วันนี้ (11 พฤศจิกายน) สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม 23 องค์กรนิสิต นักศึกษา เรื่อง ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุช่วงหนึ่งว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคำร้องของ ณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีการปราศรัยการชุมนุมทางการเมืองในปลายปี พ.ศ. 2563 ของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ระบุว่า “การชุมนุมและการปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้งสามมีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการกัดกร่อนบ่อนทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการปลุกระดมก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม เป็นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือเพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าด้วยการพูด การเขียน หรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
“ผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่ปฏิรูป ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสาม รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” นั้นองค์กรนักศึกษาทั้ง 18 แห่ง ขอปฏิเสธกระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมและคำวินิจฉัยของศาล โดยขอยืนยันว่า 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ถูกร้องทั้งสามนั้น เป็นข้อเสนอที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยคงอยู่สถาพรในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม สมกับพระเกียรติยศที่สมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทรงดำรงไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ผู้ถูกร้องทั้งสามและผู้ชุมนุมเพียงหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา ปราศจากมลทินและข้อครหาที่จะทำให้พระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย นำมาสู่เหตุผลห้าประการในการขอปฏิเสธกระบวนการไต่สวนและวินิจฉัยของศาล ดังนี้
ประการแรก ผู้ถูกร้องทั้งสามท่านมิได้รับโอกาสขอไต่สวนเพิ่มเติมจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสู้คดีและแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อศาล ด้วยการสั่งงดการไต่สวนโดยอ้างว่าพยาน หลักฐาน ข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังยกคำร้องขอเบิกตัว อานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งขณะนี้ทั้งสองท่านยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ฉะนั้นจึงมิอาจเรียกได้ว่ากระบวนการไต่สวนในครั้งนี้เป็นกระบวนการอันสถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม
ประการที่สอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ยึดถือหลักการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ The King Can Do No Wrong พระมหากษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้ พระองค์จะทรงมีพระราชอำนาจในการกระทำอันใดจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เนื่องจากพระมหากษัตริย์จะต้องทรงดำรงพระองค์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและดำรงพระราชสถานะเป็นประมุขของประเทศ ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ จุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงถึงมูลเหตุ ช่วยส่งเสริมให้สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยธำรงไว้อย่างมั่นคงและสมพระเกียรติยศ
ประการที่สาม ถ้อยวลีของคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ในประเทศไทยนั้น ถูกปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 อันเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ดังนั้นเหตุผลการวินิจฉัยของศาลที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ได้บัญญัติให้เรียกระบอบการปกครองว่า ‘เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ จึงไม่อาจเชื่อถือได้
ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับสะท้อนถึงเจตนารมณ์ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด เพียงแต่ผู้ใช้อำนาจนั้นคือพระมหากษัตริย์ ผ่านกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ มิได้สะท้อนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเหตุผลการวินิจฉัยของศาลที่อ้างถึงประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยจึงไม่สมเหตุสมผล
ประการสุดท้าย การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการชุมนุมของผู้ถูกร้องและประชาชนชาวไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอันได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ปราศจากเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองของประเทศ มิใช่เป็นการกระทำอันก่อให้เกิดการรัฐประหารเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา
สำหรับองค์กรที่ร่วมลงชื่อ ได้แก่
- กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเยาวชนภาคเหนือตอนล่าง
- กลุ่มนิสิตพรรคชาวดิน
- คณะกรรมการกลางบริหาร องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (10 ตําแหน่ง)
- แนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย
- พรรคก้าวใหม่
- พรรคโดมปฏิวัติ
- พรรคป๋วยก้าวหน้า
- พรรคเสรีธรรมศาสตร์
- พรรคแสงโดม
- สภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
- สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สภานักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
- สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- สโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
- องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร
- องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- องค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
- องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน