×

คู่มือเลือกตั้ง 101: เลือกตั้งอินเดีย 2024 มีอะไรควรรู้

19.04.2024
  • LOADING...
คู่มือ เลือกตั้งอินเดีย 2024

อินเดีย ประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1.4 พันล้านคน เตรียมเปิดฉากการเลือกตั้งทั่วไปในวันพรุ่งนี้ (19 เมษายน) โดยถูกจับตามองว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดของชาวอินเดียในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งจะส่งผลกำหนดอนาคตและทิศทางของประเทศหลังจากนี้

 

ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเกือบ 1 พันล้านคนจะได้ใช้สิทธิตัดสินใจว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี วัย 73 ปี จะได้ครองตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3 และทำให้พรรคภารติยะ ชนะตะ หรือพรรคบีเจพี (Bharatiya Janata Party: BJP) ของเขาได้ขยายวาระครองอำนาจรัฐบาลต่อหรือไม่ หลังจากที่กุมบังเหียนมานานถึง 10 ปี 

 

โดยหากชนะ จะทำให้โมดีกลายเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีอินเดียที่มีความสำคัญที่สุดและครองตำแหน่งยาวนานที่สุด

 

และนี่คือรายละเอียดทั้งหมดของการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของอินเดียที่เราควรรู้

 

ระบบเลือกตั้งอินเดียเป็นอย่างไร?

 

ทุกๆ 5 ปี อินเดียจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือในชื่อท้องถิ่นว่าการเลือกตั้ง ‘โลกสภา’ (Lok Sabha) คือสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย 

 

การเลือกตั้งครั้งนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยมีผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมดถึง 969 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในปี 2019 ราว 150 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และรัสเซียรวมกัน

 

ประชาชนอินเดียจะได้ลงคะแนนเลือก สส. ทั้งหมด 543 ที่นั่ง ใน 543 เขต จาก 28 รัฐและ 8 ดินแดนสหภาพ (Union Territories) ทั่วอินเดีย

 

โดยพรรคที่ชนะเสียงข้างมากจะได้จัดตั้งรัฐบาลและแต่งตั้งหนึ่งในผู้สมัครให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

เลือกตั้ง 6 สัปดาห์ 

 

เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์อันกว้างใหญ่ของอินเดีย การลงคะแนนจึงไม่สามารถแล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว แต่จะแบ่งออกเป็น 7 ระยะในรัฐต่างๆ ซึ่งกินเวลารวมถึง 44 วัน (19 เมษายน – 1 มิถุนายน) และจะทราบผลการเลือกตั้งในวันที่ 4 มิถุนายน

 

หน่วยเลือกตั้งทั้งหมดมีจำนวนกว่า 1 ล้านหน่วย และมีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียมีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ 15 ล้านคนในการดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ทั้งนี้ แม้ว่าระยะเวลาเลือกตั้งจะค่อนข้างยาวนาน แต่อินเดียก็มีความภาคภูมิใจในการจัดการเลือกตั้งที่ทำให้แน่ใจว่า ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลแม้ในยอดภูเขาสูงสามารถลงคะแนนได้ โดยจุดที่เข้าถึงยากนั้นมีการจัดส่งเครื่องลงคะแนนเข้าไปด้วยม้าและช้าง และบางหน่วยเลือกตั้งก็ต้องส่งไปทางเรือเท่านั้น ซึ่งหน่วยเลือกตั้งที่สูงที่สุดในโลกอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 4,650 เมตร 

 

โดยการเลือกตั้งของอินเดียครั้งนี้ยังถือเป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่แพงที่สุดของโลก ซึ่งใช้งบประมาณจัดการเลือกตั้งสูงถึง 1.2 ล้านล้านรูปี หรือกว่า 5.2 แสนล้านบาท

 

นอกเหนือจากการลงคะแนนเลือก สส. ในบางรัฐ เช่น รัฐอานธรประเทศ, อรุณาจัลประเทศ, โอริสสา และสิกขิม ก็จะมีการจัดการรเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐไปพร้อมกันด้วย

 

ขณะที่มาตรการควบกุมความปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเลือกตั้งของอินเดียในทุกๆ ครั้ง โดยทางการจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงหลายหมื่นนาย ร่วมกับตำรวจในแต่ละรัฐเพื่อดูแลความเรียบร้อย ป้องกันเหตุรุนแรงและช่วยในการขนส่งเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งและเครื่องลงคะแนน

 

ใครแข่งกับใคร

 

อินเดียภายใต้การนำของโมดีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา (2014-2024) กลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนถูกจับตามองว่าอาจเขยิบเข้าใกล้สถานะประเทศมหาอำนาจในช่วงเวลาไม่นาน

 

ความสำเร็จในการบริหารประเทศ ทั้งการพัฒนาสวัสดิการและการปฏิรูปสังคมที่เห็นผลชัดเจนต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งผลให้โพลสำรวจความนิยมล่าสุดยังเป็นโมดีและพรรคบีเจพีที่ถูกคาดหมายว่าจะคว้าชัยชนะและอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 5 ปี

 

พรรคบีเจพีและพรรคพันธมิตรตั้งเป้าจะคว้าที่นั่ง สส. ให้ได้มากกว่า 400 ที่นั่ง ซึ่งจะทำให้มีคะแนนเสียงในสภามากพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถือเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับในปี 2019 ที่พรรคบีเจพีได้ สส. ไปจำนวน 303 ที่นั่ง

 

แต่ถึงกระนั้น พรรคบีเจพีก็ยังมีความท้าทายจากคู่แข่งหลักอย่างพรรคอินเดียนเนชันแนลคองเกรส (Indian National Congress) หรือเรียกย่อๆ ว่าพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ที่ในอดีตเคยบริหารประเทศมานานถึง 77 ปี และปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของ ราหุล คานธี บุตรชายอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี 

 

โดยทางพรรคคองเกรสยังมีการจับมือกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ และพรรคสำคัญในภูมิภาคต่างๆ ทั้งหมดกว่า 20 พรรค รวมกันเป็นพันธมิตรทางการเมืองภายใต้ชื่อ Indian National Developmental Inclusive Alliance (INDIA) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าสูญเสียไปมากในยุคการปกครองของบีเจพี

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองคือนโยบายของโมดีที่มุ่งเน้นสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมฮินดูมากขึ้น โดยที่ผ่านมาอินเดียถือเป็นประเทศที่ยึดถือแนวคิดรัฐโลกวิสัย (Secular State) หรือรัฐที่เป็นกลางทางศาสนา 

 

ขณะที่ศาสนาฮินดูถือเป็นศาสนาที่มีประชากรอินเดียนับถือมากที่สุดกว่า 79% โดยการเปลี่ยนจากแนวคิดรัฐโลกวิสัยไปเป็นประเทศที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นหลักอาจจะเป็นความท้าทายสำคัญของโมดี หากชนะการเลือกตั้งและได้ครองตำแหน่งต่ออีกสมัย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X