ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตยคือการใช้สิทธิออกเสียงของประชาชน ในการลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนหรือผู้นำที่จะมาบริหารประเทศ
โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีคำกล่าวที่ว่า “ประชาธิปไตยกำลังจะตาย” ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นต้นแบบของประชาธิปไตย เช่น อังกฤษ และสหรัฐฯ ที่เผชิญความท้าทายทางการเมืองมากมาย
อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกมองว่าเป็น ‘ความหวัง’ และ ‘โอกาส’ สำหรับประชาชนจำนวนมากที่ต้องการหลุดพ้นจากระบอบการปกครองที่กดขี่ เผด็จการ หรือทำให้ชีวิตของพวกเรายากลำบาก ไร้เสรีภาพ และไร้ซึ่ง ‘อนาคต’ ที่จะลืมตาอ้าปาก
ในปี 2024 ที่จะมาถึงนี้ ถือเป็นหนึ่งในปีสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์สำหรับระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในกว่า 40 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของประชากรโลก โดยรวมถึงประเทศที่ทรงอำนาจและมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ อินเดีย และรัสเซีย และประเทศที่กำลังเผชิญสงครามอย่างยูเครน ตลอดจนแผ่นดินที่เผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ไต้หวัน
แน่นอนว่าการเลือกตั้งในแต่ละประเทศอาจจะมีความ ‘แตกต่างกัน’ บางประเทศการเลือกตั้งอาจจะเปิดกว้าง เสรี และยุติธรรม ในขณะที่การเลือกตั้งบางประเทศ แทบจะไร้สิ่งเหล่านี้
แต่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเหล่านี้ ทั้งในแง่ของแต่ละประเทศ และในแง่ผลลัพธ์ที่มีร่วมกันต่อโลก เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการพิจารณาว่าใคร หรือประเทศใด ที่จะเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลทิศทางของโลกในศตวรรษที่ 21
โดยผลการเลือกตั้งของนานาประเทศที่ออกมาจะมีบทบาทต่อสถานการณ์โลกอย่างมากในทางใดทางหนึ่ง แม้จะยากในการหาคำตอบว่าผลลัพธ์นั้นจะเป็น ‘ความหวัง’ หรือกลับกลายเป็น ‘ชนวนระเบิด’ ที่ทำให้การเมืองโลกร้อนแรงมากยิ่งขึ้น
เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ศึกชิงอำนาจฝ่ายหนุน-ต้านจีน
ไต้หวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและ สส. ในวันที่ 13 มกราคมนี้ โดยมีเรื่องท่าทีต่อจีนเป็นประเด็นหลักของการหาเสียง นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะที่ผลการเลือกตั้งของไต้หวันมีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิกเป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย
ที่ผ่านมาจีนยืนยันมาตลอดว่าไต้หวันคือ ‘ดินแดน’ หรือ ‘มณฑล’ หนึ่งของตน และมีการแสดงท่าทีไม่พอใจหลายครั้งต่อท่าทีการแทรกแซงจากต่างชาติ เช่น กรณีของ แนนซี เพโลซี ที่เดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อปี 2022
โดยสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า การเลือกตั้งของไต้หวันที่จะจัดขึ้นท่ามกลางการเพิ่มกิจกรรมทางทหารของจีนในช่องแคบไต้หวันนั้น เป็นทางเลือกระหว่าง ‘สันติภาพ’ กับ ‘สงคราม’ หรือ ‘ความเจริญรุ่งเรือง’ กับ ‘ความเสื่อมถอย’
ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างจับตามองกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นของขั้วฝ่ายค้านไต้หวัน ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการผูกสัมพันธ์อันดีต่อจีน เช่น พรรคก๊กมินตั๋ง ว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเลือกตั้งไต้หวันในครั้งนี้ หลังจากที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 2016-2023) รัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงแกร่ง ยืนหยัดท่าทีไม่อ่อนข้อต่อจีน และเน้นย้ำการรักษาสถานะที่เป็นอยู่ (Status Quo) ในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบของทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด
สำหรับผู้สมัครของแต่ละพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่
- ไล่ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) รองประธานาธิบดีไต้หวัน จากพรรครัฐบาล DPP (Democratic Progressive Party)
- โหวโหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) นายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป จากพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT)
- เคอเหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป จากพรรค TPP (Taiwan People’s Party)
ไล่ชิงเต๋อนั้นมีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน ในขณะที่โหวโหย่วอี๋ก็เดินตามแนวทางและนโยบายของพรรคก๊กมินตั๋งในการประนีประนอมต่อจีน
ส่วนเคอเหวินเจ๋อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพรรค TPP ที่บอกตัวเองว่าเป็นทางเลือกที่ 3 แสดงจุดยืนว่าให้ความสำคัญกับความกังวลของประชาชนภายในประเทศ เช่น ปัญหาพลังงานและที่อยู่อาศัย มากกว่ากรณีความสัมพันธ์กับจีน แต่เขาสนับสนุนการจับมือตั้งรัฐบาลผสมกับก๊กมินตั๋ง และมีนโยบายหลายอย่างเกี่ยวกับจีนที่ใกล้เคียงกับก๊กมินตั๋ง
ทั้งนี้ ผลสำรวจความนิยมล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม จาก The Economist ชี้ว่า ไล่ชิงเต๋อยังมีคะแนนนิยมนำหน้าเป็นอันดับ 1 ที่ 34% ในขณะที่โหวโหย่วอี๋มีคะแนนนิยมตามมาอยู่ที่ 34% ส่วนเคอเหวินเจ๋อมีคะแนนนิยมอยู่ที่ 21%
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ทั่วโลกสงสัยคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งนี้จะส่งผลให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบตึงเครียดมากขึ้นหรือลดลงได้แค่ไหน และมีโอกาสหรือไม่ที่สถานการณ์นั้นจะก้าวไปถึงจุดที่จีนใช้กำลังทหารเพื่อรวมชาติกับไต้หวัน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไม่ปฏิเสธว่าอาจเกิดขึ้น
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในประเด็นนี้ โดยมองว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะเป็นตัวชี้วัด
ซึ่งหากผู้ชนะการเลือกตั้งคือไล่ชิงเต๋อจากขั้วรัฐบาลเดิม ที่มีแนวโน้มจะแสดงจุดยืนถอยห่างจากจีนมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ของไต้หวันและจีนตึงเครียดขึ้น แต่จะไปถึงขั้นเกิดการสู้รบหรือไม่ ยังมีปัจจัยหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์สามเส้า อันรวมถึงท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งต้องจับตาดูท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปี 2024 เช่นกัน
โดยเขามองว่า หากมีการ ‘ล้ำเส้น’ ส่งเสริมท่าทีและจุดยืนด้านเอกราชของไต้หวันมากเกินขอบเขต ก็มีโอกาสที่เหตุการณ์จะบานปลายได้
“มันอยู่ที่สหรัฐฯ ด้วย ถ้าไต้หวันแรง แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่แรง ก็ยังไม่มีอะไร แต่ถ้าฝ่ายไต้หวันแรง และสหรัฐฯ สนับสนุนไต้หวัน มันก็อาจจะผลักไปสู่สงครามได้มากขึ้น” ดร.อาร์ม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง หากผู้ชนะคือโหวโหย่วอี๋ ทิศทางความสัมพันธ์ต่อจีนก็อาจเป็นไปในแง่บวกมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ท่าทีสนับสนุนจีนของพรรคก๊กมินตั๋งอาจจุดชนวนให้เกิดการประท้วงโดยกลุ่มชาวไต้หวันรุ่นใหม่
ส่วนในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก หากเป็นขั้ว DPP ที่ได้ครองอำนาจต่อ ก็อาจทำให้การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเดินหน้า และเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันกับจีนจะลดความเชื่อมโยงต่อไป
แต่หากเป็นพรรคก๊กมินตั๋งครองอำนาจ เศรษฐกิจระหว่างไต้หวันกับจีน 4 ปีหลังจากนี้น่าจะไม่มีบรรยากาศที่อันตราย
เลือกตั้งแอฟริกาใต้ จับตาจุดเปลี่ยนในรอบ 3 ทศวรรษ
แอฟริกาใต้ในฐานะประเทศผู้นำของทวีปแอฟริกา เตรียมจัดการเลือกตั้งระดับชาติในวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ โดยถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ที่ประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และสิ้นสุดการแบ่งแยกสีผิวในปี 1994
ที่ผ่านมาพรรค ANC (African National Congress) ครองอำนาจรัฐบาลมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ แต่ความท้าทายของการเลือกตั้งครั้งนี้คือความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรค DA (Democratic Alliance) ภายใต้การนำของ จอห์น สตีนฮุยเซน (John Steenhuisen) ซึ่งประกาศจะแย่งชิงอำนาจจาก ANC ในการเลือกตั้งรอบนี้ โดยพรรคที่จะครองอำนาจรัฐบาลต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 50%
สำหรับแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากที่สุดของภูมิภาค กำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดย 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศกว่า 60 ล้านคนเป็นผู้ว่างงาน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั่วประเทศเผชิญปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนได้แต่ทำใจ เช่น กรณีที่ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) อภัยโทษให้อดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) เมื่อต้นปี หลังจากที่เขาถูกจำคุกเนื่องจากปฏิเสธที่จะให้การเป็นพยานเกี่ยวกับการคอร์รัปชันและระบบทุนนิยมพวกพ้องในระหว่างดำรงตำแหน่ง
ปัญหาอันน่าอึดอัดเหล่านี้กลายเป็นแรงกดดันให้พรรค ANC เนื่องจากฐานเสียงของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคที่ค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ชาวแอฟริกันรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-39 ปี กว่า 14 ล้านคน ไม่สนใจลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่รู้สึกยึดโยงใดๆ กับพรรค ANC หรือพรรคการเมืองอื่นๆ
เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โพลชี้อดีตนายพลเต็ง 1
อินโดนีเซียในฐานะประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยคาดว่าจะมีประชาชนมากถึง 205 ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งแทนที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่กำลังจะหมดวาระในปีหน้า หลังครองตำแหน่งยาวนาน 2 สมัย รวม 10 ปี หรือสมัยละ 5 ปี
คณะกรรมการการเลือกตั้งอินโดนีเซียประกาศชื่อ 3 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ได้แก่
- อานิส บาสวีดัน (Anies Baswedan) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอินโดนีเซีย และอดีตผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา ลงสมัครในฐานะผู้สมัครอิสระ
- ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) อดีตนายทหารวัย 72 ปี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน ผู้นำพรรค Gerindra (Gerakan Indonesia Raya)
- กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง ลงสมัครในฐานะตัวแทนพรรครัฐบาล PDI-P (Partai Demokrasi Indonesia Perjuangan)
โดยผลสำรวจความนิยมจาก Indikator Politik Indonesia ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,220 คน ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม พบว่า ปราโบโวมีคะแนนนิยมนำหน้าคู่แข่งชัดเจนอยู่ที่ 45.8% ตามด้วยกันจาร์ที่ 25.6% ซึ่งลดลงจากผลสำรวจก่อนหน้าถึง 4.4%
ทั้งนี้ ปราโบโว ซึ่งเคยเป็นอดีตลูกเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต และมีสายสัมพันธ์ระดับสูงในกองทัพ เคยลงสมัครชิงประธานาธิบดีมาแล้วทั้งในปี 2014 และ 2019 แต่พ่ายแพ้ให้แก่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด
ขณะที่กันจาร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่มีความตรงไปตรงมามากที่สุดในบรรดา 3 ผู้สมัคร มีเป้าหมายชัดเจนคือการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีจาก โจโก วิโดโด โดยภูมิหลังของเขาและ โจโก วิโดโด มีบางอย่างคล้ายกัน ทั้งการที่ไม่ได้มาจากครอบครัวชนชั้นนำหรือนักการเมือง เรียนที่มหาวิทยาลัยเดียวกันในยอกยาการ์ตา และเป็นสมาชิกพรรค PDI-P เหมือนกัน
ส่วนบาสวีดันถูกมองว่าอาจเป็นม้ามืดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียครั้งนี้ แม้โพลสำนักต่างๆ จะชี้ให้เขาเป็นตัวเต็งอันดับ 3 โดยเขาเป็นผู้สมัครที่มีภูมิหลังในแวดวงวิชาการ และได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายมุสลิมอนุรักษนิยม จากการยึดถือแนวคิดมูลฐานนิยม (Fundamentalist) หรือรูปแบบศาสนาที่ยึดความเชื่อตามพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด
เลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ปูตินอาจครองอำนาจยาวถึง 2030
รัสเซียที่ยังวนเวียนอยู่กับสถานการณ์ความขัดแย้งและภาวะสงครามในยูเครน เตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม ซึ่งคาดว่ามีประชาชนราว 110 ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนน
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญทางการเมืองของรัสเซีย เนื่องจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน วัย 71 ปี ซึ่งครองอำนาจในฐานะผู้นำแห่งรัฐทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 1999 หรือนานกว่า 2 ทศวรรษ ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งสมัยที่ 5 ซึ่งอาจทำให้เขาครองอำนาจยาวนานไปจนถึงปี 2030
โดยในการแก้ไขกฎหมายล่าสุดเมื่อปี 2021 เปิดทางให้ปูตินสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีก 2 สมัย สมัยละ 6 ปี หรือยาวนานถึงปี 2036
การเลือกตั้งของรัสเซียครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ 4 ดินแดนที่รัสเซียผนวกรวมมาจากยูเครน ได้แก่ แคว้นโดเนตสก์, ลูฮันสก์, ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน จะได้มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกประธานาธิบดีรัสเซีย ขณะที่หลายประเทศตะวันตกที่ต่อต้านการผนวกดินแดนยูเครนของรัสเซียต่างประณามการจัดการเลือกตั้งในดินแดนดังกล่าว
สำหรับผู้ท้าชิงในการเลือกตั้ง จนถึงตอนนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีใครเป็นคู่แข่งของปูติน โดยภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของเขา นักการเมืองฝ่ายค้านต่างเผชิญกับชะตากรรมที่คล้ายกัน เช่น ถูกเนรเทศ ถูกจำคุก หรือเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย
อเล็กเซย์ นาวาลนี (Alexey Navalny) ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย ผู้ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นผู้ท้าชิงของปูติน และเป็นผู้ท้าทายอำนาจทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดต่อปูติน ถูกตัดสินจำคุก 19 ปีไปเมื่อเดือนสิงหาคม ในข้อหาร้ายแรง เช่น การปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย และการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งนาวาลนีและผู้สนับสนุนอ้างว่า การจับกุมและตั้งข้อหาเขามีแรงจูงใจทางการเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ปูติน
ขณะที่เสรีภาพ ความโปร่งใส และความยุติธรรมในการเลือกตั้งของรัสเซียยังเป็นคำถามที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะชาติตะวันตกตั้งคำถาม
โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งก่อนเมื่อปี 2018 สำนักงานเพื่อสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (Office for Democratic Institutions and Human Rights: ODIHR) ได้เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งและพบว่า “มีประชาชนออกมาลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก แต่ยังพบข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและการแสดงออกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงการจดทะเบียนผู้สมัคร ซึ่งจำกัดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่งผลให้ขาดการแข่งขันอย่างแท้จริง
“แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้สมัครจะสามารถหาเสียงได้อย่างอิสระ แต่การรายงานข่าวของประธานาธิบดี (ปูติน) ในสื่อส่วนใหญ่อย่างครอบคลุมและไร้การวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้เกิดสนามแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยรวมแล้วการเลือกตั้งดำเนินไปในลักษณะที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับการรักษาความลับของการลงคะแนนเสียงและความโปร่งใสในการนับคะแนนก็ตาม”
ทั้งนี้ แม้ว่าชาวรัสเซียจำนวนมากจะเผชิญความลำบากจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก เนื่องจากการทำสงครามรุกรานยูเครน แต่ผลสำรวจความนิยมจาก Russianopinion ชี้ว่า ปูตินยังได้รับคะแนนนิยมสูงถึงกว่า 80% ซึ่งมากกว่าในช่วงก่อนสงครามเสียอีก
ทางด้านรัฐบาลเครมลินแสดงท่าทีชัดเจนต่อการวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามจากชาติตะวันตกว่า รัสเซียไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกมาสอนหรือออกความเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยภายในประเทศ ในขณะที่ชี้ว่า ไม่มีนักการเมืองคนใดในซีกโลกตะวันตกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในระดับเดียวกับปูติน
ยูเครนจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสงคราม เป็นไปได้?
ทางฝั่งยูเครนที่แม้จะเผชิญภาวะสงครามที่ยังไม่สงบ ก็ประกาศจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม
โดยประเด็นการจัดการเลือกตั้งนี้กลายเป็นข้อถกเถียงมานานหลายเดือนในหมู่นักการเมืองยูเครน ว่าเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศต้องจัดการเลือกตั้งตามกำหนดการเดิม ทั้งที่ยังเผชิญภาวะสงคราม ซึ่งหลายฝ่ายยังกังวลว่าการเลือกตั้งนั้นอาจทำให้ประชาชนยูเครนละทิ้งหรือเบี่ยงเบนความสนใจจากการที่ต้อง ‘ต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากการรุกรานของรัสเซีย’
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประกาศว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะจัดการเลือกตั้ง โดยภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกของยูเครนนั้น ห้ามไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งทุกประเภท รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งทำให้อาจมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป
ถึงแม้จะมีการแก้ไขกฎอัยการศึกให้จัดการเลือกตั้งได้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและการที่ประชากรยูเครนจำนวนหลายล้านคนอพยพพลัดถิ่นไปหลังสงคราม นอกจากนี้ สถานที่จัดการเลือกตั้ง เช่น โรงเรียนหลายแห่ง ก็ได้รับความเสียหายจากการสู้รบ
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในยูเครนด้วยกระบวนการทางการเมืองที่มีการแข่งขันสูงนั้นยัง ‘เป็นไปไม่ได้’
ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยสถาบันสังคมวิทยาระหว่างประเทศ (International Institute of Sociology) ของยูเครน แสดงให้เห็นว่า ประชาชนกว่า 80% ต้องการให้มีการเลือกตั้งหลังสงครามสิ้นสุดลงเท่านั้น โดยสอดคล้องกับความเห็นจาก สส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นตรงกันว่าการจัดการเลือกตั้งในปีหน้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเซเลนสกีที่ไม่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้วเขาอาจต้องการจัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2024 ตามกำหนดเดิมหรือไม่ ในช่วงที่คะแนนนิยมของเขายังสูงอยู่ เนื่องจากเริ่มมีการคาดเดาว่าความนิยมของเขาจะลดลงเรื่อยๆ จากการที่ไม่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
เลือกตั้งอินเดีย สัญญาณชี้ โมดีครองอำนาจสมัย 3
อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เรียกว่า ‘โลกสภา (Lok Sabha)’ ชุดที่ 18 ช่วงระหว่างเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม โดยประชาชนเกือบ 1 พันล้านคนจะมีสิทธิลงคะแนนเลือก สส. จำนวน 543 ที่นั่ง
การเลือกตั้งของอินเดียครั้งนี้ถูกจับตามองว่า เป็นไปได้ที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียจากพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) อาจคว้าชัยชนะเป็นสมัยที่ 3 หลังครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2014 โดยมีสัญญาณความเป็นไปได้จากการเอาชนะพรรคคู่แข่งอย่างพรรคคองเกรส (Congress Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด โดยเอาชนะไปได้ 3 ใน 5 รัฐ ได้แก่ ราชาสถาน (Rajasthan), ฉัตติสครห์ (Chhattisgarh) และมัธยประเทศ (Madhya Pradesh)
ก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 พรรค BJP พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นใน 3 รัฐดังกล่าว แต่สามารถเอาชนะในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดเป็นเสียงสะท้อนที่บ่งชี้ว่าพรรค BJP จะสามารถกวาดคะแนนเสียงและคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านของอินเดียจำนวน 26 พรรค รวมพรรคคองเกรส ได้ประกาศจับมือกันเป็น ‘พันธมิตรรวมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติอินเดีย’ หรือ INDIA (Indian National Developmental Inclusive Alliance) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ‘ปฏิเสธ’ การครองอำนาจสมัยที่ 3 ของโมดีและ BJP และเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของอินเดีย
กลุ่มพันธมิตร INDIA นั้นพยายามโจมตีการทำงานของรัฐบาลโมดีในหลายประเด็น ทั้งปัญหาภายในประเทศ เช่น ความขัดแย้งของกลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐมณีปุระ ซึ่งทวีความรุนแรงจนถูกเรียกว่าเป็นสงครามกลางเมือง และทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนับร้อยคน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งฝ่ายค้านวิจารณ์รัฐบาลโมดีว่าล้มเหลวในการสร้างงาน
อย่างไรก็ตาม Morning Consult เผยผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอินเดียช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า กว่า 78% ให้การยอมรับในการทำหน้าที่ของรัฐบาลโมดี ซึ่งสะท้อนว่าความนิยมของเขายังอยู่ในระดับสูง
ขณะที่ Fitch Ratings ประเมินว่า รัฐบาลผสมที่นำโดย BJP นั้นมีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ทำได้ต่อเนื่อง
เลือกตั้งรัฐสภา EU จับตากระแส ‘ขวาประชานิยม’ มาแรง
สำหรับสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในเวทีโลก ก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2024 โดยรัฐสภายุโรปเตรียมจัดการเลือกตั้งระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน ที่ถือเป็นการเลือกตั้งข้ามชาติครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะมีผู้มีสิทธิลงคะแนนมากกว่า 400 ล้านคน จาก 27 ประเทศในสหภาพยุโรป เพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภายุโรป 720 ที่นั่ง จากกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้เข้าไปบริหารนโยบายและพิจารณาประเด็นต่างๆ ของ EU ตั้งแต่ค่าบริการโรมมิ่งโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลออนไลน์ในประเทศสมาชิก
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถือเป็นบททดสอบสำหรับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา หรือขวาประชานิยม (Right-Wing Populists) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่กำลังได้รับกระแสสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ EU ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์สำนักข่าว POLITICO วิเคราะห์ว่า กลุ่ม EPP (European People’s Party) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายกลางขวา (Center-Right) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 โดยกวาดที่นั่งสมาชิกรัฐสภายุโรปไปถึง 187 ที่นั่ง จะยังคงครองอันดับ 1 ในการเลือกตั้งรอบนี้ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าอาจสูญเสียที่นั่งมากขึ้น เหลือประมาณ 170 ที่นั่งก็ตาม
ส่วนอันดับ 2 คาดว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองกลางซ้ายอย่าง S&D (Socialists and Democrats) ที่คาดว่าจะได้ราว 140 ที่นั่ง
ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไบเดน vs. ทรัมป์?
ส่วนการเลือกตั้งที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดของปี 2024 คงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของมหาอำนาจอันดับ 1 อย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน
โดยผู้สมัครของ 2 พรรคหลักอย่างรีพับลิกันและเดโมแครตมีมากถึง 15 คน แบ่งเป็น 9 คนจากพรรครีพับลิกัน และ 4 คนจากพรรคเดโมแครต และผู้สมัครอิสระอีก 2 คน
แต่ตัวเต็งผู้สมัครของเดโมแครตยังคงเป็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 81 ปี ที่ประกาศตัวชิงเก้าอี้สมัยที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเอาชนะในการโหวตเลือกตั้งขั้นต้น หรือ Primary Vote ของพรรคได้อย่างไม่ยากเย็น
ขณะที่พรรครีพับลิกันนั้นมีผู้ท้าชิงตัวแทนพรรคทั้งหมด 5 คน โดยตัวเต็งอันดับ 1 ยังเป็นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ยังมี รอน เดอซานติส อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา เจ้าของฉายาทรัมป์ 2.0 และ นิกกี เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา และอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ
สำหรับทรัมป์ แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะเผชิญคดีความและข่าวอื้อฉาวต่างๆ ทั้งคดีจัดการเอกสารลับ และการปลุกปั่นก่อจลาจลบุกรัฐสภาเพื่อล้มการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เขาถูกตัดสิทธิลงสมัครในรัฐโคโลราโดไปก่อนหน้านี้ แต่เขายังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้ โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถโค่นไบเดนและก้าวสู่ผู้นำทำเนียบขาวอีกสมัยได้
ที่ผ่านมาทรัมป์พยายามโจมตีนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไบเดน โดยเฉพาะการทุ่มงบประมาณสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการทำสงคราม อาทิ การจัดส่งอาวุธแก่ยูเครน ในขณะที่ล้มเหลวทั้งนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและการรับมือผู้อพยพผิดกฎหมาย และประณามไบเดนถึงขั้นว่า เป็นประธานาธิบดีที่ ‘เลวร้ายที่สุด’ ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากนักวิเคราะห์และผู้นำทางการเมืองหลายคนก็หวั่นเกรงว่า หากทรัมป์สามารถคว้าชัยและหวนคืนสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของ ‘เผด็จการ’ แม้ในความเป็นจริงจะเป็นไปได้ยาก ภายใต้ระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่มีการคานอำนาจ แต่หลายฝ่ายก็หวั่นเกรงต่อท่าทีในอดีตของเขา และการใช้อำนาจประธานาธิบดีและกฎหมายที่มีในมือเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง และตอบสนองนโยบายของเขา
‘ความหวัง’ หรือ ‘ชนวนระเบิด’
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดในหลายประเทศทั่วโลกในปี 2024 โดยมองว่า การเลือกตั้งที่จะมีผลต่อการเมืองโลกมากที่สุดคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ
สาเหตุที่มองเช่นนี้เพราะค่อนข้างแน่ชัดว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีของรัสเซียนั้นไม่มีความหมาย และปูตินคงชนะการเลือกตั้งอีกอย่างแน่นอน ส่วนการเลือกตั้งในยูเครนนั้น แม้จะยังไม่ชัดเจน แต่หากเกิดขึ้นคงเป็นเซเลนสกีที่คว้าชัยชนะอีกครั้ง
โดยนอกจากสหรัฐฯ ยังมีการเลือกตั้งไต้หวันที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะคาดเดาไม่ได้ว่าพรรคที่ไม่มีท่าทีตอบสนองต่อจีน กับพรรคที่มีท่าทีตอบสนองต่อจีน พรรคไหนจะเป็นคนกุมทิศทางการเมืองไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม ดร.สุรชาติ ทิ้งท้ายว่า “ผลพวงสืบเนื่องจากการเลือกตั้งในสภาพแวดล้อมทั้งหมดนี้ ต่างก็มีนัยที่ต่อเนื่องกัน”
โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระลอกคลื่นใหญ่ของการเลือกตั้งทั่วโลกนี้จะออกมาในแง่ดีหรือร้าย ยังเป็นสิ่งที่ยากแก่การคาดเดา
แต่แน่นอนว่าประชาชนจำนวนมากตั้งความหวังไว้กับผลการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่าจะออกหัวหรือก้อย แต่นี่ก็เป็นระบอบการปกครองที่ได้รับการยอมรับว่า ‘ดีที่สุด’ ในการขับเคลื่อนอนาคตของมนุษยชาติ