×

สงครามภาคใต้: 20 ปีแห่งความท้าทาย!

04.01.2024
  • LOADING...

ฝ่ายชนะจะพยายามขยายชัยชนะของตนออกไป ยังความเสียหายแก่ข้าศึกให้มากยิ่งขึ้น พยายามเพิ่มหรือขยายเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เป็นผลดีแก่ตน และพยายามไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามบรรลุความมุ่งหมายที่จะหลุดพ้นจากความเสียเปรียบและกู้สถานการณ์อันตรายนั้นได้

 

บทความเรื่อง ‘การรุกโต้ตอบทางยุทธศาสตร์’ (พ.ศ. 2479)

ประธานเหมาเจ๋อตุง

 

 

 

4 มกราคม 2567 … เมื่อ 20 ปีที่แล้วของคืนวันนี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่บุกเข้าปล้นอาวุธปืนในคลังแสงของค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร หรือที่เรียกกันในพื้นที่ว่าค่ายปิเหล็ง ในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และการปล้นอาวุธครั้งนี้เป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของสถานการณ์ความรุนแรงชุดใหม่ของสังคมไทยในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ หรือที่เหตุการณ์นี้ถูกถือว่าเป็น ‘วันเสียงปืนแตก’ ของสงครามระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มมุสลิมติดอาวุธในภาคใต้ไทย ส่วนจำนวนปืนที่ถูกปล้นในวันนั้นมียอดรวมทั้งสิ้น 413 กระบอก และเป็นอาวุธสงครามทั้งหมด 

 

ความรุนแรงในพื้นที่ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาอย่างไม่มีจุดจบ จนมีสภาวะเป็น 20 ปีของสถานการณ์ ‘สงครามการก่อความไม่สงบ’ (Insurgency Warfare) ชุดใหม่ที่สังคมไทยต้องเผชิญในยุคหลังสงคราม พคท. อย่างชัดเจน และดำรงความเป็น ‘สงครามนอกแบบ’ (Unconventional Warfare) ที่ดำเนินการโดย ‘องค์กรติดอาวุธ’ ไม่ต่างจากเดิม หากมีความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนในตัวเองจากเงื่อนไขทางสังคม ศาสนา และชาติพันธุ์ ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์เช่นในยุคสงครามเย็น

 

ดังนั้นบทความนี้จะทดลองนำเสนอมุมมองที่เป็นภาพมหภาคบางประการในรอบ 20 ปีของ ‘สงครามภาคใต้’ ของรัฐไทย โดยจะขอนำเสนอเป็นประเด็นต่างๆ 15 ประการดังต่อไปนี้

 

  1. เราอาจต้องตระหนักในมุมมองเชิงมหภาคว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ของเวลาและกระแสโลก อันส่งผลให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงชุดใหม่ในเวทีโลก เพราะเป็นความรุนแรงใน ‘กระแสโลกมุสลิม’ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์การโจมตีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2544 (เหตุการณ์ 9/11) และตามมาด้วยความรุนแรงที่เกิดกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นได้ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

 

  1. การก่อเหตุนับตั้งแต่การปล้นปืนที่เกิดขึ้นเป็นบทบาทของ ‘ตัวแสดงภายในที่ไม่ใช่รัฐ’ (Non-State Actors) และตัวแสดงนี้มีกองกำลังติดอาวุธในความควบคุม อันทำให้เกิดสภาวะ ‘สงครามของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ’ (Non-State Warfare) ซึ่งรัฐและหน่วยงานความมั่นคงต้องทำความเข้าใจกับคุณลักษณะของสงครามเช่นนี้ เพราะไม่ใช่สงครามตามแบบที่ผู้นำทหารไทยคุ้นเคย แม้รัฐไทยจะเคยมีประสบการณ์จากสงครามคอมมิวนิสต์มาแล้วก็ตาม แต่ก็มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่ต่างออกไปอย่างมาก ตัวแสดงเช่นนี้ในยุค 9/11 ได้แก่ กลุ่มเจไอ (JI) ในภูมิภาค หรือกลุ่มอาบูไซยาฟในฟิลิปปินส์ หรือกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN) ในไทย เป็นต้น

 

  1. การต่อสู้ในสงครามของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าธรรมชาติของสงครามชุดนี้เป็นสงครามการเมือง (Political Warfare) ในตัวเองที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างจากสงครามการทหาร (Military Warfare) โดยเฉพาะชัยชนะในสงครามเช่นนี้จะไม่ถูกตัดสินด้วยอำนาจที่เหนือกว่าทางทหารทั้งหมด และหากพิจารณาในอีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่าสงครามภาคใต้เป็น ‘สงครามอสมมาตร’ อันเป็นปัญหาความขัดแย้งของคู่กรณีที่มีความไม่เท่าเทียมกันในมิติต่างๆ โดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมในมิติทางทหาร การใช้กำลังของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐจึงมีความเป็นอสมมาตรในตัวเองที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาศัยแบบแผนของสงครามอสมมาตรในการบ่อนทำลายความเหนือกว่าของฝ่ายรัฐ

 

  1. ความเป็นสงครามอสมมาตรในรอบ 20 ปี จึงทำให้เกิดการก่อเหตุร้ายมากกว่า 10,000 ครั้ง มีความสูญเสียของชีวิตมากกว่า 6,000 คน และใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าสู่ปีที่ 21 งบในการแก้ปัญหาภาคใต้ทะลุเกินกว่า 5 แสนล้านบาท 

 

  1. การเจรจาเพื่อยุติสงครามระหว่างรัฐกับรัฐเป็นทางเลือกที่สำคัญในการยุติปัญหาข้อพิพาท และอาจมีความง่ายมากกว่าในการดำเนินการแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เพราะต่างมีสถานะที่เท่าเทียมกันของความเป็นรัฐ และต่างฝ่ายอาจดำเนินการในแบบแผนของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (เว้นแต่เป็นปัญหาในแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเล็กกับรัฐมหาอำนาจใหญ่ เช่น กรณียูเครน-รัสเซีย) การแก้ปัญหากับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐจึงอาจมีความยุ่งยากมากกว่า หรืออาจคุยยากกว่า เพราะไม่ชัดเจนว่าจะคุยกับใคร เป็นต้น ดังนั้นการสร้างขีดความสามารถของผู้แทนฝ่ายรัฐในการเจรจาจึงเป็นหัวข้อสำคัญ และต้องไม่นำเอาเวทีการเจรจาไปใช้เพื่อการพีอาร์ตัวเอง ดังเช่นการโฆษณาตัวบุคคลในเว็บของผู้แทนไทยในปัจจุบัน อีกทั้งต้องตระหนักอย่างมากว่าการเจรจาเช่นนี้มีผลผูกพันกับสถานะของประเทศในอนาคต ฉะนั้นการเจรจาจะต้องกำหนดทิศทางและเข็มมุ่งในแต่ละจังหวะก้าวให้ชัดเจนโดยฝ่ายการเมืองที่มีความรู้และความเข้าใจ ทิศทางเช่นนี้ไม่ใช่ถูกกำหนดจากฝ่ายข้าราชการประจำ เช่น ฝ่ายทหาร หรือข้าราชการในหน่วยงานอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ไม่มีความสันทัดในการเจรจาทางการเมือง จนทำให้เกิดช่องว่างอันนำไปสู่การแสวงประโยชน์จากบุคคลที่เกี่ยวข้องบางส่วนบนเงื่อนไขความอ่อนแอของรัฐไทยในกระบวนการเจรจาเช่นนี้

 

  1. เมื่อคู่ขัดแย้งไม่มีสถานะเป็นรัฐ แต่กลับมีอำนาจในทางทหาร จึงทำให้การเจรจาต่อรองในทางการเมืองถูกขับเคลื่อนผ่านปฏิบัติการทางทหารเป็นด้านหลัก ดังนั้นการควบคุมความรุนแรงจากผู้ก่อความไม่สงบจึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะความรุนแรงนี้ในด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐได้โดยตรง แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาทางการเมืองด้วยวัตถุประสงค์ของการสร้างภาพลักษณ์ และการแสวงหาความสนับสนุนทางการเมืองและทางเศรษฐกิจจากภายนอก เพราะปฏิบัติการทางทหารเช่นนี้จะถูกตีความว่าเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงศักยภาพทางทหารของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรืออีกนัยหนึ่ง ความรุนแรงของการก่อเหตุเป็นการโฆษณาเพื่อสร้างผลตอบแทนในตัวเอง

 

  1. รัฐไทยตอบคำถามในรอบ 20 ปีได้หรือไม่ว่า “คู่ขัดแย้งครั้งนี้คือใคร?” จะเป็นตัวแสดงที่ชื่อว่า BRN หรือจะเป็นองค์กรใด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการต่อสู้ เพราะการก่อเหตุในภาคใต้ไม่เคยมีองค์กรที่ประกาศความรับผิดชอบเช่นที่เกิดในเวทีโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในทางความมั่นคงและงานข่าวกรองว่า ทำไมกลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุในภาคใต้ไม่กล้าประกาศความรับผิดชอบ? … ทำไมพวกเขาไม่กล้าเปิดตัวในการเป็นผู้ก่อเหตุ? เพราะข้อมูลในทางการข่าวสามารถยืนยันตัวบุคคลได้พอสมควร อันทำให้เกิดคำถามที่ต้องแสวงหาคำตอบคือ “ทำไมข้าศึกไม่กล้าแสดงตน?”

 

 

  1. สังคมต้องทำความเข้าใจและตระหนักว่าการเจรจาเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงครั้งนี้อาจไม่จบลงได้เร็วหรือได้ผลตอบแทนเร็วอย่างที่หวัง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีระยะเวลานานและมีส่วนที่พอกพูนขึ้นมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมีนัยของปัญหาที่ผูกโยงกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา เศรษฐกิจ และการเมืองทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และ/หรือกลุ่มบางกลุ่มจากสถานการณ์ในพื้นที่ หรือดังที่กล่าวกันว่าสนามรบมีช่องว่างให้บางคนบางกลุ่มแสวงประโยชน์ได้เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มผิดกฎหมาย

 

  1. สำหรับรัฐไทยแล้ว การวิเคราะห์ข้อเรียกร้องและความต้องการทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ถูกต้องเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าเช่นนั้นแล้วในรอบ 20 ปี รัฐตอบได้หรือไม่ว่า ฝ่ายตรงข้ามที่ก่อเหตุต้องการอะไรที่เป็นจุดสุดท้ายของความต้องการทางยุทธศาสตร์ หรือกล่าวให้ชัดคือ BRN ต้องการอะไรของ ‘บันไดขั้นสุดท้าย’ เพราะการตั้ง ‘รัฐเอกราชใหม่’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน คำถามสำคัญในทางรัฐศาสตร์คือ ประเทศใดจะออกหน้าประกาศรับรองรัฐเอกราชเช่นนี้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่ารัฐไทยควรจะงอมืองอเท้าโดยไม่คิดทำอะไรเชิงรุกในเงื่อนไขเช่นนี้

 

  1. ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เป็นสงครามการเมือง การเจรจายุติสงครามการเมืองจะต้องยุติเงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุของสงคราม ถ้าเช่นนั้นอะไรคือเงื่อนไขทางการเมืองที่รัฐไทยจะต้องแก้ไขเพื่อคลี่คลายความรุนแรงชุดนี้ และการแก้ไขปัญหาจะต้องไม่นำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบของข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องบางส่วน กล่าวคือ จะต้องไม่ทำให้สนามรบกลายเป็น ‘ทุ่งเศรษฐี’ ของบางคน เช่นเดียวกับที่การเจรจายุติปัญหาก็จะต้องไม่ใช่ ‘เหมืองทอง’ ของบางคน บางกลุ่มไม่แตกต่างกัน อันทำให้การกำกับการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพกับการแก้ปัญหาจึงเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ แต่ก็มิใช่เป็นโอกาสให้ฝ่ายการเมืองอีกส่วนในรัฐสภาจะใช้ประเด็นนี้ในการสร้างข้อจำกัดกับงานความมั่นคงในพื้นที่ เพียงเพราะจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน และการมีทัศะที่ไม่ตอบรับกับงานความมั่นคง การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้สนับสนุนให้หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจอย่างอิสระในการแก้ปัญหาโดยปราศจากการตรวจสอบ 

 

  1. ตัวแสดงติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐจะหมดพลังขับเคลื่อนต่อเมื่อเงื่อนไขและบริบทของความรุนแรงชุดนี้ไม่มีเสียงตอบรับทั้งจากภายนอกและภายใน ดังตัวอย่างจากกรณีการสิ้นสุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการสิ้นสุดของสงครามแบ่งแยกดินแดนของกลุ่ม MNLF ในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะถ้าการสนับสนุนจากภายนอกลดต่ำลงมากแล้วจะมีนัยโดยตรงต่อความสามารถในปฏิบัติการของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเสมอ แม้จะกล่าวเป็นข้อสังเกตในสงครามก่อความไม่สงบที่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนาว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเช่นนี้ต้องการการสนับสนุนทางการเมืองจากมวลชนในพื้นที่ แต่ความสนับสนุนทางเศรษฐกิจนั้นมักมาจากปัจจัยภายนอกหรือมาจากนอกพื้นที่ เพราะมวลชนในพื้นที่ไม่สามารถแบกรับการสนับสนุนเช่นนี้ได้เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาเอง ดังนั้นจึงน่าสนใจอย่างมากว่าทุนที่ใช้ในการก่อความไม่สงบในภาคใต้ไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้นมาจากแหล่งใด … ใครเป็นผู้สนับสนุนหลัก?

 

  1. ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไร การสนับสนุนจากเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเป็นปัจจัยสำคัญที่ละเลยไม่ได้ ผู้นำไทยทั้งในระดับการเมืองและฝ่ายปฏิบัติต้องแสวงหาหนทางในการพูดคุยกับฝ่ายมาเลเซีย เพราะปัญหานี้จะแก้ไม่ได้จริงโดยปราศจากความร่วมมือของมาเลเซีย ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาคมมุสลิมในเวทีระหว่างประเทศว่า รัฐไทยไม่มีนโยบายในการต่อต้าน และ/หรือกดขี่ทางสังคมและศาสนากับบรรดาศาสนิกต่างความเชื่อและความศรัทธา 

 

  1. สิ่งสำคัญที่ถือเป็นหลักการที่ละเมิดไม่ได้ในสงครามก่อความไม่สงบคือ ฝ่ายรัฐจะต้องไม่ทำความผิดพลาดซ้ำซากจนทำให้มวลชนถอยออกจากรัฐ และในทางกลับกัน รัฐจะต้องทำทุกวิถีทางในการดึงเอามวลชนกลับมาอยู่ฝ่ายรัฐ เพราะหัวใจของสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ (Counterinsurgency Warfare) คือปัญหาสงครามชิงมวลชนระหว่างรัฐกับองค์กรติดอาวุธในพื้นที่ โจทย์เช่นนี้เป็นปัญหาพื้นฐานของทุกรัฐที่ต้องเผชิญกับสงครามชุดนี้โดยไม่มีข้อยกเว้น

 

  1. การกำกับในระดับนโยบายเป็นหัวข้อสำคัญในการแก้ปัญหา ความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ประการเสมอ คือ เอกภาพและบูรณาการของการดำเนินการขององค์กรภาครัฐคือ พลเรือน ตำรวจ และทหาร เพื่อลดการต่อสู้และการแข่งขันของหน่วยราชการที่มักเป็นปัญหาสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะรัฐไม่สามารถขับเคลื่อนสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบได้ด้วยการดำเนินการที่ไร้เอกภาพและขาดการบูรณาการในการทำงาน 

 

  1. หลักการข้อสุดท้ายที่ต้องยึดมั่นเป็นเข็มมุ่งหลักในสงครามเช่นนี้คือ ‘การเมืองต้องนำการทหาร’ และต้องนำให้ได้เสมอ อีกทั้งผู้นำทางการเมืองจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เช่นที่ผู้นำทหารและหน่วยงานความมั่นคงก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้ไม่แตกต่างกัน เพราะไม่มีความสำเร็จในการแก้ปัญหาความรุนแรงของสงครามภายในจะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพราะปัจจัยทั้งสองส่วนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การปรับตัวในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ดังเช่นประสบการณ์ของรัฐไทยใน ‘ยุค 66/23’ ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว … เว้นแต่เราลืมไปแล้ว!

 

บทความนี้อยากจะขอจบด้วยคำกล่าวของประธานเหมาเรื่อง ‘ความพยายามของเรา’ … คำกล่าวต่อไปนี้น่าจะเป็นข้อเตือนใจทั้งผู้มีอำนาจในนโยบาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ตลอดจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องของรัฐไทยได้เป็นอย่างดี ในวาระครบรอบ 20 ปีของสงครามก่อความไม่สงบในภาคใต้ไทย ดังนี้

 

 

 

เมื่อข้าศึกแข็ง เราอ่อน เราก็มีอันตรายที่จะถูกทำลาย แต่ข้าศึกยังมีข้อบกพร่องอื่นๆ และเรายังมีข้อเด่นอื่นๆ ข้อเด่นของข้าศึกอาจถูกบั่นทอนลงเพราะความพยายามของเรา และข้อบกพร่องของมันก็อาจถูกขยายให้มากขึ้นเพราะความพยายามของเรา

 

ฝ่ายเรานั้นตรงกันข้าม ข้อเด่นของเราอาจเสริมให้เข้มแข็งขึ้นเพราะความพยายามของเรา และข้อบกพร่องก็ขจัดเสียได้เพราะความพยายามของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถชนะในที่สุด และหลีกเลี่ยงจากความล่มจมได้ …

 

บทวิจารณ์เรื่อง ‘ทำไมจึงเป็นสงครามยืดเยื้อ?’ (พ.ศ. 2481)

ประธานเหมาเจ๋อตุง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising