×
SCB Omnibus Fund 2024

สรุปทุกความรู้ด้านพลังงาน และมองไปข้างหน้าอย่างเข้าใจ จากที่สุดแห่งเวทีวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานในประเทศไทย 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum: Global Climate Action for A Better World – ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
05.12.2021
  • LOADING...
2021 The Annual Petroleum Outlook Forum

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 หรือ 1 ทศวรรษแล้ว สำหรับเวทีวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานในประเทศไทย 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum เวทีที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน จะมาแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลในทุกแง่มุมเกี่ยวเนื่องกับทิศทางและอนาคตของพลังงาน

 

โดยในปีนี้ ธีมหลักของเวที 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum ก็คือ Global Climate Action for A Better World – ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า มีแนวคิดจากสิ่งที่โลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลักๆ สองประเด็น ประเด็นแรกคือสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของโลกเป็นเวลายาวนานถึงเกือบ 2 ปี รวมกับประเด็นที่สองคือสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่ทั้งหมดนี้นั้นล้วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นั่นเลยทำให้เวที 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum ของปีนี้นั้นถือว่าเป็นปีที่เข้มข้นทั้งทางด้านเนื้อหาและการวิเคราะห์ ควรค่าเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมพลังงานจะเข้าร่วมรับฟังทุกความรู้ด้านพลังงาน และรวมประสานพลังมองไปข้างหน้าอย่างเข้าใจ

 

ทศวรรษแห่งความท้าทาย

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า นี่คือปีที่ 10 หรือ 1 ทศวรรษของเวที The Annual Petroleum Outlook Forum ซึ่งหลักๆ แล้วคือการวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน รวมถึงคาดการณ์ราคาน้ำมันที่น่าจะเป็นไปได้ผ่านความรู้และปัจจัยจากมุมมองในหลายสาขา ทั้งจากทีมงานของกลุ่ม ปตท. เอง และการร่วมมือกันกับภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์, ความต้องการน้ำมัน, Demand & Supply และแม้กระทั่งจากมุมของผู้ผลิตเอง

 

ประโยชน์ของเวทีนี้ที่สำคัญมากๆ ก็คือการเป็นเวทีที่มอบความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์พลังงาน ที่ช่วยกำหนดและวางแผนนโยบายพลังงานระดับประเทศท่ามกลางความท้าทายมากมายของโลกได้เป็นอย่างดี และส่งผลให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยเรานั้นเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

 

 

OIL DEMAND: Sunrise Above The Clouds

เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ความต้องการน้ำมันนั้นต้องชะงักไปด้วยปัจจัยหลักๆ อันท้าทายมากๆ อย่างโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โควิด-19 ทำให้แทบทุกกิจกรรมของมนุษย์ต้องหยุดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปริมาณความต้องการน้ำมันที่กว่า 60% เป็นน้ำมันที่ใช้ในการขนส่งและการเดินทางลดต่ำลงเรื่อยๆ

 

ในช่วงก่อนโควิด-19 นั้น โลกของเราเคยมีปริมาณความต้องการน้ำมันสูงถึง 100 ล้านบาเรลต่อวัน แต่นับจากที่โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกระบาดและการล็อกดาวน์นั้น ทำให้ปริมาณความต้องการน้ำมันลดลงเรื่อยๆ จนแตะที่ 15 ล้านบาเรลต่อวันเท่านั้น อย่างไรก็ดีหลังจากที่พวกเรากำลังเข้าสู่ช่วงของ Post Lockdown Life ก็มีแนวโน้มและสัญญาณที่ดี ว่าปริมาณความต้องการน้ำมันจะค่อยๆ กลับมาจนเป็นปกติอีกครั้ง

 

 

ในส่วนของราคานั้น ช่วงก่อนโควิด-19 ราคาน้ำมัน Brent Price อยู่ที่ 64.3 ดอลลาร์ต่อบาเรล และราคาก็ลดลงเรื่อยๆ ไปในทิศทางเดียวกันกับความต้องการน้ำมัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ ราคาน้ำมัน Brent Price กลับสูงขึ้นถึง 80 ดอลลาร์ต่อบาเรล

 

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมัน Brent Price มีหลายประเด็นด้วยกัน เช่น เปอร์เซ็นต์จำนวนผู้ที่รับวัคซีนของโลกนั้น แม้ว่าจะอยู่ที่ราว 40% ของประชากรโลก หากแต่ในประเทศพัฒนาอย่างสหราชอาณาจักร เปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับวัคซีนจะอยู่ที่กว่า 70% แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี การระบาดระลอกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปนั้น ก็ไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากเท่ากับระลอกแรกๆ ของการระบาด ด้วยนโยบายการจัดการโรคระบาดที่ดี การเลือกล็อกดาวน์เป็นบางพื้นที่มากกว่าเลือกที่จะปิดประเทศ รวมถึงเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราการจ้างงานค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้น ก็เป็นเหตุปัจจัยให้ราคาน้ำมันที่แปรผันตรงกับความต้องการน้ำมันนั้นเพิ่มขึ้นตาม

 

แม้ว่าหลายประเทศกำลังดำเนินนโยบายเลือกที่จะอยู่กับโควิดด้วยการเปิดประเทศ ซึ่งประเมินตามอัตราการฉีดวัคซีนที่มากพอที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเป็นดังเดิมได้ หากแต่ประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างจีน ที่แม้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนสูงถึง 77% แต่ก็ยังไม่มีท่าทีและสัญญาณใดๆ ที่จะบอกได้ว่าจีนมีแผนที่จะเปิดประเทศเลย ซึ่งจีนนั้นถือเป็นประเทศผู้มีความต้องการใช้น้ำมันสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และหากจีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero COVID Strategy ยังไม่ยอมเปิดประเทศเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมส่งผลต่อความต้องการน้ำมันในระยะยาวแน่นอน

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าสนใจคือความต้องการน้ำมันจากการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางทางอากาศ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การเดินทางหลังช่วงโควิด-19 นั้นเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติขึ้นเรื่อยๆ แล้ว แต่ถ้ามองในภาพใหญ่จะเห็นว่าการเดินทางทางอากาศระหว่างทวีปที่มีการเปิดประเทศมากอย่างฝั่งอเมริกา-ยุโรปนั้น น่าจะกลับมาสูงขึ้นที่อัตรา 65% ของเที่ยวบินทั้งหมดในปี 2022 แต่สำหรับฝั่งเอเชีย-ยุโรปนั้น คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะกลับมาเพียงแค่ 23% เท่านั้น ด้วยเหตุผลสถานการณ์โควิด-19 ทางฝั่งเอเชียยังถือว่าไม่กลับมาอยู่ในอัตราที่ดีมากนัก

 

 

ในส่วนของสภาพเศรษฐกิจ หลายประเทศมหาอำนาจเริ่มใช้นโยบาย Stimulus Package หรือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วยยอดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อผลักดันให้ GDP สูงขึ้น หลายประเทศเลือกแผน Stimulus Package ด้วยเม็ดเงินมหาศาล ตัวอย่างเช่นญี่ปุ่น ที่ใช้เงินจำนวนมากถึง 54% ของ GDP หรือเยอรมันที่มากถึง 35% ของ GDP รวมถึงแผนของการรวมกลุ่มประเทศอย่าง Next Generation EU 2021-2023 ที่ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เราพอจะมีหวังกับระบบเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบไปยังราคาน้ำมันได้

 

แต่สิ่งที่เราต้องระวังและเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็คืออัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนน่าตกใจ แม้ธนาคารโลกจะกำหนดอัตราเงินเฟ้อโลกอยู่ที่ 2% แต่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาก็พุ่งสูงขึ้นถึง 6.2% เช่นกันกับฝั่งยุโรป ก็ยิ่งน่าจับตาดูกันว่าอัตราเงินเฟ้อเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างไม่ยั่งยืน

 

ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลอัตราราคาของพลังงานต้องปรับตัวสูงขึ้นแบบยกแผง และเมื่อบวกเข้ากับสภาพภูมิอากาศหลังจากนี้ที่น่าจะเข้าสู่สถานการณ์หนาวนาน ความต้องการพลังงานจะยิ่งสูงขึ้น และทำให้อัตราราคาน้ำมันสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

โดยทางทีม PRISM คาดการณ์ว่า จากปัจจัยทั้งหมดนั้นจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าเพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านบาเรลต่อวัน แต่ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการเดินทางและการขนส่ง รวมถึงการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

แต่ก็ต้องระวังปัจจัยไม่แน่นอนที่จะทำให้เกิดทั้ง Upside – การเพิ่มขึ้นอีกของการเดินทางและการขนส่ง การวิจัยและค้นพบยารักษาโควิด-19 และ Downside – การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ๆ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ยั่งยืน

 

 

OIL SUPPLY: Challenges Facing Oil Titans

จากสถานการณ์ความต้องการน้ำมัน มาดูกันที่สถานการณ์ในมุมมองของฝั่งผู้ผลิตกันบ้าง

 

เมื่อโลกต้องพบกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว กลุ่ม OPEC+ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาสมดุลของตลาดผู้ผลิตน้ำมัน จึงจัดการประชุมเพื่อที่จะลดกำลังการผลิต หากแต่ไม่เป็นผลเมื่อทางรัสเซียกังวลเรื่อง Market Share จึงทำให้เกิดปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน เกิดปัญหาสงครามราคา และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดต่ำสุดไปอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี

 

หลังยุคโควิด-19 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการใช้น้ำมันก็กลับมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาก็กลับมาสูงขึ้นถึง 84 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่การกลับมาของผู้ผลิตยังคงล่าช้า จนทำให้หลายคนมองว่า นี่อาจเป็นเกมราคาที่น่าจับตามองกันแบบวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

 

 

ผลจากวิกฤตราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำสุดในช่วงโควิด-19 นั้น ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันรายย่อยหลายรายต้องพยายามเอาตัวรอดจากหนี้สินมหาศาล และในที่สุดพวกเขาก็ล้มละลายไป ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มผู้ผลิตที่รอดมาได้ก็ต้องดิ้นรนด้วยกลยุทธ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน การรัดเข็มขัดเพื่อรักษากระแสเงินสด รวมถึงปัจจัยสำคัญที่เปรียบได้กับการช่วยชีวิต เมื่อกลุ่ม OPEC+ หันมาจับมือกันทำข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการลดกำลังการผลิตมากถึง 9.7 ล้านบาเรลต่อวันออกไป และนั่นก็ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามราคาอย่างเป็นทางการ

 

โดยปกติแล้ว ราคาน้ำมันจะขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลักคือ Demand และ Supply เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาหลังโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะที่ Supply หรือผู้ผลิตต้องล้มหายจากไปเป็นจำนวนมากอันเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 และแม้ว่าผู้ผลิตหลักๆ จะยังคงรักษาวินัยในการผลิตเป็นอย่างดี ซ้ำแล้วกำลังการผลิตที่ยังคงถูกจำกัดไว้อยู่ รวมไปถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันที่หยุดชะงักอันเกิดมาจากความไม่แน่นอนและความลังเลใจของเหล่านักลงทุน และการเปลี่ยนถ่ายโลกที่กำลังจะเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดประเภทอื่นๆ ในอนาคต ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Supply มีความตึงตัว และเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงนั่นเอง

 

 

ผู้ผลิตกลุ่ม OPEC+ มีปริมาณการผลิตที่สูงที่สุดของโลกคือราว 50% ของ Global Supply ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่นอกกลุ่ม OPEC+ ก็มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 12% รวมกันแล้วเป็น 62% ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากๆ ดังนั้นทั้ง OPEC+ และสหรัฐอเมริกาจึงมีบทบาทสำคัญมากในฝั่งของผู้ผลิต

 

แม้ว่า Supply จะอยู่ในช่วงตึงตัว การผลิตน้ำมันของหลายประเทศในกลุ่ม OPEC+ ยังคงต่ำกว่าโควตากำลังการผลิต แต่ปัจจุบันกลุ่ม OPEC+ มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นในอัตราเดือนละ 4 แสนบาเรลต่อวัน ยาวไปจนถึงเดือนเมษายน 2022 และแม้ว่าแผนการผลิตระยะยาวของกลุ่ม OPEC+ จะมีไปถึงสิ้นปีหน้า แต่อย่างไรก็ดี ทาง OPEC+ จะยังคงจัดการประชุมกันในทุกเดือนเพื่อติดตามสถานการณ์โลกที่ยังคงไม่แน่นอน และวางแผนกำลังการผลิตอย่างใกล้ชิดและรัดกุมต่อไป

 

 

ที่น่าจับตามองก็คือปัญหาการคว่ำบาตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งปี 2018 และทำให้อิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ แต่ในวันที่ 29 พฤศจิกายน จะมีการจัดประชุมระหว่างอิหร่านกับอีก 6 ประเทศมหาอำนาจเพื่อยกเลิกการคว่ำบาตร หรือผ่อนปรนให้ส่งออกน้ำมันได้ ซึ่งนั่นจะทำให้กำลังการผลิตน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นได้มากอีกถึง 1.4 ล้านบาเรลต่อวันเลยทีเดียว

 

ฟากฝั่งอเมริกานั้นยังคงมีปริมาณการผลิตที่ลดลงอยู่ ปัญหาที่เกิดจากผู้ผลิตที่หายไปจำนวนหนึ่ง บวกกับนโยบายในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมถึงการกลับเข้าสู่ Paris Agreement และการดึงเอาน้ำมันสำรองใน Inventory ออกมาใช้ รวมถึงการปล่อยน้ำมันจากคลังสำรอง SPR เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันที่สูงขึ้น และ Cool Down ราคาน้ำมัน ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้คาดการณ์ได้ว่ากำลังการผลิตของสหรัฐฯ จะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แน่นอน

 

 

จากความตึงตัวของฝั่ง Supply การตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ การปล่อยน้ำมันจากคลังสำรอง SPR ของสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่าสถานการณ์ความต้องการน้ำมันและการผลิตน่าจะเริ่มคลี่คลายจนกลับมาเท่ากันเหมือนอย่างช่วงก่อนโควิด-19 ในราวๆ ปีหน้า และราคาน้ำมันดูไบในปีหน้าน่าจะอยู่ที่ 67-75 ดอลลาร์ต่อบาเรล

ยังมีอีกหลายประเด็นปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ความร่วมมือกันของ 23 ประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC+ การ Sanction ของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อผู้ผลิตน้ำมันสำคัญอย่างอิหร่านและเวเนซุเอลา รวมถึง Environment Policy ที่เกิดขึ้นจำนวนมากระหว่างการประชุม COP26 ที่ผ่านมา

 

 

Global Climate Action for A Better World

 

 

ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางและกลยุทธ์ของ กลุ่ม ปตท. ที่จะต้องรองรับทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตว่า “ปตท. ได้มีการปรับวิสัยทัศน์ใหม่คือ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond – ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต’ เนื่องจากที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้รูปแบบการใช้พลังงานเปลี่ยนแปลงไป Future Energy ต้องเป็นพลังงานที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้ กล่าวคือพลังงานต้องช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ แต่ก็ยังต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยกลุ่ม ปตท. ได้มุ่งพัฒนาธุรกิจที่สนับสนุนพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็น LNG, Renewable Energy, EV, Energy Storage System, Hydrogen เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) ที่ทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพราะกลุ่ม ปตท. เชื่อว่าพลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญในการใช้พลังงานในอนาคต โดยหน้าที่หลักของกลุ่ม ปตท. คือการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทุกบริษัทในกลุ่มฯ มุ่งพัฒนาธุรกิจที่จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิและยั่งยืน เพื่อร่วมผลักดันให้เกิด Low Carbon Society ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้ในที่ประชุม COP26 ว่าจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065”

 

และนี่คือสรุปทุกความรู้ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับพลังงาน ประสานพลังเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า และมองไปข้างหน้าอย่างเข้าใจ

 

โดยทุกท่านสามารถรับชมสุดยอดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum ย้อนหลังได้ทาง Facebook, YouTube และดาวน์โหลดเอกสารการบรรยายได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

 

Facebook: https://fb.watch/9w8ofGU6iG/

YouTube: https://youtu.be/M46nwB6nvb4

เอกสารการบรรยาย: https://prism.pttgrp.com/en/events/detail/58

 

แล้วพบกันใหม่ปีหน้า กับ 2022 The Annual Petroleum Outlook Forum

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising