×

ลูกค้าชาวจีนและแพลตฟอร์มออนไลน์ เหตุผลที่ 2021 เป็นปีทองของสินค้าลักชัวรีกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์

10.08.2021
  • LOADING...
luxury brand

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ลูกค้าชาวจีนคือกลุ่มกำลังซื้อที่ทำให้ตลาดลักชัวรีเติบโตอย่างมากในปีนี้ โดยรายได้ของตลาดลักชัวรีมาจากลูกค้ากลุ่มนี้ถึง 37-40% ของยอดขายทั่วโลก และส่วนใหญ่เป็นการซื้อในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงทำให้ชาวจีนหันมาช้อปปิ้งสินค้าลักชัวรีในประเทศมากขึ้น
  • ทางด้านของลักชัวรีแบรนด์ในประเทศไทย ก็ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อเข้าถึงลูกค้าคนไทยมากขึ้นด้วยการทำ Digital Transformation เพื่อเพิ่มเซอร์วิสอย่างการซื้อผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ หรือ Chat Commerce ไปจนถึง LINE Official Account เพื่อ Localization หรือปรับกลยุทธ์การตลาดให้เข้ากับประเทศไทย
  • ผลวิจัยจาก McKinsey เผยว่า 40% ของการซื้อสินค้าลักชัวรีในปัจจุบัน ลูกค้าได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ออนไลน์ไม่ช่องทางใดก็ช่องทางหนึ่ง อีกทั้งผลวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่าในปี 2567 ข้างหน้านี้ ลูกค้าในกลุ่มลักชัวรีจะสามารถช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ในทุกๆ แพลตฟอร์มได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย

นับว่าเป็นปีทองของตลาดลักชัวรีโลกก็ว่าได้ที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง LVMH, Hermès, Kering และลักชัวรีแบรนด์อื่นๆ มีราคาหุ้นของบริษัทพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ต่างให้เหตุผลว่าในช่วงที่ปิดประเทศ กลุ่มที่มีกำลังซื้อลงทุนไปกับเสื้อผ้าและกระเป๋าแบรนด์เนมแทนการท่องเที่ยว จึงทำให้หุ้นของตลาดลักชัวรีดีดตัวสูงจนเทียบเท่าหุ้นของเทคโนโลยีสหรัฐฯ

 

“ผมมองว่าตลาดลักชัวรีที่มาจากแบรนด์ยุโรปทั้งหลายเทียบได้กับหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องก็ว่าได้ การได้เปรียบจากตลาดกลุ่มนี้คือ ธุรกิจมีความต่อเนื่องทั้งในแง่เชิงการค้าหรือความต้องการก็มีอิทธิพลอย่างสูง” Giles Rothbarth ผู้จัดการบริษัทจัดการกองทุนอย่าง BlackRock European Dynamic Fund กล่าวถึงตลาดลักชัวรีที่เขามองว่าธุรกิจกลุ่มนี้ยังคงเติบโตได้อย่างไม่สิ้นสุดแม้ว่าราคาของสินค้าจะขยับสูงขึ้นในทุกๆ ปีก็ตาม

 

อีกทั้งผลสำรวจของบริษัทวิจัยอย่าง Bain เสริมในกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดลักชัวรีว่า ลูกค้าชาวจีนคือกลุ่มกำลังซื้อที่ทำให้ตลาดลักชัวรีเติบโตอย่างมากในปีนี้ โดยรายได้ของตลาดลักชัวรีมาจากลูกค้ากลุ่มนี้ถึง 37-40% ของยอดขายทั่วโลก และส่วนใหญ่เป็นการซื้อในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงทำให้ชาวจีนหันมาช้อปปิ้งสินค้าลักชัวรีในประเทศมากขึ้น รวมถึงดีมานด์สินค้าเหล่านี้ในจีนก็ทยอยดีดตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราสูงกว่า 60% และเชื่อว่ากระแสดีมานด์นี้จะยาวไปจนถึงสิ้นปีอีกด้วย

 

Windows Display เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปี ของ Monsieur Louis Vuitton สาขาในประเทศญี่ปุ่น เครดิตภาพ Louis Vuitton

 

การเติบโตของกลุ่ม LVMH บริษัทใหญ่ที่สุดในด้านสินค้าลักชัวรี

 

ยักษ์ใหญ่ของตลาดหุ้นลักชัวรีอย่างกลุ่ม LVMH ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในด้านสินค้าลักชัวรีและเป็นเจ้าของแบรนด์สุดหรูมากกว่า 75 แบรนด์ ได้เผยรายได้ครึ่งปี 2021 ว่า LVMH มียอดขายสูงถึง 28.7 พันล้านยูโร และเติบโตกว่า 56% สูงกว่าปี 2020 เกือบ 10 เท่า จากที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตเพียง 17% เท่านั้น โดยยอดขายในเอเชียยกเว้นประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 86% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วนับจาก 3 เดือนแรกของปี 2021 ผนวกกับในสหรัฐอเมริกาออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ จึงทำให้กลุ่ม LVMH มีรายได้เพิ่มขึ้น 23% ตรงกันข้ามกับฝั่งยุโรปที่รายได้ยังคงลดลง -9% เนื่องจากบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ได้มีมาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่เพื่อควบคุมอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้การใช้จ่ายของลูกค้ากลุ่มนี้น้อยลง อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้ของกลุ่ม LVMH เติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดจากลูกค้าในเอเชียเริ่มซื้อสินค้าผ่านช่องออนไลน์กันมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ไม่มากแต่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เพิ่มยอดขายให้กับ LVMH โดยล่าสุดแบรนด์ในเครืออย่าง Louis Vuitton ก็ได้เริ่มขายผ่าน E-Marketplace ของเว็บไซต์ JD.com ในประเทศจีน นอกเหนือจากการขายบนเว็บไซต์ของ Louis Vuitton เองอีกด้วย (คลิกอ่านเพิ่มเติม https://thestandard.co/lvmh-profit-half-year-of-2021/)

 

 

Louis Vuitton เพิ่มช่องทางการขายผ่าน E-Marketplace ของเว็บไซต์ JD.com ประเทศจีน นอกเหนือจากการขายบนเว็บไซต์ของ Louis Vuitton เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

 

“คงไม่มีอะไรสามารถมาทดแทนการเลือกชมสินค้าภายในร้าน แต่เราสามารถเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่สามารถเลือกชมสินค้าผ่านออนไลน์ของเราได้” Jean-Jacques Guiony หัวหน้าฝ่ายการเงินของ LVMH ให้สัมภาษณ์กับ Reuters เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

Hermès ประเทศฮ่องกง เครดิตภาพ RDAI

 

รายได้ที่โตขึ้นเหนือความคาดหมายของ Hermès

 

ทางด้านของ Hermès เผยยอดขายในครึ่งปี 2021 อยู่ที่ 4.235 พันล้านยูโร กระโดดขึ้นมา 77% ซึ่งเป็นผลมาจากลูกค้าที่มีกำลังซื้อในประเทศกลุ่มเอเชียเช่นกัน โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2020 เกินคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 24% เท่านั้น โดยปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้ของ Hermès สูงขึ้นมากเกิดจาก ‘ยอดขายในกลุ่มเอเชีย’ (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกว่า 80.5% เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยเฉพาะยอดขายในประเทศจีน ที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ผนวกกับยอดขายมวลรวมของลูกค้าจากประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไทย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ทางด้านของลูกค้าญี่ปุ่น ถือว่ายังเป็นตลาดที่สำคัญของ Hermès โดยในต้นปีที่ผ่านมามียอดขายเพิ่มขึ้น 20% มากกว่าปีที่แล้ว ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาก็มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 24% จึงช่วยพยุงและชดเชยยอดขายที่ลดลงในยุโรปที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 4.4% เท่านั้น ซึ่งรายได้รวมของ Hermès มาจากกลุ่มค้าขายดีที่สุดของเเบรนด์อย่าง เครื่องหนัง, เสื้อผ้า Ready-to-Wear และเครื่องประดับ (คลิกอ่านเพิ่มเติม https://thestandard.co/hermes-income-at-4-billions-of-euros/ )

 

โดย Eric du Halgouët ผู้บริหารระดับสูงของ Hermès เผยว่า “การเติบโตของยอดขายในต้นปี 2021 ไม่ได้มาจากสินค้าที่ ‘ราคาขยับสูงขึ้น’ เพราะบริษัทมีการปรับราคาเพียง 1.4% เท่านั้น แต่เกิดจากยอดขายออนไลน์ถีบตัวสูงขึ้น 100% หรือมากกว่านั้นในทุกภูมิภาค และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ”

 

GUCCI Aria Show Replays in Shanghai เครดิตภาพ WWD

 

กลุ่ม Kering ยังคงขายดีในเอเชีย

 

ถัดมาที่กลุ่ม Kering ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 อยู่ที่ 8.05 พันล้านยูโร เพิ่มจากเดิมถึง 54.1% โดยหากแยกสัดส่วนรายได้เป็นภูมิภาค ทวีปเอเชีย (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) ยังคงมาเป็นอันดับ 1 ถึง 49% ต่อด้วยทวีปอเมริกาเหนือที่ 26% ทวีปยุโรป 14% ประเทศญี่ปุ่น 5% และประเทศภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ออสเตรเลีย อยู่ที่ 6% (คลิกอ่านเพิ่มเติม https://thestandard.co/kering-show-profit/)

  

Balenciaga Fall 2021 Collection เครดิตภาพ Balenciaga

 

เป็นที่แน่ชัดว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายของสินค้าลักชัวรีพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องมาจาก กลุ่มลูกค้าหลักในประเทศจีนที่มีกำลังซื้อและเพิ่มขึ้นสูงไม่หยุด สืบเนื่องมาจากลูกค้ากระเป๋าหนักที่ไม่สามารถใช้เงินไปกับการท่องเที่ยว อันเป็นผลจากการล็อกดาวน์และปิดประเทศ จึงทำให้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับสินค้าลักชัวรีเพื่อทดแทน และผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือลักชัวรีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเช่นกัน อีกปัจจัยหลักที่สำคัญในตอนนี้คือกลุ่มนายทุนจากประเทศจีนเริ่มลงทุนในพอร์ตเครือลักชัวรีแบรนด์มากขึ้น ยอดขายและกำไรของแบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ ขึ้นอยู่กับตลาดเหล่านี้ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจในจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว บวกกับนโยบายที่มุ่งเน้นการบริโภคภายในประเทศของจีนเอง จึงส่งผลให้บริษัทแบรนด์เนมยักษ์ใหญ่ทยอยย้ายสำนักงานใหญ่ภูมิภาคออกจากฮ่องกงไปยังประเทศจีนเพื่อหวังใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าหลักที่กำลังเติบโตอีกด้วย

 

luxury brand

LINE Official Account จากแบรนด์ GUCCI สำหรับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เครดิตภาพ GUCCI

 

เมื่อลักชัวรีแบรนด์ในไทยรุกตลาดออนไลน์

 

อนึ่ง ทางด้านของลักชัวรีแบรนด์ในประเทศไทยก็ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อเข้าถึงลูกค้าคนไทยมากขึ้นด้วยการทำ Digital Transformation เพื่อเพิ่มเซอร์วิสอย่างการซื้อผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ หรือ Chat Commerce ไปจนถึง LINE Official Account เพื่อ Localization หรือปรับกลยุทธ์การตลาดให้เข้ากับประเทศไทย โดยจะเห็นได้จากลักชัวรีแบรนด์ดังระดับโลก เช่น CHANEL, Louis Vuitton, Dior, GUCCI, Burberry, Cartier หรือแม้แต่ Tiffany & Co. ก็เริ่มมาใช้ Chat Commerce เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น อีกทั้งเปิด LINE Official Account เพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์บนแพลตฟอร์ม LINE เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียลและ GEN Z มากขึ้นเรื่อยๆ โดยผลวิจัยจาก McKinsey เผยว่า 40% ของการซื้อสินค้าลักชัวรีในปัจจุบัน ลูกค้าได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ออนไลน์ไม่ช่องทางใดก็ช่องทางหนึ่ง อีกทั้งผลวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่าในปี 2567 ข้างหน้านี้ ลูกค้าในกลุ่มลักชัวรีจะสามารถช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ในทุกๆ แพลตฟอร์มได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย

 

บทความเกี่ยวข้อง:

 

 

อ้างอิงและเครดิตภาพ:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising