แม้จะยังไม่หมดปี แต่ตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2024 ก็ทำลายสถิติเดิมทั้งหมดแล้ว
และยังเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกค้างเติ่งอยู่เหนือเส้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญด้านโลกร้อนที่นานาชาติให้คำมั่นสัญญากันไว้ในข้อตกลงปารีสอีกด้วย
“ยุคโลกเดือดมาถึงเราแล้ว” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไว้เมื่อปีกลาย และในปีนี้คำพูดคำนี้ก็วนเวียนตอกย้ำให้เราทั้งหลายเห็นว่ามันจริง
ข้อมูลจากระบบ ERA5 ของโครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ระบุถึงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกวงรอบ 12 เดือนคือ นับจากเดือนตุลาคม 2023 – เดือนกันยายน 2024 มีค่าสูงถึง 1.62 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่เหนือกว่าเส้น 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสไปมากจนน่าตกใจ นอกจากนี้อุณหภูมิผิวน้ำทะเล 6 เดือนแรกของปี 2024 ยังสูงกว่าปีที่แล้วซึ่งเคยเป็นปีที่ทำสถิติสูงสุดมาแล้วตามแผนภูมิด้านล่าง
ผิวน้ำทะเลอุณหภูมิสูงกลุ่มนี้ยังย้ายข้ามจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปสู่ฝั่งตะวันตก ตามความเปลี่ยนแปลงจากเอลนีโญมาสู่ลานีญาของปีนี้ และนี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดไต้ฝุ่นมากถึง 4 ลูกในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในบันทึกของ WMO
โซเนีย เซเนวิรัตเน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยวิจัย ETH Zurich เผยว่า “ไม่รู้สึกแปลกใจ” กับการทำลายสถิติใหม่ของอุณหภูมิโลกในครั้งนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคี COP29 จัดทำข้อตกลงเพิ่มความพยายามให้มากยิ่งขึ้นในการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
แต่ก็เหมือนที่เราทราบกัน ผลการประชุม COP29 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ออกมาในเชิงที่ไม่เป็นผลดีกับสภาวะโลกที่กำลังเดินหน้าสู่วิกฤตสักเท่าไร โดยการประชุมรอบนี้เน้นหนักไปที่การขอเงินชดเชยจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ไปให้กับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นเกาะปะการัง ที่จะประสบปัญหาน้ำทะเลท่วมจนอยู่อาศัยไม่ได้ในอนาคต เช่น
มัลดีฟส์, หมู่เกาะมาร์แชลล์, คิริบาส และตูวาลู
เกิน 1.5 องศาเซลเซียสแล้วโลกจะไปทางไหน
ข้อตกลงปารีสหรือการประชุมโลกร้อน COP21 เมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีสนั้น ที่จริงแล้วกำหนดตัวเลขออกมา 2 ชุดคือ 2.0 องศาเซลเซียส และ 1.5 องศาเซลเซียส โดยตัวเลขแรกคือ 2.0 องศาเซลเซียสนั้นสำคัญที่สุด เพราะมันคือ ‘จุดไม่หวนกลับ’ ซึ่งหมายถึงหากปล่อยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกข้ามผ่านจุดนั้นไป สถานการณ์หลังจากนั้นก็จะดำเนินไปของมันเอง โดยไม่ว่าอย่างไรมนุษย์ก็จะเข้าไปแก้ไขไม่ได้อีกแล้ว ที่ประชุมจึงตกลงตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสขึ้นมาอีกตัวเพื่อ ‘ความพยายาม’ ของรัฐภาคีที่ร่วมลงนามเอาไว้ที่จะช่วยกันรักษาให้ได้เป็นด่านแรก แต่ตัวเลขนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่กำหนดขึ้นมาลอยๆ เพราะมีการวิจัยไว้แล้วว่าหลังโลกร้อนจนแตะหรือผ่านตัวเลขนี้ไปจะเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งเวลาและสถานที่ รวมทั้งความรุนแรงในแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งในปี 2024 ก็มีภัยพิบัติจากสภาพอากาศสุดขั้วปรากฏให้เห็นหลายเวลาและหลายสถานที่ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เป็นการเตือนเหล่ามนุษย์บนโลกโดยตรงจากธรรมชาติว่าทั้งหมดคือเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์จินตนาการขึ้นมาเอง
แต่นับว่ายังดีที่การประชุม COP29 ได้ข้อกำหนดว่ารัฐภาคีต้องจัดทำข้อตกลง ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions: NDCs) ฉบับใหม่ขึ้นในปีหน้าหรือปี 2025 ถือเป็นข้อกำหนด NDC 3.0 ที่ตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ภายในปี 2035 โดยยังคงใช้ตัวเลขเป้าหมายเดิมจากข้อตกลงปารีส นั่นคือกลับไปที่การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ ‘ท้าทายมากยิ่งขึ้น’ สำหรับรัฐภาคีที่จะต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ท่ามกลางความปั่นป่วนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/environment/2024/nov/20/the-climate-crisis-in-charts-how-2024-has-set-unwanted-new-records
- https://climate.copernicus.eu/copernicus-2024-virtually-certain-be-warmest-year-and-first-year-above-15degc
- https://www.livescience.com/planet-earth/climate-change/which-islands-will-become-uninhabitable-due-to-climate-change-first
- https://www.nrdc.org/stories/15-degrees-global-warming-are-we-there-yet
- https://climate.copernicus.eu/surface-air-temperature-september-2024
- https://www.reuters.com/business/environment/2024-will-be-hottest-year-record-eu-scientists-say-2024-12-09/