×

พลังในการสู้กับโลก 2023 วิกฤตซ้อนวิกฤต

01.01.2023
  • LOADING...

ปีใหม่ที่ไม่ได้ไปไหน มีข้อดีคือไม่ต้องวางแผนอะไร ได้ใช้เวลากับคนที่เรารัก ทำสิ่งที่อยากทำมานาน ผมใช้เวลาปลายปีส่วนใหญ่ไปกับการตื่นสาย ออกกำลังกาย ฟังเพลงใหม่ๆ หาอะไรกินอร่อยๆ หัวเราะดังๆ เดินเล่นหย่อนใจ พบปะเพื่อนฝูงหลายกลุ่ม และหาช่วงเวลาส่วนตัวเงียบๆ ทบทวนบทเรียนปีที่ผ่านมาเพื่อมองไปปีหน้า

 

ด้วยอาชีพสื่อมวลชนที่เหมือนคนนั่งริงไซด์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผมลองถอดรหัสปรากฏการณ์และสิ่งที่ควรคิด-ปรับ-เปลี่ยน ออกมาเป็น PDCA ครับ

 

P คือ Permacrisis มาจากการรวมกันของคำว่า Permanent + Crisis แปลเป็นไทยแบบวัยรุ่นเจน Z ก็คือ ‘วิกฤตซ้อนวิกฤตเต็มคาราเบล!’ โดยพจนานุกรม Collins ยกให้เป็นคำศัพท์แห่งปี 2022 

 

จีนเปิดประเทศ 8 มกราคม 2023 คือสัญญาณชัดเจนว่า สามปีของฝันร้ายโรคระบาดกำลังจะจบลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกจะกลับไปเหมือนเดิม ในทางตรงกันข้าม โควิดได้รื้อถอนและเร่งรัดหลายเมกะเทรนด์ ยิ่งเมื่อเจอกับ Black Swan อย่างสงครามยูเครนรัสเซีย ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมลูกแล้วลูกเล่าลามสู่เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย วิกฤตห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน หรือกระทั่งการเปลี่ยนผ่านเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อม

 

ช่วงเวลา 3-5 ปีหลังจากนี้จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์

 

ผมถอดเทรนด์ย่อยในตัว P ออกมาเป็น 4F

 

F แรก Fundamental Shift การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น นโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติทั่วโลกเพื่อสู้เงินเฟ้อยอมเต็มแต่จบ (ไหม?) เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป บอกว่านี่คือการฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ หรือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ Paradigm Shift ครั้งใหญ่ ถ้าลองสังเกตก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงชนิดใต้ดินสะเทือนนี้ในอีกหลายมุม เช่น เกมชิงอำนาจภูมิรัฐศาสตร์สหรัฐฯ-จีน โลกาภิวัตน์ที่แตกเป็นเศษเสี้ยว หรือวิถีการทำงาน สงครามแย่งคนเก่ง

 

F ที่สอง Fragile ยิ่งกว่าผันผวนคือโลกมีความเปราะบางแตกสลายได้ง่ายขึ้นมาก การตัดสินใจผิดพลาดเพียงนิดเดียวส่งผลกระทบมหาศาล ตัวอย่างชัดคือ การตัดสินใจของผู้นำสหราชอาณาจักรจนเงินปอนด์อ่อนหลุดเหว ความโลภของคิงคริปโต FTX ที่สะเทือนจนจักรวาล Web3 เกือบล่มสลาย อภิมหาการเลย์ออฟในบริษัทเทค จนมีคำกล่าวในวงการตลาดทุนว่า ตลาดจะลงโทษนโยบายที่โง่เขลา!

 

F ที่สาม Fragmented การแตกกระจายเชิงอำนาจ โลกไม่ได้มีศูนย์กลางเชิงอำนาจเดียวเหมือนในอดีต โลกาภิวัตน์ไม่ได้หมุนตามกำไรตลอดเวลา แต่หมุนตามกำไรเป็นช่วงๆ จนสหรัฐฯ มีการใช้คำว่า Manage Decoupling คือเป็นการ Decoupling ที่ต้องมีการบริหารจัดการ เกิดเป็น Friend-Shoring ที่ต้องบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเฉพาะพันธมิตร หรือถ้าในมุมการตลาด-การสื่อสาร โลกของโซเชียลมีเดียใหม่ก็บอกเราชัดแล้วว่า แมสมันจบลงแล้ว อินฟลู-ครีเอเตอร์คือเซเลบไม่ต่างจากดารา TikTok-คลิปแนวตั้งสั้นจะมาแรงแน่นะวิ และคำว่าเซ็กเมนต์จะถูกแทนที่ด้วยคอมมูนิตี้แบบใหม่แบบสับที่แตกเป็นเศษเสี้ยว

 

F สุดท้ายคือ Faster Than Ever เทคโนโลยีจะเร่งรุดไปข้างหน้าแบบก้าวกระโดด งานวิจัยใหม่ในทุกมิติจะพัฒนาเร็วแบบทบเท่าทวีคูณ พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันหรือปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ chatGPT บอกเราแล้วว่าโลกในหนังไซไฟอาจมาเร็วและแรงกว่าที่เราคิด

 

จาก P และ 4F ทั้งหมดนี้ อาจทำให้ใครหลายคนเครียด กังวล สุขภาพจิตเสื่อม ฉันจะตามทันไหม พลาดอะไรไปหรือเปล่า ทำไมมีแต่ข่าวร้าย ผมคิดว่าความจริงเราต้องกลับมาตั้งสติดีๆ เพราะมันไม่ใช่ทุกเรื่องจะเป็นแบบนั้นทั้งหมด

 

จึงเป็นที่มาของตัว D คือ Deaverage เราต้องอย่ามองแค่ค่าเฉลี่ย ต้องลบค่ากลางนั้นออก เพราะในแต่ละวงการ แต่ละขนาดธุรกิจ มีจังหวะขาขึ้นขาลง บริบทต่างกันมาก อย่าเหมารวมสิ่งที่เขาพูดในข่าวมาปรับใช้ ต้อง ค.ว.ย. (คิด วิเคราะห์ แยกแยะ) ให้ดี 

 

ยกตัวอย่างเช่น ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวประมาณ 3-4% มากกว่าหลายชาติ เพราะเราเจ็บหนักมานาน พระเอกคือการท่องเที่ยวและบริโภคภาคเอกชน ซึ่งอาจมีนักท่องเที่ยวทั้งปี 22 ล้านคน แม้ยังไม่เท่าก่อนโควิด แต่ก็เป็นสัญญาณชัดว่าธุรกิจภาคบริการและท่องเที่ยวกลับมาแน่ สวนทางกับส่งออกที่น่าจะหนัก เพราะเผชิญกับความเปราะบางเศรษฐกิจโลก 

 

ขณะเดียวกัน ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยยังคงวนเวียน ความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้ง ความมั่งคั่ง รายได้ โอกาส การศึกษา และความยุติธรรม ปีหน้าเราจะมีการเลือกตั้ง นี่คือจุดชี้ชะตาการเปลี่ยน (หรือไม่เปลี่ยน) ขั้วอำนาจครั้งสำคัญ ที่จะบอกทิศทางอนาคตประเทศไทย

 

ใครทำงานส่วนไหนหรือธุรกิจอะไรก็คงต้องแยกกาก กรองของไม่จำเป็น แล้วตกตะกอนดูดีๆ โอกาสยังมีอีกมากครับ

 

P และ D ไปแล้ว ตัวถัดมาคือ C ซึ่งมาจาก Comfortable Being Uncomfortable โลกหลังจากนี้จะมาอยู่ปล่อยใจ ชิลๆ สบายๆ คงยาก ถ้าอยากเป็นผู้นำแถวหน้า หนทางเดียวคือต้อง ‘ทำตัวให้ชินกับสภาวะไม่สบายตัว’ หรือ ‘สร้างภูมิคุ้มกันในโลกที่แตกสลาย’ สนุกกับการเรียนรู้ตลอดเวลา เต้นรำไปกับความผันผวน โต้คลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ฆ่าอีโก้ตัวเองทุกวัน เปิดโอกาสให้ความไม่รู้ กล้าทดลองสิ่งใหม่ ยอมล้มยอมเจ็บเพื่อไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องเหนื่อยครับ เราจึงต้องเพิ่มกล้ามเนื้อแห่งความอึด ความแข็งแกร่ง และความยืดหยุ่นมากขึ้น

 

และตัวสุดท้ายใน PDCA คือ Act Continuously and Consciously ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง และลงมือทำอย่างมีสติ ทำไปแก้ไป เรียนไปคิดไป เมื่อโลกอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน การลงมือทำแบบออโต้ไพลอตคงไม่ใช่ทางเลือก เราต้องกล้าสร้างการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางพายุ

 

ผมคิดว่าความยากของผู้นำคือ

 

  1. ยากในการบาลานซ์ทุก Stakeholders เช่น การเปลี่ยนผ่านสิ่งแวดล้อม ‘เร็วไปก็ไม่ได้ ช้าไปก็ไม่ดี’ การปรับตัวเข้าสู่พฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกเป็นเศษเสี้ยว
  2. ยากในการขับเคลื่อน (Perform While Transform) เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กับยังทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
  3. ยากในการตัดสินใจ ราวกับไต่เส้นลวด ตลาดจะลงโทษนโยบายที่โง่เขลา และต้องไต่เส้นลวดเป็นทีมไปด้วยกัน ต้องเกิด Collaboration ใครมาเขย่าลวดตอนคุณเดินอยู่ก็ตกเหวได้เลย

 

ผมจึงคิดว่าสิ่งที่ผู้นำต้อง Act มากขึ้นในปี 2023 คือ

 

  1. ผู้นำต้องออกไปข้างนอกมากขึ้น ต้องคิดแบบ Outside-In มากขึ้น เชื่อมองค์กรตัวเองเข้ากับโลก เจอ Stakeholders ทุกภาคส่วนมากขึ้น เพื่อมองหาโอกาส จับความร่วมมือ และปิดความเสี่ยงที่คุณอาจไม่เห็นถ้ามัวอยู่แต่ในบ้านตัวเอง 
  2. ผู้นำต้องมีแดชบอร์ด เพราะเวลาคุณมีจำกัดมาก คุณไม่สามารถลงรายละเอียดทุกเรื่องได้ จึงต้องสร้างเครื่องมือหรือคนที่ไวต่อความเปลี่ยนแปลง ตระหนักถึงสัญญาณภัยอันตราย แล้วปรับตัวแบบ Agile ได้ทันสถานการณ์โดยที่ยังตรงกับวิสัยทัศน์ที่วางร่วมกันไว้
  3. ผู้นำต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะ Trust คือสกุลเงินของผู้นำ ไม่มีความเชื่อใจ คุณก็เป็นแค่บอสกระดาษที่ไม่มีความหมาย การ Empathy, Engage, Empower หรือ Humility การถ่อมตนจึงเป็นหัวใจสำคัญมากครับ

 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าโลกข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘พลัง’ ครับ ช่วงปีใหม่ผมเองก็ได้พักผ่อนเติมพลังกายและใจ นอกจากสุขภาพการออกกำลังกายหรือพักผ่อนแล้ว อีกสิ่งที่คนมักมองข้ามคือการอยู่ท่ามกลางคนที่มีพลังบวกก็สำคัญมากนะครับ เราอยู่ใกล้กลุ่มคนแบบไหนก็มีโอกาสที่จะถูกหล่อหลอมเป็นคนแบบนั้น เราเจอโลกยากมากพอแล้ว อยู่ให้ห่างจากพลังลบ ส่งต่อพลังบวกซึ่งกันและกัน

 

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยบอกว่า “คนที่ปรับตัวเก่งที่สุดจะอยู่รอดได้” แต่ผมคิดว่าโลกข้างหน้านี้ “ไม่ใช่แค่ปรับตัวเก่งอย่างเดียว แต่คนที่ปลุกพลังให้ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าต่างหากที่จะอยู่รอดได้อย่างสง่างาม”

 

ในโอกาสปีใหม่ หวังว่าทุกท่านคงจะมีความสุข ได้ทำงานที่รัก มีความสัมพันธ์ที่ดี สุขภาพกายใจแข็งแรง เต็มไปด้วยพลังในปีข้างหน้า ขอบคุณทุกคำติชม แรงสนับสนุนและวิจารณ์มาตลอด พวกคุณคือพลังงานของเรา

 

สวัสดีปีใหม่ 2023 ครับ!

 

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD

 

ป.ล. ในภาพคือพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันที่สะท้อนถึงการปลุกพลังงานเพื่อสู้กับวิกฤตซ้อนวิกฤตได้ดีครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X