×

ศาลยกฟ้องแกนนำ-แนวร่วม นปช. 24 คน คดีก่อการร้าย ชี้เป็นการชุมนุมทางการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
14.08.2019
  • LOADING...
การชุมนุมทางการเมือง

วันนี้ (14 ส.ค.) ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี นปช. ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายแพทย์เหวง โตจิราการ, ก่อแก้ว พิกุลทอง, ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก, อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำและแนวร่วม นปช. รวม 24 คน เป็นจำเลยที่ 1-24 

 

ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, 135/2, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวม 6 ข้อหา กรณีพวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง 20 พฤษภาคม 2553 เพื่อกดดันต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้ประกาศยุบสภา

 

โดย จตุพร พรหมพันธุ์ เปิดเผยว่าตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการต่อสู้คดี วันนี้เดินทางมาด้วยหัวใจ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ ซึ่งวันนี้มีเพียงข้อหาเดียวคือการก่อการร้าย โทษคือการประหารชีวิต ไม่มีโทษอย่างอื่น มีเพียงตายกับไม่ตาย ซึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นจริง 

 

พร้อมย้ำว่าขณะนี้ผ่านขั้นตอนการพูดคุยกับสมาชิกมาหมดแล้ว ตอนนี้เป็นขั้นตอนการเตรียมหัวใจและมีสติพร้อมน้อมรับชะตากรรม โดยเชื่อว่าจำเลยทุกคนจะเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบ และแม้ว่าจะมาไม่ครบ ตนก็จะร้องขอศาลให้อ่านคำพิพากษาลับหลัง

 

ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่าตลอดเวลาฝ่าย นปช. ได้ต่อสู้คดีและรวบรวมพยานหลักฐานแสดงต่อศาลอย่างครบถ้วน รวมถึงฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นพยายามสร้างหลักฐานเท็จเพื่อให้จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และพยานโจทก์ก็ไม่ได้ระบุตัวผู้กระทำผิด ซึ่งส่วนตัวเชื่อมั่นในความจริง และยืนยันมาตลอดว่าการเคลื่อนไหวของ นปช. ในปี 2553 เพียงให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ และได้แสดงต่อศาลไปครบถ้วนแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ตนเองไม่ได้รู้สึกว่าข้อกล่าวหาคดีก่อการร้ายอยู่บนข้อเท็จจริง เพราะไม่มีเจตนาก่อการร้าย แม้จะมีโทษเดียวคือการประหารชีวิต แต่ยังเชื่อมั่นในความตั้งใจในขณะนั้น แต่หากกระบวนการพิจารณาของศาลมีคำพิพากษาอย่างไรก็พร้อมเคารพและน้อมรับ 

 

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาได้พิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ใช้สิทธิเรียกร้องตามเสรีภาพ ไม่ได้เป็นการก่อการร้าย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X