วันนี้ (15 กันยายน) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีวาระการลงมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. โดยมี ศุภชัย โพธิ์สุ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม
ศุภชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ในการประชุม ส.ส. เมื่อวานนี้ (15 กันยายน) ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ 1 ฉบับ รวมกับร่างพระราชบัญญัติในทำนองเดียวกันอีก 3 ฉบับ โดยสมาชิกได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ทั้งรัฐมนตรีได้ตอบข้อชี้แจงไปแล้วในที่ประชุม และปิดการอภิปรายในเวลาต่อมา โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาพิจารณาต่อในการประชุม ส.ส. วันนี้ ประธานของที่ประชุมในขณะนั้นคือ ชวน หลีกภัย จึงได้สั่งปิดประชุมและเลื่อนการลงมติมาในการประชุมวันนี้
ทั้งนี้ ผลการลงมติในวาระที่ 1 ปรากฏว่าที่ประชุม ส.ส. มีมติรับหลักการในร่าง พ.ร.บ. ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 368 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จำนวน 25 คน ประกอบด้วยสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีจำนวน 5 คน และสัดส่วนจากพรรคการเมืองจำนวน 20 คน โดยแบ่งออกเป็นพรรคเพื่อไทยจำนวน 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 5 คน, พรรคภูมิใจไทย 3 คน, พรรคก้าวไกล 2 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และกำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วันหลังจากวันที่รับหลักการ
โดยมีรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ นพ.ทศพร เสรีรักษ์, สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด, เอกชัย ไชยนุวัติ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม สัดส่วนพรรคก้าวไกล, สมชาย หอมลออ สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์
พล.อ. กฤษณะ บวรรัตนารักษ์, เพชรดาว โต๊ะมีนา สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย และ อังคณา นีละไพจิตร สัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย
จากนั้น ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นเสนอให้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดย สิระ เจนจาคะ เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ แทนร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ด้านสิระ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ และผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ได้ลุกขึ้นเสนอให้ใช้ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดย ครม. เป็นหลัก
ทำให้ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต้องลุกขึ้นชี้แจงในที่ประชุม ส.ส. ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีผู้เสนอเข้ามาหลายร่าง ซึ่งสามารถพูดคุยกันได้ว่าจะนำร่างใดเป็นร่างหลัก แต่ขอยืนยันว่าร่างที่ดีที่สุดคือร่างของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ
ท้ายที่สุดภายหลังการเจรจาร่วมกัน สิระได้ลุกขึ้นเสนอในที่ประชุม ส.ส. ว่าสรุปแล้วให้นำร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดย ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระที่ 2 ทำให้ณัฐวุฒิ ผู้เสนอให้ใช้ร่างของคณะกรรมมาธิการการกฎหมายฯ จำเป็นที่จะต้องถอนร่างที่เสนอออกไป