×

2010-2019: ทศวรรษแห่งความเน้นชัวร์ของวงการภาพยนตร์

02.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • บรรดาสตรีมมิงต่างๆ จึงพยายามลงทุนกับผู้กำกับคุณภาพ ที่มักจะมีที่ทางในรางวัลเวทีต่างๆ เพราะหนังของพวกเขาจะทำให้ชื่อของสตรีมมิงนั้นๆ ไปสู่เวทีรางวัลเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตามความพยายามนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังคงต้องดูกันต่อไปว่า แก๊งสตรีมมิงจะทำสำเร็จหรือไม่ หรือระบบสตรีมมิงจะโดนสตูดิโอใหญ่เข้ามายึดครองอยู่ดีในที่สุด
  • Avengers: Endgame คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดๆ ที่ผลรวมของการสะสมพลังคนดูตลอด 10 ปี หนังที่สร้างมาแต่ละเรื่องเหมือนจะจบในตัวแต่ก็จะไม่จบในตัว จะต้องดูให้ครบทุกเรื่องถึงจะเข้าใจสมบูรณ์แบบ และเมื่อดูสะสมเข้าไปเรื่อยๆ ความผูกพันที่มีต่อตัวละครก็มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าง่ายๆ คือ อัตราความล้มเหลวน้อยมาก เพราะสร้างกันมาเป็นเน็ตเวิร์กและสายสัมพันธ์ระยะยาวแบบนี้

เมื่อรู้ว่าเดือนนี้คือเดือนแห่งการสิ้นสุดปี 2019 ก็ได้เวลาแห่งการสรุปภาพรวมของ 10 ปีที่ผ่านมา ว่าวงการภาพยนตร์เกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อเป็นการทบทวนชีวิตว่าที่ผ่านมานั้น เหล่าผู้สร้างหนังฟีดอะไรมาให้เราดูกัน และสำหรับคนที่นึกสนุกมากกว่านั้น มันสามารถเอาไว้ใช้เป็นข้อมูลเพื่อเดากันเล่นๆ ว่าทุกๆ สิ่ง (อาจจะ) ดำเนินไปต่ออย่างไรในทศวรรษใหม่ของโลกภาพยนตร์ 

 

 ภาพจาก celluloidjunkie.com

 

 

ไม่ใหญ่ไม่รอด

หลังจากความสำเร็จของ Avatar ได้เสร็จสิ้นไปในปลายทศวรรษที่แล้ว ฮอลลีวูดก็พบว่า IMAX และความ 3D คือหนทางรอดต่อภัยร้ายของพวกเขา อย่างการดูหนังในคอมพิวเตอร์และบรรดาเทคโนโลยีทีวีจอแบนจอบางราคาถูก (รวมถึงบรรดาสตรีมมิงเซอร์วิสในเวลาถัดมา) ว่าง่ายๆ มันคือยุคสมัยที่คนดูมีตัวเลือกใหม่ๆ ในการดูหนังที่ราคาถูกกว่าโรงหนัง แต่ได้ฟีลลิ่งใกล้ๆ กัน (ไม่เหมือนเป๊ะ แต่ก็อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย) พวกแก๊งสตูดิโอจึงต้องรีบหาอาวุธใหม่มาชน พวกมึงมีทีวี 60 นิ้วได้ แต่พวกมึงมีจอ IMAX สูงเท่าตึก 7 ชั้นไหม ไม่มีล่ะสิ มีระบบเสียงโอบล้อมร่างไหม ไม่มีล่ะสิ มีความสามมิติพุ่งทะลุจอแบบสมจริงมากๆ ไหม ไม่มีล่ะสิ งั้นเดินออกมาดูที่โรงเดี๋ยวนี้

 

สตูดิโอหนังต่างๆ พยายามจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นระหว่างการนั่งดูหนังที่บ้าน และการดูหนังที่โรง เทคโนโลยี IMAX และแว่นสามมิติจึงทำให้เกิดความต่างนี้ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นเราจึงได้เห็นการผลิตหนังที่ใช้กล้อง IMAX ถ่ายตลอดเวลา และมีการผลิตหนังที่จะต้องมีฉากสามมิติออกมาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาพยายามจะสร้างประสบการณ์ให้คนดูมากกว่าสร้างหนัง เพื่อให้คนรู้สึกว่าพวกเขาหาสิ่งนี้ไม่ได้กับ Home Entertainment

 

 

 

ไม่ยาว ไม่รอด

ด้วยความที่จะโชว์ประสิทธิภาพความใหญ่ของระบบการฉาย ประเภทหนังที่สร้างก็เลยมาพร้อมกับแผนการดึงคนออกจากบ้านเช่นกัน หนังแบบไหนกันล่ะที่จะใช้เทคโนโลยีจอยักษ์และสามมิติได้อย่างคุ้มค่า ระเบิดเต็มที่ได้ทั้งภาพและเสียง คำตอบคือ หนังซูเปอร์ฮีโร่ไง ดังนั้นการสร้างหนังโคตรใหญ่เวอร์ซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ จึงปรากฏตัวขึ้นมาพร้อมกับการที่ Marvel Studios ตั้งตัวได้พอดี ยุคหนังซูเปอร์ฮีโร่จึงถือกำเนิดขึ้น รวมถึงสาย Transformers และหนังตระกูล Fast & Furious นี่ยังไม่นับหนังเดี่ยวๆ เรื่องอื่นๆ เช่น Gravity ที่ใช้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีอย่างเต็มสูบ

 

 

 

ไม่ชัวร์ ไม่รอด

แค่ทำหนังใหญ่อาจจะยังไม่พอ คนอาจจะยังไม่ออกมาดูหนังที่โรง มันต้องหาอะไรมากระตุ้นเข้าไปอีก แบบว่ายังไงก็ต้องดูให้ได้ แพลนการสร้างหนังแบบ 10 ปีแบบ Marvel จึงเกิดขึ้น หนังที่สร้างมาแต่ละเรื่องเหมือนจะจบในตัว แต่ก็จะไม่จบในตัว จะต้องดูให้ครบทุกเรื่องถึงจะเข้าใจสมบูรณ์แบบ และเมื่อดูสะสมเข้าไปเรื่อยๆ ความผูกพันที่มีต่อตัวละครก็มากขึ้นเรื่อยๆ คราวนี้เวลามีภาคใหม่ๆ ออกมา อย่างไรมันก็ต้องดูแล้ว (แถมต้องดูวันแรกด้วย เพราะคลื่นกระแสมวลชนแฟนคลับมันรุนแรงเหลือเกิน) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดๆ ไปเลยคือ Avengers: Endgame ที่ผลรวมของการสะสมพลังคนดูตลอด 10 ปี และสามารถหาทางล้มบ็อกซ์ออฟฟิศของ Avatar ได้สำเร็จ (ซึ่ง Avatar เป็นเหมือนหนังต้นทางของพวกนี้ ก็วนครบ 10 ปีพอดี) ว่าง่ายๆคือ อัตราความล้มเหลวน้อยมาก เพราะสร้างกันมาเป็นเน็ตเวิร์ก และสายสัมพันธ์ระยะยาวแบบนี้

 

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับการทำหนังภาคต่อเรื่องอื่นๆ และบรรดาหนังรีเมก รีบู๊ตต่างๆ ที่มีมากเสียจนคนเริ่มบ่นว่าทำไมยุคนี้หาหนังออริจินัลใหม่ๆ ได้ยากเหลือเกิน แต่ผู้สร้างก็ไม่แคร์ เพราะหนังรีเมกและรีบู๊ตต่างๆ ช่วยรับประกันความปลอดภัยของการลงทุนสร้างได้แบบหนึ่ง คือไอเดียหลักของหนังเรื่องนั้นๆ ในสมัยคิดขึ้นมาครั้งแรกมันถูกพิสูจน์ว่ามันเวิร์กมาแล้ว เอามาทำใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็น่าจะสนุกเหมือนเดิม ไว้สำหรับเด็กๆ รุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยดูสมัยเข้าโรง และได้กลุ่มผู้ใหญ่ให้เข้าไปหวนรำลึกความหลังสนุกๆ อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น Jurassic World ที่เป็นการรีบู๊ตของ Jurassic Park แม้ว่าหน้าหนังจะดูเปลี่ยนหมด แต่จริงๆ แล้วโครงสร้างหนังเหมือนกันเลย แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ตื่นตากับหนังเรื่องนี้ราวกับมันไม่เคยมีมาก่อน สายผู้ใหญ่ก็ได้กลับมาลุ้นฉากทีเร็กซ์เหมือนสมัยก่อน โดยไม่ได้สนใจว่าเนื้อเรื่องแบบนี้มันเคยดูมาแล้ว

 

 

 

ไม่จีน ไม่รอด

หนังร่วมทุนกับจีนมีเพิ่มขึ้น เพราะอเมริกาต้องการตลาดอันกว้างใหญ่ของจีน จึงโดนจีนมัดมือร่วมลงทุน ซึ่งในขณะเดียวกันจีนก็ต้องการพิชิตโลกฝั่งอเมริกาเช่นกัน ว่าง่ายๆ คือต่างคนต่างได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ร่วมกัน เราเลยจะเห็นหนังฮอลลีวูดกลิ่นจีนๆ ออกมามากมาย เช่น Pacific Rim: Uprising หรือ Kong: Skull Island หรือจะเป็น Terminator: Dark Fate ที่ดูแล้วมันก็จะเป็นหนังฝรั่งที่สปีดฉุบฉับแบบหนังแอ็กชันจีนอยู่พอสมควร หนังแบบนี้มีออกมาเยอะจนเกือบจะกลายเป็นหนังประเภทใหม่เลย

 

 

 

ไม่พรีเมียม ไม่รอด

ตัดภาพกลับมาที่ฝั่งบรรดาผู้สร้างระบบสตรีมมิงต่างๆ ก็พยายามจะสร้างโลกและจักรวาลของตัวเองให้สำเร็จ โดยมีอาวุธหลักอยู่ที่ราคาที่ถูกกว่า และความสะดวกสบายมากกว่า แต่สิ่งที่พวกเขาอาจจะขาดมีอย่างเดียวคือ คอนเทนต์ออริจินัลที่เป็นของตัวเอง (คือคอนเทนต์ไม่ใช่การเอาหนังสตูดิโออื่นมาฉายเหมือนร้านเช่าวิดีโอ เพราะมีสิทธิ์จะถูกหักหลังสูงมาก อย่างที่ Disney+ ยึดหนังสังกัดตัวเองจำนวนมากจาก Netflix กลับไปยังแชนแนลของตัวเองเพื่อจะทำลายคู่แข่ง) 

 

สร้างคอนเทนต์ตัวเองขึ้นมาได้อย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้คอนเทนต์มีความน่าเชื่อเทียบเท่ากับหนังโรงปกติด้วย เพราะการรับรู้ของคนที่มีต่อหนังสตรีมมิงนั้น พวกเขาก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นหนังทีวีดูฟรีอยู่ดี แม้ว่าโปรดักชันของมันจะยิ่งใหญ่ หรือถูกกำกับโดยผู้กำกับชื่อดัง ฉะนั้นบรรดาสตรีมมิงต่างๆ ก็ยังคงต้องพยายามเอาออริจินัลคอนเทนต์เหล่านั้นไปชุบตัวด้วยการเอาเข้าโรงภาพยนตร์ตามปกติ และถ้าหากเป็นไปได้ก็จะพยายามผลักดันให้ไปถึงเวทีรางวัลอย่างออสการ์ ซึ่งจะเป็นการยกสถานะให้หนังสตรีมมิงเทียบเท่าได้กับหนังโรงปกติในสายตาคนดูทั่วไป 

 

ดังนั้นบรรดาสตรีมมิงต่างๆ จึงพยายามลงทุนกับผู้กำกับคุณภาพ ที่มักจะมีที่ทางในรางวัลเวทีต่างๆ เพราะหนังของพวกเขาจะทำให้ชื่อของสตรีมมิงนั้นๆ ไปสู่เวทีรางวัลเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตามความพยายามนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังคงต้องดูกันต่อไปว่า แก๊งสตรีมมิงจะทำสำเร็จหรือไม่ หรือระบบสตรีมมิงจะโดนสตูดิโอใหญ่เข้ามายึดครองอยู่ดีในที่สุด

 

 

 

 

เอาจริงๆ ตัวแปรสำคัญของช่วง 10 ปีนี้ คือเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามารื้อระบบเก่าทั้งหมด ทำให้เกิดความตื่นตัวเปลี่ยนแปลงกันครั้งใหญ่ ทั้งเรื่องแพลตฟอร์มการฉายและเนื้อหาประเภทหนังที่ถูกสร้างตามความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ นี่ยังไม่นับการที่ตัวภาพยนตร์เองจะต้องแข่งกันกับสื่อใหม่ๆ อย่าง YouTube หรือบรรดาโลกของเกมที่นับวันจะยิ่งใกล้เคียงกับโลกภาพยนตร์ขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงการเล่นและเชิงเนื้อหา (แถมดูแจ๋วกว่า เพราะมันเหมือนเราบังคับตัวละครในหนังได้) มันจึงเป็นการต่อสู้ในเชิงเทคโนโลยีที่มองเห็นเป็นรูปธรรมมากๆ ซึ่งอะไรจะอยู่อะไรจะไป ก็ต้องอยู่ที่ผู้ชมทั่วโลกว่าพวกเขาอยากจะให้ภาพยนตร์ในยุคสมัยของพวกเขาเป็นแบบไหนนั่นเอง

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising