สมเกียรติฉายภาพการมองสภาวะสังคมไทยจากการเสียชีวิต พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เกิดจากโรคไม่ติดต่อ เช่น มะเร็ง หลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ กลุ่มที่ 2 เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และกลุ่มที่ 3 เป็นโรคติดต่อที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ในสถานการณ์ทั่วไปจะไม่ได้มีจำนวนมาก การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อของคนไทยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต แต่เมื่อมองลึกลงไปก็จะพบว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นเยอะ

 

โดยสาเหตุมาจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น มะเร็งปอด ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 3.1 หมื่นคน และเสียปีสุขภาวะ 6.6 แสนต่อปี แม้ว่าจะไม่เสียชีวิตแต่ก็นับเป็นมูลค่าการเสียหายหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเครียด เสี่ยงซึมเศร้า จนถึงเสี่ยงฆ่าตัวตาย ชี้ให้เห็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

สมเกียรติกล่าวถึงในด้านความปลอดภัย จากข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ารายงานการก่ออาชญากรรมทางทรัพย์หรือทางร่างกายมีมากขึ้น นอกจากนี้จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและมีผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง ตัวอย่างเช่นกรณีข่าวรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ขับรถชนแพทย์หญิงเสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ นอกจากนั้นผู้กระทำผิดยังเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

 

ประเด็นต่อมาที่บ่งชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงคือ จำนวนเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 40 เปอร์เซ็นต์ ร้องเรียนเรื่องการบริการ ในเรื่องเสริมความงาม การโฆษณาเกินจริง การกู้เงินทางออนไลน์ นอกจากนี้เรื่องการผูกขาดในธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่ทำอะไรจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และรุนแรงมากขึ้น เช่น การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ทำให้ราคาค่าบริการแพงขึ้น การควบรวมโรงพยาบาลที่ทำให้ค่ารักษาแพงขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการป้องกันไม่ให้รัฐและนายทุนเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน

 

สมเกียรติกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและพลังงานสังคมว่า ประเทศที่จะพัฒนาได้สมดุลจะต้องมีอำนาจรัฐและพลังสังคมที่สมดุลกัน ถ้ามีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง การขับเคลื่อนหรือการพัฒนามักจะไม่ประสบผลสำเร็จ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน มีอำนาจรัฐที่แข็งแกร่ง แต่ในส่วนเสรีภาพของประชาชนหรือพลังสังคมนั้นถูกจำกัด ขณะที่ประเทศอินเดีย พลังงานสังคมแข็งแรงมาก มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันอำนาจรัฐไม่แข็งแรงมากพอ

 

โจทย์ของสังคมไทยจะต้องสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาทัดทานรัฐและทุน ประเทศที่จะพัฒนาได้อย่างสมดุลจะต้องมีรัฐที่เข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ และรัฐจะต้องตอบสนองต่อความต้องการคนในสังคม อย่างเรื่อง PM2.5 ที่เกิดขึ้นมาหลายเดือน แต่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นี่คือตัวอย่างของรัฐที่ไม่มีความเข้มแข็งและไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้

 

“สังคมแยกจากเศรษฐกิจและการเมืองไม่ได้ สังคมจะพัฒนาต่อไปได้ต้องทำให้สังคมเข้ามาควบคุมรัฐ ซึ่งเงื่อนไขที่จำเป็นคือต้องให้กลไกประชาธิปไตยทำงาน โดยรูปธรรมในระบบรัฐสภา ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนควรมีอำนาจเต็มที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ตัวแทนใครไม่รู้อย่าง ส.ว. เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนตำแหน่งประธานสภาก็เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองไปพูดคุยกัน ขออย่าให้มีอำนาจข้างนอกเข้ามาแทรก สังคมจึงจะสามารถควบคุมรัฐได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เดินไปถูกที่ถูกทาง” สมเกียรติกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X