วันนี้ (6 พฤษภาคม) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต. โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.น. ร่วมกันแถลงการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. 2566 ในการเลือกตั้งล่วงหน้า วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566
มีหน่วยเลือกตั้งนอกเขต 55 แห่ง จำนวน 1,421 หน่วย มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 809,748 คน ใช้ตำรวจรักษาความปลอดภัย (รปภ.) หน่วย 1,550 นาย
หน่วยเลือกตั้งในเขตมี 44 แห่ง จำนวน 54 หน่วย มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 4,329 คน ใช้ตำรวจ รปภ.หน่วย 62 นาย
นอกจากนั้นยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว, ชุดสืบสวน หาข่าว, ชุดป้องกันปราบปราม และชุดสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตลอดจนชุดอำนวยการจราจรสถานที่เลือกตั้ง เป็นต้น รวมใช้กำลังพลตำรวจดูแลการเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนทั้งสิ้น 2,997 นาย
พล.ต.ต. โชคชัย กล่าวว่า ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม มีสถานที่เลือกตั้งหลายแห่งที่มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนมากที่อาจเกิดปัญหาการจราจร เช่น เขตเลือกตั้งที่ 14 เขตบางกระปิ สถานที่เลือกตั้ง: บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 52,771 คน, เขตเลือกตั้งที่ 2 เขตปทุมวัน สถานที่เลือกตั้ง: ภายในห้างสยามพารากอน ชั้น 5 มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 40,750 คน, เขตเลือกตั้งที่ 5 เขตห้วยขวาง สถานที่เลือกตั้ง: บริเวณสำนักงานเขตห้วยขวาง มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 28,344 คน, เขตเลือกตั้งที่ 6 เขตดินแดง สถานที่เลือกตั้ง: อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 25,383 คน, เขตเลือกตั้งที่ 9 เขตบางเขน สถานที่เลือกตั้ง: บริเวณสำนักงานเขตบางเขน มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 26,251 คน
ส่วนการรับแจ้งคดีเกี่ยวกับการทำลายป้ายหาเสียงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลรับแจ้งจำนวน 28 ราย เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 10 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนจำนวน 18 ราย
พล.ต.ต. โชคชัย กล่าวอีกว่า ประชาสัมพันธ์ไปยังพรรคการเมืองแต่ละพรรคหรือผู้สนับสนุน บรรยากาศการเมืองของไทยเข้าสู่โหมดของความเป็นประชาธิปไตย การที่จะมาคิดในการทำลายล้างคู่แข่งโดยวิธีต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรที่จะกระทำ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีกฎหมายที่คอยคุ้มครองป้องกัน และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย ไม่คุ้มกัน
หากรักพรรคไหน ให้ใช้ปากกาของท่านในวันที่ 7 กับวันที่ 14 ในการกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่จำเป็นต้องไปทำลายป้ายหรือไปทำให้พรรคอื่นได้รับความเสียหายโดยที่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย
ทั้งนี้ การทำลายป้ายมีความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งที่จับกุมผู้ที่ทำลายป้ายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เมาสุรา วิกลจริต และภัยธรรมชาติ
ด้าน พล.ต.ต. จิรสันต์ กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เตรียมความพร้อมและมีมาตรการดูแล รักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และดูแลการจราจรสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า ดังนี้
- มีการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านการข่าวและการสืบสวนสอบสวนกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดี ที่อาจก่อเหตุสร้างสถานการณ์ และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่มิให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างผู้สมัคร เกิดเหตุประทุษร้ายชีวิต ร่างกาย หรือการตัดคู่แข่งทางการเมือง
- มีการจัดชุดป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และออกตรวจตรา สอดส่อง ป้องกัน มิให้มีการกระทำความผิดกฎหมายในช่วงโค้งสุดท้าย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 และตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น การทำลายป้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง การซื้อสิทธิขายเสียง
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ตำรวจนครบาล 1-9 ประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนการเลือกตั้งในห้วงวันที่ 4-13 พฤษภาคม โดยผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนการเลือกตั้งในห้วงวันที่ 4-5 พฤษภาคม ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป 1,034 คดี 1,056 คน จับกุมบุคคลตามหมายจับ 236 คดี 231 คน
ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 88 คดี 88 คน ของกลาง อาวุธปืน (ไม่มีทะเบียน) 28 กระบอก, อาวุธปืน (มีทะเบียน) 31 กระบอก, เครื่องกระสุนปืน 2,437 นัด, ยาบ้า 25,740 เม็ด, ยาไอซ์ 196.14 กรัม, เคตามีน 81,016.67 กรัม, เฮโรอีน 8.06 กรัม และโคเคน 1.37 กรัม
- การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้ง ชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อการเข้าระงับเหตุ การรักษาความปลอดภัยในการขนย้ายหีบบัตรเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยเฉพาะการจัดการจราจรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามหรือกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
พล.ต.ต. จิรสันต์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยขอฝากประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายที่มักพบเป็นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้แก่
- เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
- ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยง สุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน (6 พฤษภาคม) จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง (7 พฤษภาคม)
- นำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
- ระหว่างการออกเสียงลงคะแนน ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
- ห้ามจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน
- ห้ามนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนน โดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง
หากพบเห็นผู้กระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง