วันนี้ (10 พฤษภาคม) พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และคณะผู้บริหารบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) ร่วมแถลงข่าวและลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสาร Pyrolysis Gasoline (แก๊สโซลีน) ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นเวลาประมาณ 10.30 น. ของวันที่ 9 พฤษภาคม ในขั้นต้นที่เกิดเหตุทางบริษัทเอกชนได้ปฏิบัติตามแผนความปลอดภัยที่ได้มีการซักซ้อมของตนเอง ซึ่งในส่วนนี้ถ้าโรงงานมีแผนรับมือได้ ทางการนิคมฯ จะให้โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมเหตุที่เกิด แต่หากเหตุการณ์ลุกลามเพิ่มขึ้นก็จะมีการดำเนินการลำดับต่อไป ซึ่งจะต้องใช้หน่วยงานทั้งจากทางการนิคมฯ และเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยเข้ามาระงับเหตุด้วย
ตามรายงานที่ได้รับในช่วงเช้าหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ของบริษัทสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว แต่ด้วยความร้อนในช่วงตอนกลางวันทำให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น ประกอบกับเพลิงไหม้ครั้งแรกตัวฝาของถังสารเคมีปิดอยู่ ทำให้เกิดปฏิกิริยาด้านในและเกิดการปะทุในรอบที่สอง ทางเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงต้องระดมกำลังเข้าดับเพลิง
วีริศกล่าวต่อว่า ระยะเวลาที่มีการควบคุมเพลิงจนถึงปัจจุบันที่ยังอยู่ในขั้นของการเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามวิธีการอย่างครบถ้วนและเชื่อว่าเป็นการดับไฟที่มีประสิทธิภาพ เพียงแต่ปริมาณสารเคมีมีจำนวนมาก จึงอาจจะสร้างความกังวลต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ แต่ขอยืนยันว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยความสามารถของทีมดับเพลิงจากทุกภาคส่วน
ขณะนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพยายามควบคุมความร้อน โดยใช้โดรนขึ้นบินในพื้นที่เพื่อวัดอุณหภูมิตลอดเวลาไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูง เจ้าหน้าที่ภาคพื้นใช้วิธีการฉีดน้ำหล่อเย็นให้อุณหภูมิต่ำตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดการปะทุ และใช้โฟมฉีดที่ผิวหน้าด้านบนสารเคมีเพื่อให้แน่ใจว่าสารเคมีที่หลงเหลือจะไม่เป็นปัญหา
ด้านพิมพ์ภัทรากล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์เพื่อควบคุมสถานการณ์ และได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลความปลอดภัยของประชาชนให้มากที่สุดและคืนพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ประเด็นแรกที่ตนอยากจะสื่อสารถึงประชาชนคือ ต้องกราบขอโทษในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตนต้องกราบขอโทษพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบบริเวณดังกล่าวและทางจังหวัดระยองที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ เราทุกคนไม่ได้อยากให้เกิด แต่ในเมื่อเกิดเหตุแล้วจากนี้จึงต้องวางแผนรับมือให้ดีทั้งสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคตที่จะต้องเฝ้าระวัง ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสามารถควบคุมเหตุเพลิงไหม้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดทุกอย่าง
ทางผู้แทนของบริษัท SCG ได้เข้ามาพูดคุยถึงมาตรการเยียวยาที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ปฏิบัติงานที่บาดเจ็บสาหัส ผู้เสียชีวิต และประชาชนโดยรอบ โดยทางเอกชนยืนยันว่าจะมีการเยียวยาในมาตรการที่สูงที่สุด รวมทั้งจะสนับสนุนการตรวจวัดคุณภาพอากาศหลังจากนี้ไปอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่สภาวะที่ปลอดภัย
พิมพ์ภัทรากล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำอีก แต่ขอเวลาให้บริษัทเอกชนได้สรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นว่าสาเหตุมาจากอะไร เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเราสามารถคืนพื้นที่ให้ประชาชนให้กลับเข้าไปอาศัยในบ้านของตัวเองได้อย่างปลอดภัย
ส่วนที่หลายท่านมองว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดแล้ว เกิดอีก เกิดซ้ำซาก ตนขอชี้แจงว่า การเกิดเหตุการณ์แบบนี้แต่ละครั้งมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ขอให้ทางเอกชนได้สรุปประเด็นสาเหตุเพื่อตอบสังคมอีกครั้งหนึ่ง
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท SCG กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นต้องชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ที่ขึ้นไปบนถังสารเคมีเพื่อปฏิบัติงานไม่ได้ขึ้นไปเพื่อปิดวาล์วถังสารเคมี แต่เป็นการขึ้นไปด้านบนเพื่อเช็กระดับสารเคมีในถังว่าตัวเลขตรงกันกับเครื่องมือที่ติดตั้งอยู่หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญการขึ้นไปปฏิบัติงานโดยตรง
ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดมีความชำนาญและทำงานมาเป็นระยะเวลานาน ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงในการเกิดเพลิงไหม้ในถังสารเคมี จนเป็นเหตุให้มีผู้ปฏิบัติงานเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บสาหัส
ทางบริษัท SCG จะมีมาตรการชดเชยเยียวยาดูแลผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตขั้นสูงสุด ในส่วนของครอบครัวผู้เสียชีวิต บุตรหลานจะได้รับการศึกษาจนถึงระดับสูงสุดและมีการช่วยเหลือเงินที่จำเป็นในทุกด้าน
ส่วนเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในครั้งที่ผ่านมาเกิดในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงาน และทางบริษัทได้ส่งผู้รับเหมาเข้าไปทำงาน แต่เกิดความผิดพลาดในส่วนของผู้รับเหมา ตั้งแต่นั้นทางบริษัทจึงเพิ่มมาตรการว่าใครจะเข้าพื้นที่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ส่วนในครั้งนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าสาเหตุมาจากสิ่งใด ทั้งนี้ต้องขอโทษอีกครั้งที่ทำให้เกิดผลกระทบจนมีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และกระทบกับชุมชนทั้งหมด
ธรรมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวถังสารเคมีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มีความจุอยู่ที่ประมาณ 9,000 ลูกบาศก์เมตร ณ เวลาที่เกิดเหตุมีสารเคมีอยู่ประมาณ 7,000 ลูกบาศก์เมตร ขณะนี้คาดการณ์ว่ามีสารเคมีหลงเหลือไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร หลังจากที่ควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
สารเคมีดังกล่าวมีจุดระเหยอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส และมีจุดวาบไฟอยู่ที่ 300 องศาเซลเซียส ฉะนั้นหากปล่อยไว้โดยไม่ฉีดโฟมควบคุมด้านบนสารดังกล่าว อาจจะระเหยออกได้ หรือหากไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ อาจจะมีการติดไฟได้ ซึ่งเป็นไปได้ยากแล้วใน ณ ขณะนี้
ภายหลังการแถลงข่าวเวลา 12.30 น. ทีมข่าว THE STANDARD ได้ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุถังเก็บสารเคมีเพลิงไหม้ เพื่อสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นร่วมกับทีมคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยยังคงต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยงรักษาอุณหภูมิของตัวถังที่เกิดเพลิงไหม้และถังใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการฉีดโฟมเข้าไปด้านในถัง ซึ่งปัจจุบันฝาถังได้ระเบิดออกไปแล้ว เพื่อให้โฟมอยู่บนผิวหน้าของสารเคมีที่หลงเหลืออยู่ป้องกันการระเหยออก