×

2024 ปีเลือกตั้งชี้ชะตาโลก ‘ความหวัง’ หรือ ‘ชนวนระเบิด’ ทางภูมิรัฐศาสตร์

25.12.2023
  • LOADING...

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตยคือการใช้สิทธิออกเสียงของประชาชน ในการลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนหรือผู้นำที่จะมาบริหารประเทศ 

 

โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีคำกล่าวที่ว่า “ประชาธิปไตยกำลังจะตาย” ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นต้นแบบของประชาธิปไตย เช่น อังกฤษ และสหรัฐฯ ที่เผชิญความท้าทายทางการเมืองมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกมองว่าเป็น ‘ความหวัง’ และ ‘โอกาส’ สำหรับประชาชนจำนวนมากที่ต้องการหลุดพ้นจากระบอบการปกครองที่กดขี่ เผด็จการ หรือทำให้ชีวิตของพวกเรายากลำบาก ไร้เสรีภาพ และไร้ซึ่ง ‘อนาคต’ ที่จะลืมตาอ้าปาก 

 

ในปี 2024 ที่จะมาถึงนี้ ถือเป็นหนึ่งในปีสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์สำหรับระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของประชากรโลก โดยรวมถึงประเทศที่ทรงอำนาจและมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ อินเดีย และรัสเซีย และประเทศที่กำลังเผชิญสงครามอย่างยูเครน ตลอดจนแผ่นดินที่เผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ไต้หวัน  

 

แน่นอนว่าการเลือกตั้งในแต่ละประเทศอาจจะมีความ ‘แตกต่างกัน’ บางประเทศการเลือกตั้งอาจจะเปิดกว้าง เสรี และยุติธรรม ในขณะที่การเลือกตั้งบางประเทศ แทบจะไร้สิ่งเหล่านี้

 

แต่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเหล่านี้ ทั้งในแง่ของแต่ละประเทศ และในแง่ผลลัพธ์ที่มีร่วมกันต่อโลก เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการพิจารณาว่าใคร หรือประเทศใด ที่จะเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลทิศทางของโลกในศตวรรษที่ 21

 

โดยผลการเลือกตั้งของนานาประเทศที่ออกมาจะมีบทบาทต่อสถานการณ์โลกอย่างมากในทางใดทางหนึ่ง แม้จะยากในการหาคำตอบว่าผลลัพธ์นั้นจะเป็น ‘ความหวัง’ หรือกลับกลายเป็น ‘ชนวนระเบิด’ ที่ทำให้การเมืองโลกร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

 

เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ศึกชิงอำนาจฝ่ายหนุน-ต้านจีน

 

ไต้หวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและ สส. ในวันที่ 13 มกราคมนี้ โดยมีเรื่องท่าทีต่อจีนเป็นประเด็นหลักของการหาเสียง นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะที่ผลการเลือกตั้งของไต้หวันมีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิกเป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย

 

ที่ผ่านมาจีนยืนยันมาตลอดว่าไต้หวันคือ ‘ดินแดน’ หรือ ‘มณฑล’ หนึ่งของตน และมีการแสดงท่าทีไม่พอใจหลายครั้งต่อท่าทีการแทรกแซงจากต่างชาติ เช่น กรณีของ แนนซี เพโลซี ที่เดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อปี 2022

 

โดยสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า การเลือกตั้งของไต้หวันที่จะจัดขึ้นท่ามกลางการเพิ่มกิจกรรมทางทหารของจีนในช่องแคบไต้หวันนั้น เป็นทางเลือกระหว่าง ‘สันติภาพ’ กับ ‘สงคราม’ หรือ ‘ความเจริญรุ่งเรือง’ กับ ‘ความเสื่อมถอย’

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างจับตามองกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นของขั้วฝ่ายค้านไต้หวัน ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการผูกสัมพันธ์อันดีต่อจีน เช่น พรรคก๊กมินตั๋ง ว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเลือกตั้งไต้หวันในครั้งนี้ หลังจากที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 2016-2023) รัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงแกร่ง ยืนหยัดท่าทีไม่อ่อนข้อต่อจีน และเน้นย้ำการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ (Status Quo) ในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบของทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด

 

สำหรับผู้สมัครของแต่ละพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่

 

  • ไล่ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) รองประธานาธิบดีไต้หวัน จากพรรครัฐบาล DPP (Democratic Progressive Party) 
  • โหวโหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) นายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป จากพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT)
  • เคอเหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป จากพรรค TPP (Taiwan People’s Party) 

 

ไล่ชิงเต๋อนั้นมีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน ในขณะที่โหวโหย่วอี๋ก็เดินตามแนวทางและนโยบายของพรรคก๊กมินตั๋งในการประนีประนอมต่อจีน 

 

ส่วนเคอเหวินเจ๋อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพรรค TPP ที่บอกตัวเองว่าเป็นทางเลือกที่ 3 แสดงจุดยืนว่าให้ความสำคัญกับความกังวลของประชาชนภายในประเทศ เช่น ปัญหาพลังงานและที่อยู่อาศัย มากกว่ากรณีความสัมพันธ์กับจีน แต่เขาสนับสนุนการจับมือตั้งรัฐบาลผสมกับก๊กมินตั๋ง และมีนโยบายหลายอย่างเกี่ยวกับจีนที่ใกล้เคียงกับก๊กมินตั๋ง

 

ทั้งนี้ ผลสำรวจความนิยมล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม จาก The Economist ชี้ว่า ไล่ชิงเต๋อยังมีคะแนนนิยมนำหน้าเป็นอันดับ 1 ที่ 34% ในขณะที่โหวโหย่วอี๋มีคะแนนนิยมตามมาอยู่ที่ 34% ส่วนเคอเหวินเจ๋อมีคะแนนนิยมอยู่ที่ 21%

 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ทั่วโลกสงสัยคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งนี้จะส่งผลให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบตึงเครียดมากขึ้นหรือลดลงได้แค่ไหน และมีโอกาสหรือไม่ที่สถานการณ์นั้นจะก้าวไปถึงจุดที่จีนใช้กำลังทหารเพื่อรวมชาติกับไต้หวัน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไม่ปฏิเสธว่าอาจเกิดขึ้น

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในประเด็นนี้ โดยมองว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะเป็นตัวชี้วัด 

 

ซึ่งหากผู้ชนะการเลือกตั้งคือไล่ชิงเต๋อจากขั้วรัฐบาลเดิม ที่มีแนวโน้มจะแสดงจุดยืนถอยห่างจากจีนมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ของไต้หวันและจีนตึงเครียดขึ้น แต่จะไปถึงขั้นเกิดการสู้รบหรือไม่ ยังมีปัจจัยหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์สามเส้า อันรวมถึงท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งต้องจับตาดูท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปี 2024 เช่นกัน 

 

โดยเขามองว่า หากมีการ ‘ล้ำเส้น’ ส่งเสริมท่าทีและจุดยืนด้านเอกราชของไต้หวันมากเกินขอบเขต ก็มีโอกาสที่เหตุการณ์จะบานปลายได้

 

“มันอยู่ที่สหรัฐฯ ด้วย ถ้าไต้หวันแรง แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่แรง ก็ยังไม่มีอะไร แต่ถ้าฝ่ายไต้หวันแรง และสหรัฐฯ สนับสนุนไต้หวัน มันก็อาจจะผลักไปสู่สงครามได้มากขึ้น” ดร.อาร์ม กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง หากผู้ชนะคือโหวโหย่วอี๋ ทิศทางความสัมพันธ์ต่อจีนก็อาจเป็นไปในแง่บวกมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ท่าทีสนับสนุนจีนของพรรคก๊กมินตั๋งอาจจุดชนวนให้เกิดการประท้วงโดยกลุ่มชาวไต้หวันรุ่นใหม่ 

 

ส่วนในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หากเป็นขั้ว DPP ที่ได้ครองอำนาจต่อ ก็อาจทำให้การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเดินหน้า และเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันกับจีนจะลดความเชื่อมโยงต่อไป 

 

แต่หากเป็นพรรคก๊กมินตั๋งครองอำนาจ เศรษฐกิจระหว่างไต้หวันกับจีน 4 ปีหลังจากนี้น่าจะไม่มีบรรยากาศที่อันตราย

 

เลือกตั้งแอฟริกาใต้ จับตาจุดเปลี่ยนในรอบ 3 ทศวรรษ

 

แอฟริกาใต้ในฐานะประเทศผู้นำของทวีปแอฟริกา เตรียมจัดการเลือกตั้งระดับชาติในวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ โดยถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ที่ประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และสิ้นสุดการแบ่งแยกสีผิวในปี 1994 

 

ที่ผ่านมาพรรค ANC (African National Congress) ครองอำนาจรัฐบาลมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ แต่ความท้าทายของการเลือกตั้งครั้งนี้คือความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรค DA (Democratic Alliance) ภายใต้การนำของ จอห์น สตีนฮุยเซน (John Steenhuisen) ซึ่งประกาศจะแย่งชิงอำนาจจาก ANC ในการเลือกตั้งรอบนี้ โดยพรรคที่จะครองอำนาจรัฐบาลต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 50%

 

สำหรับแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากที่สุดของภูมิภาค กำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดย 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคนเป็นผู้ว่างงาน 

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั่วประเทศเผชิญปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนได้แต่ทำใจ เช่น กรณีที่ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) อภัยโทษให้อดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) เมื่อต้นปี หลังจากที่เขาถูกจำคุกเนื่องจากปฏิเสธที่จะให้การเป็นพยานเกี่ยวกับการคอร์รัปชันและระบบทุนนิยมพวกพ้องในระหว่างดำรงตำแหน่ง

 

ปัญหาอันน่าอึดอัดเหล่านี้กลายเป็นแรงกดดันให้พรรค ANC เนื่องจากฐานเสียงของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคที่ค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ชาวแอฟริกันรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-39 ปี กว่า 14 ล้านคน ไม่สนใจลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่รู้สึกยึดโยงใดๆ กับพรรค ANC หรือพรรคการเมืองอื่นๆ 

 

เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โพลชี้อดีตนายพลเต็ง 1

 

อินโดนีเซียในฐานะประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยคาดว่าจะมีประชาชนมากถึง 205 ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งแทนที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่กำลังจะหมดวาระในปีหน้า หลังครองตำแหน่งยาวนาน 2 สมัย รวม 10 ปี หรือสมัยละ 5 ปี

 

คณะกรรมการการเลือกตั้งอินโดนีเซียประกาศชื่อ 3 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ได้แก่

 

  1. อานิส บาสวีดัน (Anies Baswedan) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอินโดนีเซีย และอดีตผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา ลงสมัครในฐานะผู้สมัครอิสระ 
  2. ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) อดีตนายทหารวัย 72 ปี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน ผู้นำพรรค Gerindra (Gerakan Indonesia Raya)   
  3. กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง ลงสมัครในฐานะตัวแทนพรรครัฐบาล PDI-P (Partai Demokrasi Indonesia Perjuangan)

 

โดยผลสำรวจความนิยมจาก Indikator Politik Indonesia ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,220 คน ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม พบว่า ปราโบโวมีคะแนนนิยมนำหน้าคู่แข่งชัดเจนอยู่ที่ 45.8% ตามด้วยกันจาร์ที่ 25.6% ซึ่งลดลงจากผลสำรวจก่อนหน้าถึง 4.4%

 

ทั้งนี้ ปราโบโว ซึ่งเคยเป็นอดีตลูกเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต และมีสายสัมพันธ์ระดับสูงในกองทัพ เคยลงสมัครชิงประธานาธิบดีมาแล้วทั้งในปี 2014 และ 2019 แต่พ่ายแพ้ให้แก่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด

 

ขณะที่กันจาร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่มีความตรงไปตรงมามากที่สุดในบรรดา 3 ผู้สมัคร มีเป้าหมายชัดเจนคือการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีจาก โจโก วิโดโด โดยภูมิหลังของเขาและ โจโก วิโดโด มีบางอย่างคล้ายกัน ทั้งการที่ไม่ได้มาจากครอบครัวชนชั้นนำหรือนักการเมือง เรียนที่มหาวิทยาลัยเดียวกันในยอกยาการ์ตา และเป็นสมาชิกพรรค PDI-P เหมือนกัน

 

ส่วนบาสวีดันถูกมองว่าอาจเป็นม้ามืดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียครั้งนี้ แม้โพลสำนักต่างๆ จะชี้ให้เขาเป็นตัวเต็งอันดับ 3 โดยเขาเป็นผู้สมัครที่มีภูมิหลังในแวดวงวิชาการ และได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายมุสลิมอนุรักษนิยม จากการยึดถือแนวคิดมูลฐานนิยม (Fundamentalist) หรือรูปแบบศาสนาที่ยึดความเชื่อตามพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด

 

เลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ปูตินอาจครองอำนาจยาวถึง 2030

 

รัสเซียที่ยังวนเวียนอยู่กับสถานการณ์ความขัดแย้งและภาวะสงครามในยูเครน เตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม ซึ่งคาดว่ามีประชาชนราว 110 ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนน

 

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญทางการเมืองของรัสเซีย เนื่องจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน วัย 71 ปี ซึ่งครองอำนาจในฐานะผู้นำแห่งรัฐทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 1999 หรือนานกว่า 2 ทศวรรษ ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งสมัยที่ 5 ซึ่งอาจทำให้เขาครองอำนาจยาวนานไปจนถึงปี 2030 

 

โดยในการแก้ไขกฎหมายล่าสุดเมื่อปี 2021 เปิดทางให้ปูตินสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีก 2 สมัย สมัยละ 6 ปี หรือยาวนานถึงปี 2036 

 

การเลือกตั้งของรัสเซียครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ 4 ดินแดนที่รัสเซียผนวกรวมมาจากยูเครน ได้แก่ แคว้นโดเนตสก์, ลูฮันสก์, ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน จะได้มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกประธานาธิบดีรัสเซีย ขณะที่หลายประเทศตะวันตกที่ต่อต้านการผนวกดินแดนยูเครนของรัสเซียต่างประณามการจัดการเลือกตั้งในดินแดนดังกล่าว 

 

สำหรับผู้ท้าชิงในการเลือกตั้ง จนถึงตอนนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีใครเป็นคู่แข่งของปูติน โดยภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของเขา นักการเมืองฝ่ายค้านต่างเผชิญกับชะตากรรมที่คล้ายกัน เช่น ถูกเนรเทศ ถูกจำคุก หรือเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย

 

อเล็กเซย์ นาวาลนี (Alexey Navalny) ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย ผู้ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นผู้ท้าชิงของปูติน และเป็นผู้ท้าทายอำนาจทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดต่อปูติน ถูกตัดสินจำคุก 19 ปีไปเมื่อเดือนสิงหาคม ในข้อหาร้ายแรง เช่น การปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย และการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งนาวาลนีและผู้สนับสนุนอ้างว่า การจับกุมและตั้งข้อหาเขามีแรงจูงใจทางการเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ปูติน

 

ขณะที่เสรีภาพ ความโปร่งใส และความยุติธรรมในการเลือกตั้งของรัสเซียยังเป็นคำถามที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะชาติตะวันตกตั้งคำถาม

 

โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งก่อนเมื่อปี 2018 สำนักงานเพื่อสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (Office for Democratic Institutions and Human Rights: ODIHR) ได้เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งและพบว่า “มีประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก แต่ยังพบข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและการแสดงออกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงการจดทะเบียนผู้สมัคร ซึ่งจำกัดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่งผลให้ขาดการแข่งขันอย่างแท้จริง

 

“แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้สมัครจะสามารถหาเสียงได้อย่างอิสระ แต่การรายงานข่าวของประธานาธิบดี (ปูติน) ในสื่อส่วนใหญ่อย่างครอบคลุมและไร้การวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้เกิดสนามแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยรวมแล้วการเลือกตั้งดำเนินไปในลักษณะที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับการรักษาความลับของการลงคะแนนเสียงและความโปร่งใสในการนับคะแนนก็ตาม”

 

ทั้งนี้ แม้ว่าชาวรัสเซียจำนวนมากจะเผชิญความลำบากจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก เนื่องจากการทำสงครามรุกรานยูเครน แต่ผลสำรวจความนิยมจาก Russianopinion ชี้ว่า ปูตินยังได้รับคะแนนนิยมสูงถึงกว่า 80% ซึ่งมากกว่าในช่วงก่อนสงครามเสียอีก

 

ทางด้านรัฐบาลเครมลินแสดงท่าทีชัดเจนต่อการวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามจากชาติตะวันตกว่า รัสเซียไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกมาสอนหรือออกความเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยภายในประเทศ ในขณะที่ชี้ว่า ไม่มีนักการเมืองคนใดในซีกโลกตะวันตกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในระดับเดียวกับปูติน

 

ยูเครนจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสงคราม เป็นไปได้?

 

ทางฝั่งยูเครนที่แม้จะเผชิญภาวะสงครามที่ยังไม่สงบ ก็ประกาศจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 

 

โดยประเด็นการจัดการเลือกตั้งนี้กลายเป็นข้อถกเถียงมานานหลายเดือนในหมู่นักการเมืองยูเครน ว่าเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศต้องจัดการเลือกตั้งตามกำหนดการเดิม ทั้งที่ยังเผชิญภาวะสงคราม ซึ่งหลายฝ่ายยังกังวลว่าการเลือกตั้งนั้นอาจทำให้ประชาชนยูเครนละทิ้งหรือเบี่ยงเบนความสนใจจากการที่ต้อง ‘ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากการรุกรานของรัสเซีย’

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประกาศว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะจัดการเลือกตั้ง โดยภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกของยูเครนนั้น ห้ามไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งทุกประเภท รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งทำให้อาจมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป

 

ถึงแม้จะมีการแก้ไขกฎอัยการศึกให้จัดการเลือกตั้งได้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและการที่ประชากรยูเครนจำนวนหลายล้านคนอพยพพลัดถิ่นไปหลังสงคราม นอกจากนี้ สถานที่จัดการเลือกตั้ง เช่น โรงเรียนหลายแห่ง ก็ได้รับความเสียหายจากการสู้รบ

 

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในยูเครนด้วยกระบวนการทางการเมืองที่มีการแข่งขันสูงนั้นยัง ‘เป็นไปไม่ได้’

 

ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยสถาบันสังคมวิทยาระหว่างประเทศ (International Institute of Sociology) ของยูเครน แสดงให้เห็นว่า ประชาชนกว่า 80% ต้องการให้มีการเลือกตั้งหลังสงครามสิ้นสุดลงเท่านั้น โดยสอดคล้องกับความเห็นจาก สส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นตรงกันว่าการจัดการเลือกตั้งในปีหน้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเซเลนสกีที่ไม่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้วเขาอาจต้องการจัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2024 ตามกำหนดเดิมหรือไม่ ในช่วงที่คะแนนนิยมของเขายังสูงอยู่ เนื่องจากเริ่มมีการคาดเดาว่าความนิยมของเขาจะลดลงเรื่อยๆ จากการที่ไม่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย

 

เลือกตั้งอินเดีย สัญญาณชี้ โมดีครองอำนาจสมัย 3

 

อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เรียกว่า ‘โลกสภา (Lok Sabha)’ ชุดที่ 18 ช่วงระหว่างเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม โดยประชาชนเกือบ 1 พันล้านคนจะมีสิทธิลงคะแนนเลือก สส. จำนวน 543 ที่นั่ง

 

การเลือกตั้งของอินเดียครั้งนี้ถูกจับตามองว่า เป็นไปได้ที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียจากพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) อาจคว้าชัยชนะเป็นสมัยที่ 3 หลังครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2014 โดยมีสัญญาณความเป็นไปได้จากการเอาชนะพรรคคู่แข่งอย่างพรรคคองเกรส (Congress Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด โดยเอาชนะไปได้ 3 ใน 5 รัฐ ได้แก่ ราชาสถาน (Rajasthan), ฉัตติสครห์ (Chhattisgarh) และมัธยประเทศ (Madhya Pradesh) 

 

ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 พรรค BJP พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นใน 3 รัฐดังกล่าว แต่สามารถเอาชนะในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดเป็นเสียงสะท้อนที่บ่งชี้ว่าพรรค BJP จะสามารถกวาดคะแนนเสียงและคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งได้

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านของอินเดียจำนวน 26 พรรค รวมพรรคคองเกรส ได้ประกาศจับมือกันเป็น ‘พันธมิตรรวมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติอินเดีย’ หรือ INDIA (Indian National Developmental Inclusive Alliance) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ‘ปฏิเสธ’ การครองอำนาจสมัยที่ 3 ของโมดีและ BJP และเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของอินเดีย 

 

กลุ่มพันธมิตร INDIA นั้นพยายามโจมตีการทำงานของรัฐบาลโมดีในหลายประเด็น ทั้งปัญหาภายในประเทศ เช่น ความขัดแย้งของกลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐมณีปุระ ซึ่งทวีความรุนแรงจนถูกเรียกว่าเป็นสงครามกลางเมือง และทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนับร้อยคน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งฝ่ายค้านวิจารณ์รัฐบาลโมดีว่าล้มเหลวในการสร้างงาน

 

อย่างไรก็ตาม Morning Consult เผยผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอินเดียช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า กว่า 78% ให้การยอมรับในการทำหน้าที่ของรัฐบาลโมดี ซึ่งสะท้อนว่าความนิยมของเขายังอยู่ในระดับสูง

 

ขณะที่ Fitch Ratings ประเมินว่า รัฐบาลผสมที่นำโดย BJP นั้นมีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ทำได้ต่อเนื่อง

 

เลือกตั้งรัฐสภา EU จับตากระแส ‘ขวาประชานิยม’ มาแรง

 

สำหรับสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในเวทีโลก ก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2024 โดยรัฐสภายุโรปเตรียมจัดการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน ที่ถือเป็นการเลือกตั้งข้ามชาติครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะมีผู้มีสิทธิลงคะแนนมากกว่า 400 ล้านคน จาก 27 ประเทศในสหภาพยุโรป เพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภายุโรป 720 ที่นั่ง จากกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้เข้าไปบริหารนโยบายและพิจารณาประเด็นต่างๆ ของ EU ตั้งแต่ค่าบริการโรมมิ่งโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลออนไลน์ในประเทศสมาชิก

 

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถือเป็นบททดสอบสำหรับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา หรือขวาประชานิยม (Right-Wing Populists) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่กำลังได้รับกระแสสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ EU ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์สำนักข่าว POLITICO วิเคราะห์ว่า กลุ่ม EPP (European People’s Party) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายกลางขวา (Center-Right) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 โดยกวาดที่นั่งสมาชิกรัฐสภายุโรปไปถึง 187 ที่นั่ง จะยังคงครองอันดับ 1 ในการเลือกตั้งรอบนี้ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอาจสูญเสียที่นั่งมากขึ้น เหลือประมาณ 170 ที่นั่งก็ตาม 

 

ส่วนอันดับ 2 คาดว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองกลางซ้ายอย่าง S&D (Socialists and Democrats) ที่คาดว่าจะได้ราว 140 ที่นั่ง 

 

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไบเดน vs. ทรัมป์? 

 

ส่วนการเลือกตั้งที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดของปี 2024 คงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของมหาอำนาจอันดับ 1 อย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 

 

โดยผู้สมัครของ 2 พรรคหลักอย่างรีพับลิกันและเดโมแครตมีมากถึง 15 คน แบ่งเป็น 9 คนจากพรรครีพับลิกัน และ 4 คนจากพรรคเดโมแครต และผู้สมัครอิสระอีก 2 คน

 

แต่ตัวเต็งผู้สมัครของเดโมแครตยังคงเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 81 ปี ที่ประกาศตัวชิงเก้าอี้สมัยที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเอาชนะในการโหวตเลือกตั้งขั้นต้น หรือ Primary Vote ของพรรคได้อย่างไม่ยากเย็น

 

ขณะที่พรรครีพับลิกันนั้นมีผู้ท้าชิงตัวแทนพรรคทั้งหมด 5 คน โดยตัวเต็งอันดับ 1 ยังเป็นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ยังมี รอน เดอซานติส อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา เจ้าของฉายาทรัมป์ 2.0 และ นิกกี เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา และอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ 

 

สำหรับทรัมป์ แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะเผชิญคดีความและข่าวอื้อฉาวต่างๆ ทั้งคดีจัดการเอกสารลับ และการปลุกปั่นก่อจลาจลบุกรัฐสภาเพื่อล้มการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เขาถูกตัดสิทธิลงสมัครในรัฐโคโลราโดไปก่อนหน้านี้ แต่เขายังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้ โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถโค่นไบเดนและก้าวสู่ผู้นำทำเนียบขาวอีกสมัยได้

 

ที่ผ่านมาทรัมป์พยายามโจมตีนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไบเดน โดยเฉพาะการทุ่มงบประมาณสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการทำสงคราม อาทิ การจัดส่งอาวุธแก่ยูเครน ในขณะที่ล้มเหลวทั้งนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและการรับมือผู้อพยพผิดกฎหมาย และประณามไบเดนถึงขั้นว่า เป็นประธานาธิบดีที่ ‘เลวร้ายที่สุด’ ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากนักวิเคราะห์และผู้นำทางการเมืองหลายคนก็หวั่นเกรงว่า หากทรัมป์สามารถคว้าชัยและหวนคืนสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของ ‘เผด็จการ’ แม้ในความเป็นจริงจะเป็นไปได้ยาก ภายใต้ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่มีการคานอำนาจ แต่หลายฝ่ายก็หวั่นเกรงต่อท่าทีในอดีตของเขา และการใช้อำนาจประธานาธิบดีและกฎหมายที่มีในมือเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง และตอบสนองนโยบายของเขา

 

‘ความหวัง’ หรือ ‘ชนวนระเบิด’

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดในหลายประเทศทั่วโลกในปี 2024 โดยมองว่า การเลือกตั้งที่จะมีผลต่อการเมืองโลกมากที่สุดคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ 

 

สาเหตุที่มองเช่นนี้เพราะค่อนข้างแน่ชัดว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซียนั้นไม่มีความหมาย และปูตินคงชนะการเลือกตั้งอีกอย่างแน่นอน ส่วนการเลือกตั้งในยูเครนนั้น แม้จะยังไม่ชัดเจน แต่หากเกิดขึ้นคงเป็นเซเลนสกีที่คว้าชัยชนะอีกครั้ง

 

โดยนอกจากสหรัฐฯ ยังมีการเลือกตั้งไต้หวันที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะคาดเดาไม่ได้ว่าพรรคที่ไม่มีท่าทีตอบสนองต่อจีน กับพรรคที่มีท่าทีตอบสนองต่อจีน พรรคไหนจะเป็นคนกุมทิศทางการเมืองไต้หวัน

 

อย่างไรก็ตาม ดร.สุรชาติ ทิ้งท้ายว่า “ผลพวงสืบเนื่องจากการเลือกตั้งในสภาพแวดล้อมทั้งหมดนี้ ต่างก็มีนัยที่ต่อเนื่องกัน” 

 

โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระลอกคลื่นใหญ่ของการเลือกตั้งทั่วโลกนี้จะออกมาในแง่ดีหรือร้าย ยังเป็นสิ่งที่ยากแก่การคาดเดา 

 

แต่แน่นอนว่าประชาชนจำนวนมากตั้งความหวังไว้กับผลการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อย แต่นี่ก็เป็นระบอบการปกครองที่ได้รับการยอมรับว่า ‘ดีที่สุด’ ในการขับเคลื่อนอนาคตของมนุษยชาติ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising