×

รำลึก 26 ปี พฤษภา ’35 ประชาชนต้านทหารสืบทอดอำนาจผ่าน รธน. ที่เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก

17.05.2018
  • LOADING...

17 พฤษภาคม 2561 ครบรอบ 26 ปีของเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองถึงการที่รัฐบาลในขณะนั้นใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนจนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ หรือต่อมาเรียกว่า พฤษภาประชาธรรม

 

ช่วงเวลา 26 ปี คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อาจไม่มีประสบการณ์หรือความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว

 

“ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์ที่เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวว่า เพราะความเป็นทหารที่เรามีคติประจำใจว่าเรายอมเสียสละได้แม้ชีวิตเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดความจำเป็นที่เราต้องทำเพื่อประเทศชาติ เพราะฉะนั้นการเสียชื่อเสียง เสียสัตย์วาจาก็อาจจำเป็น” พลเอก สุจินดา คราประยูร กล่าว

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 พลเอก สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญ ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจาก พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการกล่าวถ้อยคำประกาศต่อประชาชนว่าจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน

 

(FRANCIS SILVAN / AFP)

 

7 พฤษภาคม 2535 พลตรี จำลอง ศรีเมือง นำประชาชนเคลื่อนจากรัฐสภามาปักหลักที่สนามหลวง ผู้ชุมนุมปักหลักจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 จึงประกาศหยุดชุมนุมชั่วคราวและนัดชุมนุมใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 วันเดียวกัน ฝั่งรัฐบาลจัดงานคอนเสิร์ตช่วยภัยแล้งที่สนามกีฬากองทัพบก โดยระดมศิลปินชั้นนำหวังดึงคนไม่ให้ร่วมชุมนุม ขณะที่ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้พลเอก สุจินดา ลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช. สังคมไทยได้เห็นการลุกขึ้นมารวมตัวของชนชั้นกลางจนเป็นที่มาของชื่อเรียกที่ว่าม็อบมือถือ

 

17 พฤษภาคม 2535 มีการนัดชุมใหญ่ที่สนามหลวง ประชาชนมาชุมนุมนับแสนคน ได้มีการส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้ามาตรึงการชุมนุม ราว 3 ทุ่ม ฝ่ายผู้ชุมนุม 3 แสนคนได้เคลื่อนออกจากสนามหลวงไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกฝ่ายทหารสกัดกั้น มีการปะทะกันเล็กน้อย พลตรี จำลอง ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ คืนนั้นมีกลุ่มบุคคลบุกเผาสถานีตำรวจนางเลิ้ง

 

เหตุการณ์ปะทุเป็นความรุนแรงในวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 เวลากลางดึกเริ่มมีการยิงปืนของทหาร ช่วงเช้าเหตุการณ์สงบลง การชุมนุมดำเนินไปจนถึงบ่ายสาม พลเอก สุจินดา ส่งกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม จับประชาชนนับหมื่นไปขังที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน พลตรี จำลอง ถูกจับด้วย เหตุการณ์ขยายตัวเป็นการนองเลือดในวันดังกล่าว ประชาชนยึดเอาโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นฐาน ฝ่ายทหารยังส่งกำลังเข้าสลายที่โรงแรมรัตนโกสินทร์อย่างโหดเหี้ยม

 

(PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP)

 

สื่อโทรทัศน์ขณะนั้นเป็นเครื่องมือรัฐบาล ไม่นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีเพียงสื่อสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอข่าวเหล่านั้นโดยใช้โรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นที่พักเพื่อติดตามสถานการณ์

 

รัตนา จีนกลาง หัวหน้าข่าวประชาชาติซึ่งติดตามทำข่าวในขณะนั้น ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ยังจำภาพเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดี “ตอนนั้น 2-3 ทุ่มที่อยู่ในโรงแรมก็เกิดอาการช็อกเหมือนเราดูหนังสงคราม เรามองเห็นได้รอบทิศทาง ยุคนั้นนักข่าวยังไม่มีกล้องเป็นของตัวเอง ทหารเดินมาเป็นระนาบแล้วระดมยิง เท่าที่เห็นคนที่มาก็หัวแตก มีลักษณะของแข็งฟาดจนเลือดโชกเข้ามาปฐมพยาบาลกันที่ด้านล่างโรงแรม มีคนบาดเจ็บจำนวนมากเข้ามาในโรงแรม”

 

19 พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ตึงเครียดทั่วกรุง เมื่อฝ่ายตำรวจไล่ล่าสังหารมอเตอร์ไซค์ที่ต้องสงสัยว่าอยู่ฝ่ายประท้วง การคัดค้านพลเอก สุจินดา ยังมีการชุมนุมประท้วงต่อไป โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ผู้ชุมนุมที่รอดจากการปราบปรามในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม เคลื่อนขบวนเข้ามาชุมนุมยังมหาวิทยาลัยรามคำแหงท่ามกลางข่าวลือว่าอาจมีการล้อมปราบตลอดทั้งคืน

 

20 พฤษภาคม 2535 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้นำพลเอก สุจินดา และพลตรี จำลอง เข้าเฝ้าฯ เป็นกรณีพิเศษ การชุมนุมที่รามคำแหงจึงยุติลง ความสงบกลับคืนมา ในวันต่อมาผู้ชุมนุมถูกปล่อยตัว แต่การประท้วงเงียบให้พลเอก สุจินดา ลาออกยังดำเนินอยู่ ข้าราชการ พนักงานบริษัทห้างร้านติดปลอกแขนดำไว้ทุกข์ผู้เสียชีวิต

 

(PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP)

 

23 พฤษภาคม 2535 พลเอก สุจินดา ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดจากการชุมนุม ซึ่งหมายความว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อความรุนแรงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วันรุ่งขึ้น พลเอก สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทางโทรทัศน์

 

และนี่คือบทเรียนจากกรณีที่ชนชั้นนำใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด และจะยิ่งทำให้การรักษาอำนาจนั้นยิ่งไม่อาจเป็นไปได้ โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจของ รสช. โดยเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

 

ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงษ์ กล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างมาก เพราะถึงแม้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะลงหลักอยู่ได้ไม่นาน แต่สังคมไทยก็ไม่มีรัฐบาลเผด็จการใดครองอำนาจได้อยู่นานเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • หนังสือ สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย โดย ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
  • มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับเดือนพฤษภาคม ปี 2535
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X