×

ปีนี้ ‘เผาจริง’ จริงๆ หรือ?

12.01.2021
  • LOADING...
ปีนี้ ‘เผาจริง’ จริงๆ หรือ?

เปิดมุมมองซอกแซกเศรษฐศาสตร์สำหรับปีนิ้ ผมใช้คำว่า “ปีนี้เผาจริง จริงๆ หรือ”  

 

เมื่อเดือนที่แล้ว หรือเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนที่เหตุการณ์โควิด-19 ระลอกสองจะเกิด ผมมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับนักธุรกิจสำคัญๆ ในหลากหลายวงการ ดังที่เคยเล่าไปแล้ว ในตอนนั้นผมแชร์มุมมองว่าภาวะเศรษฐกิจปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการส่งออก เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มขยับขยายได้ดีขึ้น กิจกรรม​ทางเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับมา แม้จะไม่ได้เร่งตัวแรง แต่อย่างน้อยก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ปรากฏว่านักธุรกิจที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้วยกลับเห็นตรงข้าม เขาใช้คำว่าปี 2563 เผาหลอก ปี 2564 เผาจริง ผมก็เลยเอะใจขึ้นมาว่ามันเกิดอะ​ไร​ขึ้น สิ่งที่ได้มีโอกาสซอกแซกพูดคุยสอบถามมา ผมก็พบว่ามี 2 ปัจจัย อย่างแรกคือว่า เงินเก็บที่ธุรกิจเคยเก็บเอาไว้ได้ถูกนำมาใช้กันแทบจะทั้งหมดแล้วในช่วงการล็อกดาวน์รอบแรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ่ายค่าเช่า พนักงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ

   

ประเด็นที่ 2 ที่นักธุรกิจมองว่าปีนี้แย่กว่าปีที่แล้ว เพราะว่าในช่วงล็อกดาวน์เมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคมปีที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจคือเขากู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ นานา ตอนนั้นก็รู้สึกว่ายอมที่จะกู้มา เพราะคิดว่าใช้เวลาอดทนไม่นาน เดี๋ยวสถานการณ์ก็น่าจะคลี่คลาย 

 

อย่าลืม นั่นคือปลายปี 2563 ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดขึ้นมาอีกรอบหนึ่งด้วยซ้ำ แล้วตอนนี้ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น!

 

หลังจากเปิดต้นปี 2564 ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจก็ดูไม่ค่อยดีนัก นักเศรษฐศาสตร์มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจปีนี้ลงค่อนข้างที่จะเร็วเลย เพราะอุปสงค์หรือการบริโภคในประเทศค่อนข้างอ่อนเเอ 

 

เช่นเคย วันนี้ผมก็มีโอกาสได้ลองไปเดินตลาด ลองไปพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ประกอบการร้านค้า ร้านขายขนม ขายน้ำตามตึกที่พนักงานออฟฟิศชอบที่จะเข้าไปทานอาหารหรือเดินช่วงพักกลางวัน สิ่งที่ได้เห็นคือ คนค่อนข้างจะโล่ง แม้ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสคึกคักทีเดียว และก็เพิ่งผ่านปีใหม่ แต่มาตอนนี้โล่ง โล่งเพราะนโยบาย Work from Home ให้คนทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศไม่เต็มร้อย บางที่ให้เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ 30% บางที่ 50%  

 

เพราะฉะนั้น เมื่อคนน้อยลง ยอดขายก็ฮวบสิ ต่อให้มีมาตรการ ‘คนละครึ่ง’ สุดท้ายแล้วก็ยังไม่สามารถชดเชย หรือชักจูงคนให้เข้ามาซื้อของได้เต็มที่มากนัก

 

ตรงนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญ คนระมัดระวังการใช้จ่าย บางคนต่อให้มีรายได้ประจำ กลับกลายเป็นออมมากขึ้น แบบนี้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า ‘การออมเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน’ อยู่ดีๆ คนก็อยากจะออมเงินขึ้นมาเลย เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะตกงานหรือเปล่า มีภาวะจำเป็นต้องหยิบเงินออกมาใช้หรือเปล่า เหมือนกับในอดีต เพราะฉะนั้นวันนี้เอง ต่อให้มีรายได้ประจำก็อาจจะออมมากขึ้น

 

สิ่งที่ผมสังเกตอีกอย่างคือ ยอดขายลดลงแล้ว รายได้หายไปแล้ว รายจ่ายล่ะ… รายจ่ายไม่ได้ลดลงนะ รายจ่ายที่พูดกันก็คือเรื่องของค่าเช่า ค่าเช่าวันนี้กลับมาเต็ม ตอนล็อกดาวน์รอบแรกเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ช่วงแรกๆ ไม่เก็บค่าเช่า หลังจากนั้นมาเก็บค่าเช่าครึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาปกติ แต่มาวันนี้ไม่มีใครพูดเรื่องค่าเช่า วันนี้ทุกอย่างกลับมาปกติ ค่าน้ำค่าไฟค่าเดินทางทุกอย่าง ตอนนั้นราคาน้ำมันตกต่ำกว่าตอนนี้ แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันกลับขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายต่างๆ วันนี้กลับขึ้นมาค่อนข้างที่จะเร็ว

 

2 อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ลดลง รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ทุกคนก็ยังรู้สึกว่าต้องอดทน อย่างพ่อค้าที่ผมไปคุยด้วย เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรเขาก็อดทน ยังพอที่จะเห็นภาพว่า รอไปฉลองสงกรานต์กัน แปลว่าอะไรครับ ‘สงกรานต์’

 

เดือนนี้คือเดือนมกราคม กว่าจะเห็นการฟื้นตัวก็เดือนเมษายน เขาอดทนรอ 3 เดือน แต่จะมีสักกี่คนที่ใจแข็งและใจสู้ขนาดนี้ ทนรอได้เป็น 1 ไตรมาส

 

อย่าลืมนะว่าเรามีคนอีกจำนวนมากที่ทนไม่ไหวแล้ว เงินเก็บก็ใช้ไปหมดแล้ว เงินกู้ก็กู้ไปแล้ว รอบนี้จะมากู้อีกก็ไม่แน่ใจว่าจะกู้ผ่านหรือเปล่า และที่สำคัญคือ ‘ใจจะไม่สู้เสียแล้ว’ รอบนี้ถ้าจะมีการล็อกดาวน์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผู้ประกอบการเองอาจจะปิดกิจการหรืออยู่บ้านดีกว่า ถ้ามีลูกจ้างก็เลิกจ้างไปเลย การจ้างงานอาจจะลดลง การว่างงานอาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นก็ได้ นี่คือโจทย์ที่สำคัญ

 

และที่น่าห่วงกว่าก็คือวันนี้เองรัฐบาลอาจจะไม่ได้มีเงิน หรือว่ามีนโยบายที่จะเข้ามาช่วยเหลือหรือประคองเศรษฐกิจได้เหมือนกับรอบการล็อกดาวน์รอบแรก รอบนี้แม้ว่าจะไม่ใช้ล็อกดาวน์ก็จริง แต่ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจก็อาจจะรุนแรงได้  

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปี 2564 ผมมองว่าไม่ได้เผาจริง ผมมองว่าปีที่แล้ว อาจจะวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจติดลบ แต่นั่นคือแย่ที่สุดแล้ว เราไม่น่าจะกลับไปซ้ำรอยตอนไตรมาส 2 ที่มีการล็อกดาวน์ได้ รอบนี้เองอย่างน้อยเศรษฐกิจยังพึ่งพาการส่งออกได้อยู่ เศรษฐกิจในประเทศเองยังมีโอกาสเติบโตได้อยู่ 

 

แม้ความเสี่ยงของรอบนี้ไม่ได้เผาจริง แต่ความเสี่ยงก็คือซึมยาว ซึมยาวก็คือไม่ได้ทรุด แต่แค่ทรงๆ เท่านั้นเอง เราก็ประคองกันต่อไป ใครที่เคยได้ดีก็ได้ดีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก อย่างเช่นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, อาหาร ในกลุ่มพวกนี้ก็ยังไปได้ สภาพคล่องในตลาดก็ยังล้น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความมั่งคั่งของคน บริหารสินทรัพย์ตลาดหุ้นก็ยังสามารถใช้ได้ คนเองยังสนใจในการลงทุนไปลงทุนต่างประเทศ กลุ่มพวกนี้ยังไปได้ 

 

แต่ใครที่แย่ก็แย่อยู่ล่ะ จริงๆ เขาก็ไม่ได้เพิ่งมาแย่นะ เขาก็แย่มาหลายปีแล้ว เขาก็ยังทนกันได้อยู่ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว, กลุ่ม SMEs, กลุ่มภาคเกษตร, กลุ่มที่มีรายได้น้อย กลุ่มนี้แย่มานานแล้ว เขายังทนได้ก็ทนต่อไป   

 

โดยสรุปผมยังมองว่าพายุเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ยังอยู่กับเราอีกนาน อาจจะต้องทนอยู่ให้รอดสำหรับปีนี้ จนกระทั่งมีวัคซีน จนกระทั่งนักท่องเที่ยวกลับมา รายได้ในประเทศกลับคืนมาได้ แต่ก็อย่ากระพริบตานะครับ หนทางข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง หากความกลัวของคนไทยที่ไม่ออกมาเดินซื้อหาข้าวของกันเหมือนเดิม หรือพ่อค้าแม่ค้ายังไม่ปรับไปสู่ช่องทางออนไลน์ จะฉุดกำลังซื้อในประเทศหรือไม่ หรือวัคซีนไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เหล่านี้ผมว่าน่าจะเห็นผลกระทบกับเศรษฐกิจชัดเจนในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า 

 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือสุดท้ายหลังจากวิกฤตโควิด-19 ปีนี้ เราจะก้าวผ่านมันไปอย่างไร เราจะสามารถเติบโตอย่างไร ส่วนสำคัญก็คือเรื่องของพ่อค้าที่ผมไปคุยด้วยนี่ล่ะ ทำอย่างไรให้เขามีกำลังใจมากขึ้น มีความช่วยเหลือมากขึ้น สามารถที่จะอยู่รอดไปให้ได้ แล้วก็สามารถที่จะหาอะไรใหม่ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง 

 

พวกเขาก็ต้องคิดเหมือนกันว่า วันนี้จะขายในร้านอย่างเดียวคงไม่พอ จะขายออนไลน์คนก็แข่งขันกันเยอะแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เขาเก่ง สิ่งที่เขามีความสามารถ มันถูกหยิบขึ้นมาใช้ได้ ขายอาหารมีอาหารมากขึ้น มีของที่แตกต่างมากขึ้น จะทำอย่างไรให้มันพัฒนาตรงนั้นได้ 

 

ผมว่าโจทย์มันอยู่ที่พวกเราด้วย เราก็ต้องมานึกถึงสิ่งที่พวกเราทำอยู่วันนี้ ถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิมๆ มันก็แค่รอวันฟื้น แต่ถ้าเราทำอะไรใหม่ๆ ได้คิดอะไรใหม่ๆ ได้ในภาวะวิกฤตแบบนี้ ผมว่าอาจจะเป็นโอกาสรอดสำหรับเราก็ได้ สำคัญคือ ถ้าเรา ‘เชื่อ’ ว่าจะมีโอกาสรออยู่ข้างหน้า เราจะมีความหวังและกำลังใจเพียรสร้างสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เผลอๆ อีก 3 เดือน เราอาจจะเห็นแสงสว่างอย่างที่พ่อค้าที่ผมได้ไปซอกแซกคุยด้วยมองไว้ก็ได้ครับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X