บล.เอเซีย พลัส เปิดรายชื่อ 23 กองทุนไทยที่มีการลงทุนเกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ Credit Suisse พบกองทุนที่ลงทุนสูงสุดมีสัดส่วนการลงทุนเพียง 5% พร้อมประเมินผลกระทบจำกัด เหตุลงทุน AT1 มีสัดส่วนต่ำ แถมมีการกระจายการลงทุนค่อนข้างดี
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากประเด็นร้อนแรงที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (FINMA) ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือธนาคาร Credit Suisse ผ่านการเข้าซื้อกิจการโดย UBS โดยออกมาตรการช่วยเหลือทั้งเรื่องการช่วยรับผลขาดทุนที่เกิดขึ้น และการให้วงเงินกู้ขนาดใหญ่ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องของ UBS รวมทั้งอีกมาตรการหนึ่งที่เป็นประเด็นคือ การลดมูลค่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) มูลค่า 1.60 หมื่นล้านฟรังก์สวิส โดยหน่วยงาน FINMA ให้เหตุผลว่า Credit Suisse ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ (Viability Event) ซึ่งหุ้นกู้ AT1 คิดเป็นมูลหนี้ทั้งหมดของ Credit Suisse ที่ 20% นั้น
จากข้อมูลเบื้องของกองทุนตราสารหนี้ในไทยที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เฉพาะที่มีการเปิดเผยข้อมูลและมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความข้องกับตราสารหนี้ของ Credit Suisse พบว่า มีจำนวน 23 กองทุน โดยลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ (Master Fund) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลไม่มีการแยกระหว่างประเภทของหุ้นกู้ที่เป็น AT1 หรือไม่ โดยกองทุนที่มีสัดส่วนที่มีหุ้นกู้ของ Credit Suisse สูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 5% ของการลงทุนทั้งหมด
โดยรายชื่อ 23 กองทุนที่เอี่ยวลงทุนหุ้นกู้ Credit Suisse มีดังนี้
ผลกระทบต่อการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ไทย
เงื่อนไขที่ FINMA ได้ชี้แจง เป็นเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่เป็น AT1 ทุกตัว รวมถึงหุ้นกู้ของธนาคารต่างๆ ทุกธนาคารในยุโรป ดังนั้นจึงสร้างความกังวลมาถึงหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยที่มีลักษณะเป็น AT1 ตัวอย่างเช่น BBL, KBANK, KTB, TTB และ MINT จึงเกิดความกังวลหากเกิดเหตุการณ์เข้าช่วยเหลือจากทางการแบบกรณีของ Credit Suisse นั้นก็อาจถูก Trigger Event ได้
ทั้งนี้ กองทุนตราสารหนี้ไทยที่ไปลงทุนในหุ้นกู้ AT1 ของ Credit Suisse ผ่านกองทุน Master Fund จะมีผลขาดทุนเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากการบริหารของกองทุนมักมีการกระจายลงทุนในตราสารหนี้จำนวนมาก ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากปัญหาเฉพาะจากการบริหารงานผิดพลาดตั้งแต่ในอดีตสะสมมา จึงคาดว่าการตัดจำหน่ายมูลค่าเป็นศูนย์มีผลค่อนข้างจำกัด
อีกทั้งธนาคารกลางของยุโรป (ECB) และอังกฤษ (BOE) ได้ออกมาเรียกความเชื่อมั่น โดยให้ความเห็นว่า ผู้ถือหุ้นต้องรับผลกระทบก่อนทั้งจำนวน ส่วนที่เหลือจึงค่อยไปกระทบต่อหุ้นกู้ AT1 พร้อมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาให้ความเห็นเรื่องเกี่ยวกับความกังวลต่อสถาบันการเงินตั้งแต่กรณีธนาคาร SVB ในสหรัฐฯ ว่าผลกระทบต่อระบบการเงินไทยมีจำกัดและการกำกับดูแลอยู่ในระดับที่เข้มงวด
ประเด็นเรื่องผลกระทบต่อตลาด ในระยะสั้นมีการผันผวนของราคาสูง อาจเป็นโอกาสการเข้าซื้อ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่อยู่ในตลาดรองที่ราคาตกลงมาเพราะความกังวลดังกล่าว แต่ในระยะยาว ความน่าสนใจและความเชื่อมั่นในการลงทุนต่อหุ้นกู้ AT1 อาจลดลง เนื่องจากไม่คุ้มความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับเงินต้น
อีกทั้งหากเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงกรณีไม่เรียกตั๋วคืนเมื่อครบกำหนดต้องลดลงตาม เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ออกตราสารอาจไม่ใช้สิทธิ์ในการไถ่ถอนหุ้นกู้คืนได้ หากต้นทุนในการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ต้องมีดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อจูงใจและแลกกับความเสี่ยงที่จะถูก Write-Offs ทั้งจำนวน แต่ดอกเบี้ยในการต่ออายุตั๋ว (Reset Rate) ต่ำกว่า ผู้ถือตราสารจึงต้องพิจารณาถึง ความเสี่ยงในการไม่ถูกไถ่ถอนคืนและกระทบต่อราคาของหุ้นกู้ดังกล่าวได้
ผู้บริหาร บลจ. ชี้ ผลกระทบน้อย
แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ได้รับรู้ข้อมูลว่ามีกองทุนไทยจำนวน 23 กองทุนที่มีการลงทุนเกี่ยวข้องในตราสารหนี้ของ Credit Suisse เช่นเดียวกัน แต่มีสัดส่วนที่มีการลงทุนในตราสารลักษณะ AT1 ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำมาก เพราะส่วนที่เหลือจะเป็นตราสารหนี้ที่มีสิทธิ์เรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ได้ตามเงื่อนไข จึงคาดว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับกองทุนของไทยที่มีลงทุนตราสารหนี้ AT1 ของ Credit Suisse ที่น้อยมาก
“ปัญหาที่เกิดขึ้นของ Credit Suisse เป็นปัญหาเฉพาะตัวจากสาเหตุที่ผลประกอบย่ำแย่ จึงไม่น่าลุกลามไปยังตราสารชนิดเดียวกันของแบงก์อื่นๆ ที่มีฐานะการเงินที่แข็งแรงมาก ส่วน บลจ.ไทย ที่ลงทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับ AT1 ที่กลายเป็นศูนย์มีสัดส่วนที่น้อยมาก ส่วนบอนด์ประเภทอื่นๆ ที่มีสิทธิ์เหนือกว่าทาง UBS จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป ไม่ได้ถูกกระทบ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หุ้นธนาคารหลายแห่งในยุโรปหยุดการซื้อขายชั่วคราว หลังราคาหุ้นปรับตัวลงตอบรับความเสี่ยงร้ายแรงของ Credit Suisse ที่ดิ่งลง 25%
- SVB ล่มเป็นเหตุ ‘Moody’s’ หั่น Outlook ระบบธนาคารสหรัฐฯ เป็นลบ หวั่นเสถียรภาพสั่นคลอน
- รอดหวุดหวิด! ‘ปีเตอร์ ธีล’ ผู้บริหารกองทุน Founders Fund ถอนเงินฝากของกองทุน ออกมาจาก ‘SVB’ ได้ทัน ก่อนธนาคารปิดตัว
อ้างอิง:
- ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน (Prospectus), ข้อมูลแสดงหลักทรัพย์การลงทุนของกองนั้น และฐานข้อมูลจาก Bloomberg โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลเป็นของวันที่ 31 ธันวาคม 2022