×

20 ปีเหตุการณ์ 9/11 สู่ ‘การปะทะกันทางอารยธรรม’ และโลกที่ไร้พื้นที่สำหรับทางสายกลาง

10.09.2021
  • LOADING...
9/11

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • 20 ปีผ่านไปหลังเหตุการณ์ 9/11 ความสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์วันนั้นมีมากมายมหาศาล โครงการ ‘Costs of War Project’ ของมหาวิทยาลัยบราวน์ ได้ประเมินความเสียหายจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายว่า มีผู้คนล้มตายจากสงครามประมาณ 897,000-929,000 คน ในจำนวนนี้ 387,072 คน เป็นพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้แต่อย่างใด เป็นความตายที่เกิดจากสมรภูมิในอัฟกานิสถาน อิรัก เยเมน ปากีสถาน และที่อื่นๆ 
  • ในอดีต คู่แข่งของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเป็นลัทธิสังคมนิยมที่มีตัวตนเป็นรัฐ เห็นหน้าค่าตากันชัดเจน สิ่งที่แตกต่างไปในโลกหลังวินาศกรรม 9/11 คือ สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state Actors) นี้ โดยมากเป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ กลุ่มเหล่านี้ปรากฏตัวออกมามากมายหลากหลาย มีทั้งตัวแสดงที่เคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ กลุ่มอิสลามิกญิฮาดในอียิปต์ และกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน  
  • ฟาวาซ จอร์จ (Fawaz Gerges) นักประวัติศาสตร์ที่ทรงความรู้เกี่ยวกับขบวนการอัลกออิดะห์ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า อุซามะห์ บิน ลาดิน และพวกพ้องใกล้ชิด ได้กำหนดวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ โดยดึงสหรัฐฯ เข้ามาต่อสู้ทำสงครามตามแผนที่ อุซามะห์ บิน ลาดิน ได้วางเอาไว้ พร้อมทั้งล่อให้ระเบิดอารมณ์เข้าใส่โลกมุสลิมอย่างดุดัน

แม้จะผ่านพ้นไป 20 ปีแล้ว แต่โลกก็ไม่อาจลืมเลือนเหตุการณ์วินาศกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า เหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งโลกต้องตื่นตระหนก เมื่อผู้ก่อการได้จี้เครื่องบินจำนวน 4 ลำ โดยเครื่องบิน 2 ลำแรกถูกจี้บังคับให้พุ่งชน ‘ตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์’ ในนครนิวยอร์ก อีก 1 ลำมุ่งหน้าพุ่งชนอาคารเพนตากอน รัฐเวอร์จิเนีย และลำสุดท้ายมุ่งหน้าไปหมายโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ไม่สำเร็จตามเป้า เพราะผู้โดยสารในเครื่องบินลำดังกล่าวช่วยกันขัดขวาง ทำให้เครื่องตกลงกลางทุ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย

 

ถึงอย่างนั้น ความสำเร็จในการโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอนก็มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ เพราะขณะที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของทุนนิยมโลก แต่เพนตากอนก็เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงของสหรัฐฯ อันเป็นที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมที่มีแสนยานุภาพทางการทหารเข้มแข็งเป็นอันดับ 1 ของโลก เรื่องที่เกิดขึ้นจึงเสมือนเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก 

 

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนั้นอย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้กล่าวหาขบวนการอัลกออิดะห์ ภายใต้การนำของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ช็อกโลกครั้งนี้ จนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ เริ่มจากการที่สหรัฐฯ ได้เข้าไปทำสงครามในอัฟกานิสถานเมื่อปลายปี 2001 เพื่อไล่ล่า อุซามะห์ บิน ลาดิน (ก่อนถูกสังหารในปี 2012) และโค่นล้มระบอบตาลีบัน (ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายตาลีบันก็สามารถฟื้นคืนชีพกลับมาสู่อำนาจในอัฟกานิสถานได้อีกครั้งในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2021)

 

 

ยิ่งกว่านั้น สงครามในอัฟกานิสถานยังถูกขยายออกไปยังอีกหนึ่งประเทศที่ถูกอ้างว่าเป็น ‘แกนแห่งความชั่วร้าย’ (Axis of Evil) นั่นคือประเทศอิรักในปี 2003 เพื่อโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน การบุกเข้าไปยังอิรักของสหรัฐฯ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหประชาชาติ แต่เป็นการดำเนินการของสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว แม้สหรัฐฯ จะสามารถโค่นระบอบซัดดัมลงได้โดยใช้เวลาเผด็จศึกไม่นานนัก แต่สงครามต่อต้านสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในอิรักยังคงดำเนินต่อไปจวบจนปัจจุบัน

 

20 ปีผ่านไปหลังเหตุการณ์ 9/11 ความสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์วันนั้นมีมากมายมหาศาล โครงการ ‘Costs of War Project’ ของมหาวิทยาลัยบราวน์ ได้ประเมินความเสียหายจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายว่า มีผู้คนล้มตายจากสงครามประมาณ 897,000-929,000 คน ในจำนวนนี้ 387,072 คน เป็นพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้แต่อย่างใด เป็นความตายที่เกิดจากสมรภูมิในอัฟกานิสถาน อิรัก เยเมน ปากีสถาน และที่อื่นๆ 

 

ขณะที่รายงานที่ออกมาก่อนหน้านี้อีกฉบับของมหาวิทยาลัยบราวน์เช่นกัน ก็ปรากฏผลออกมาอย่างน่าตกใจไม่แพ้กัน คือ นอกจากจะมีคนจำนวนมากที่ต้องบาดเจ็บล้มตายแล้ว สงครามครั้งนี้ยังก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจำนวนมากถึง 37 ล้านคนตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา นี่ยังไม่นับรวมตัวเลขของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและคนบริสุทธิ์ที่ถูกทรมานในคุกลับของสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม 

 

 

การปะทะของแนวคิดสุดโต่ง

หลังสงครามเย็นไม่นาน ซามูเอล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) ได้นำเสนอทฤษฎีการปะทะกันทางอารยธรรม ‘The Clash of Civilizations’ ซึ่งมีข้อถกเถียงสำคัญว่า โลกในอนาคตจะไม่แบ่งแยกด้วยอุดมการณ์การเมืองและเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่จะแบ่งแยกด้วยวัฒนธรรม การสิ้นสุดยุคสงครามเย็นไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งในโลกจะยุติตามไปด้วย ทว่าความขัดแย้งจะแปรเปลี่ยนมาเป็นความขัดแย้งทางอารยธรรม 

 

ในบรรดาอารยธรรม 7-8 อารยธรรมที่ฮันติงตันได้แบ่งไว้นั้น เขาชี้ว่าอนาคตจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลาม เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ซึ่งเป็นเหมือนเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ในโลกยุคใหม่ที่แบ่งแยกโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมออกจากกัน ทำให้ทฤษฎีของฮันติงตันโด่งดังขึ้นมาทันที เป็นเหตุให้คนทั่วโลกต่างจับตามองสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิม 

 

 

ขณะเดียวกัน นับจากเหตุวินาศกรรม 9/11 การก่อการร้ายได้กลายเป็นปรากฏการณ์และเป็นประเด็นหลักที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาคมโลก การก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่นี้ เชื่อกันว่าเป็นปฏิบัติการของ อุซามะห์ บิน ลาดิน และกลุ่มอัลกออิดะห์ของเขา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นเครื่องหมายของ ‘การก่อการร้ายข้ามชาติรูปแบบใหม่’ (Transnational Hyper-terrorism) ด้วยระดับการปฏิบัติการโจมตีที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมในเชิงของพลังการทำลายล้าง และแบบแผนทางยุทธวิธีที่แปลกใหม่ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกและความน่าสะพรึงกลัวมากที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง หรือนับตั้งแต่สิ้นสุดยุค ‘สองขั้วอำนาจ’ (Bipolar) อันเป็นยุคที่โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกกำหนดโดยสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต 

 

การปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ของกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ไม่เข้าไปจัดการกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่ตนเองไม่พอใจโดยตรง (เช่น ปัญหาของชาวปาเลสไตน์และแคชเมียร์ เป็นต้น)

 

 

 

แต่กลับมุ่งเป้าไปต่อสู้กับพลังอำนาจของสหรัฐฯ ที่พวกเขามองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาการกดขี่แทรกแซงโลกมุสลิมทั้งหมด ถือเป็นลักษณะเฉพาะที่ทำให้กลุ่มอัลกออิดะห์โดดเด่นและแตกต่างไปจากกลุ่มหรือขบวนการอื่นๆ ที่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายของตน

 

ในข้อเขียนของ อิกนาซิโอ ราโมเนต์ (Ignacio Ramonet) ใน Le Monde diplomatique (ธันวาคม 2001) เขากล่าวว่า การโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ “เป็นการก่อการร้ายใหม่ ทั้งในรูปแบบของการจัดระบบการทำงานระดับโลกในลักษณะองค์กร การแพร่ขยาย และเป้าหมายของกลุ่ม เป็นการก่อการร้ายที่ไม่มีการเรียกร้องใดๆ อย่างน้อยก็ไม่ได้เรียกร้องเอกราชให้กับประเทศใด หรือไม่ได้มุ่งหวังไปที่การต่อรองทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม หรือการสนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจการปกครองของรัฐบาลใดเป็นการเฉพาะ การสร้างความหวาดกลัวแบบใหม่นี้เป็นการแสดงออกถึงการลงโทษต่อพฤติกรรมโดยรวมของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอย่างไม่เฉพาะเจาะจง รวมทั้งประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช กับวาทกรรมของเขาเรื่องสงครามครูเสด (ก่อนที่ประธานาธิบดีบุชจะถอนคำพูดที่ก้าวร้าวนี้ภายหลัง) และ อุซามะห์ บิน ลาดิน ต่างเรียกการเผชิญหน้ากันครั้งนี้ว่าเป็นการปะทะกันทางอารยธรรมและสงครามศาสนา โลกในทัศนะของ อุซามะห์ บิน ลาดิน แบ่งออกเป็น 2 ค่าย ค่ายแรกอยู่ภายใต้สัญลักษณ์ไม้กางเขน และอีกค่ายอยู่ภายใต้สัญลักษณ์ของอิสลาม”

 

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เองได้กล่าวสุนทรพจน์หลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านพ้นไปได้ 9 วัน โดยมีใจความตอนหนึ่งได้อธิบายในลักษณะแบ่งโลกออกเป็น 2 ค่ายไม่ต่างจาก อุซามะห์ บิน ลาดิน เขากล่าวว่า “…สหรัฐฯ จะรุกไล่ผู้ก่อการร้ายไปจนกว่าผู้ก่อการร้ายไม่มีแผ่นดินหนี รวมทั้งจะทำสงครามกับประเทศที่ให้ที่พักพิงสนับสนุนผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นด้วย ทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะตัดสินว่าจะอยู่ข้างสหรัฐฯ หรืออยู่ฝ่ายผู้ก่อการร้าย หากใครช่วยผู้ก่อการร้ายก็ต้องถือว่าเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ…” 

 

สุนทรพจน์ดังกล่าวประกอบกับภาพโศกนาฏกรรมอันโหดเหี้ยมในเหตุการณ์ 9/11 ทำให้ผู้คนทั่วทั้งโลกเกิดอารมณ์ร่วมเป็นความรู้สึกเกลียดชัง ต้องการเห็นการขจัดภัยก่อการร้ายอย่างรีบเร่ง แม้ต้องใช้มาตรการรุนแรงก็ตาม อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ในขณะนั้นจึงไม่เหลือช่องว่างให้เกิดความคิดอื่นแทรกเข้ามา เวลาผ่านไป 20 ปี เราจึงเริ่มรู้ว่า ‘การปะทะของพวกสุดขั้ว 2 ฝ่าย’ ดังที่ได้กล่าวมา นำมาซึ่งความหายนะต่อสังคมโลกมากมายเพียงใด

 

‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ หรือ ‘สงครามต่อต้านอิสลาม’?

ไม่กี่วันหลังเหตุการณ์ 9/11 นักกฎหมายของทำเนียบขาวได้เสนอเอกสารที่เรียกว่า ‘Authorization for Use of Military Force’ ซึ่งได้ให้อำนาจทั้งหมดแก่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ ในการใช้กำลังกับประเทศ องค์กร หรือบุคคลใดๆ ที่ ‘กำหนดแผน อนุญาต กระทำ หรือช่วยเหลือการโจมตีของผู้ก่อการร้าย’ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติทางกฎหมาย วลีที่เกิดขึ้นใหม่จากกฎหมายฉบับนี้คือ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ สหรัฐฯ ได้ใช้เครื่องมือทุกชนิด ทั้งการทูต เศรษฐกิจ จิตวิทยา และการทหารในการทำสงครามครั้งนี้ อันถือเป็น ‘ปฐมยุทธ์แห่งสหัสวรรษใหม่’ หรือสงครามครั้งแรกในสหัสวรรษที่ 3 ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2001 

 

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างประกาศเจตจำนงมุ่งมั่นที่จะป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย หลายประเทศออกกฎหมายใหม่ๆ ที่มอบอำนาจให้กับรัฐบาลในการจัดการปัญหานี้ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นโดยสหรัฐฯ ที่ต้องการสร้างพันธมิตรในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามความมั่นคงใหม่ดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนสงครามต่อต้านการก่อการร้ายจะเกิดขึ้นท่ามกลางอารมณ์ความโกรธแค้นและอคติเหมารวมต่อขบวนการนิยมแนวทางอิสลามทั่วโลก

 

ดังจะเห็นได้ว่า หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อิสลามถูกมองว่าเป็นอุดมการณ์ใหม่ที่ขึ้นมาท้าทายโลกเสรีนิยมตะวันตก ขบวนการมุสลิมทั่วโลกถูกวาดภาพให้กลายเป็นปีศาจร้าย ไม่ต่างอะไรจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะในโลกหลังวินาศกรรม 9/11 แต่ที่แตกต่างไปก็คือ คู่แข่งของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในอดีตนั้นเป็นลัทธิสังคมนิยมที่มีตัวตนเป็นรัฐ เห็นหน้าค่าตากันชัดเจน แต่ในวันนี้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่รัฐ อีกทั้งยังมีความหลากหลาย แม้ว่าตัวแสดงที่เป็นรัฐมุสลิมส่วนใหญ่จะเป็นพันธมิตรหรือหุ้นส่วนกับมหาอำนาจชาติตะวันตกก็ตาม (มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่เป็นศัตรูของสหรัฐฯ)

 

ผิดกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state Actors) ซึ่งโดยมากเป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ กลุ่มเหล่านี้ปรากฏตัวออกมามากมายหลากหลาย มีทั้งตัวแสดงที่เคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นและระดับโลก เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ กลุ่มอิสลามิกญิฮาดในอียิปต์ กลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถาน ฯลฯ ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคหลังสงครามเย็น แต่ดำรงอยู่มาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามลำดับต้นๆ ของพันธมิตรตะวันตกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

 

แต่หลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏตัวขึ้นมากมายและแสดงบทบาทเด่นชัดยิ่งขึ้นทั่วโลก จนก่อให้เกิดวาทกรรมมากมายที่พยายามนิยามและจัดแบ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ เช่น กลุ่มฟันดาเมนทอลิสต์ (Fundamentalist), กลุ่มอิสลามิสต์ (Islamist), กลุ่มฟื้นฟูอิสลาม (Islamic Revivalist), กลุ่มอิสลามการเมือง (Political Islam), กลุ่มก่อการร้ายอิสลาม (Islamic Terrorist) ฯลฯ

 

แม้คำนิยามเหล่านี้จะมีความหมายที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่ในสายตาของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ก็จัดให้กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีความคิดคับแคบ เป็นพวกหัวรุนแรง และต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป ทั้งนี้ เป็นเพราะในมุมมองของผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯ (โดยเฉพาะพวกอนุรักษนิยมใหม่ หรือ Neoconservatives) ที่มีต่อโลกมุสลิมนั้น ถูกบดบังด้วยมายาคติของความไม่รู้และความมีอคติที่มีอยู่แต่เดิม เป็นการมองกลุ่มขบวนการมุสลิมจากภายนอกในลักษณะเหมารวมเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วโลกมุสลิมมีความหลากหลายอยู่ภายใน 

 

แต่คนเหล่านี้ก็ไม่พยายามเข้าใจว่ากลุ่มขบวนการมุสลิมนั้นมีทั้งกลุ่มที่เคลื่อนไหวโดยเน้นสันติวิธีและกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง มีทั้งกลุ่มที่ต่อต้านตะวันตกและประนีประนอมกับตะวันตก มีทั้งกลุ่มที่พัฒนาและล้าหลัง มีทั้งกลุ่มที่นิยมแนวทางอิสลามและกลุ่มที่ยึดอุดมการณ์ชาตินิยมทางโลก มีทั้งองค์กรการกุศลที่เคลื่อนไหวทางสังคมและกลุ่มที่ขับเคลื่อนทางการเมือง แม้แต่กลุ่มติดอาวุธในโลกมุสลิมเองก็ยังแบ่งออกได้อีกหลายประเภท และมีความแตกต่างกันในเป้าหมายและวิธีการ เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ที่เน้นการต่อสู้ทุกรูปแบบกับมหาอำนาจโลก กลุ่มที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนซึ่งเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น กลุ่มที่ต่อต้านอิสราเอลที่ยึดครองดินแดนอาหรับ กลุ่มที่จับอาวุธต่อต้านอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เป็นรัฐอิสลาม กลุ่มชาตินิยมชนเผ่าแบบตาลีบัน ฯลฯ

 

ที่ผ่านมามุมมองแบบเหมารวมของพันธมิตรตะวันตกที่มีต่อขบวนการมุสลิมนำมาซึ่งความสับสนวุ่นวาย มาตรการที่นำมาใช้เพื่อขจัดขบวนการเหล่านี้ได้นำไปสู่ความคับข้องหมองใจ จนเกิดเป็นวาทกรรมที่ว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่นำโดยสหรัฐฯ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมานั้น แท้ที่จริงคือ ‘สงครามต่อต้านอิสลาม’ ความไม่รู้และอคติที่มีต่อโลกมุสลิมของชาติมหาอำนาจตะวันตกได้ถูกส่งผ่านไปให้พันธมิตรทั่วโลก ผ่านความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย ประชาคมโลกได้รับข่าวสารจากสื่อตะวันตกบางสำนักที่บิดเบือนจนเกิดความหวาดระแวงชาวมุสลิมไปทั่ว กลายเป็นกระแสเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่นับวันยิ่งแพร่กระจายขยายตัวมากยิ่งขึ้น

 

โลกที่ไร้พื้นที่สำหรับทางสายกลาง

ฟาวาซ จอร์จ (Fawaz Gerges) นักประวัติศาสตร์ที่ทรงความรู้เกี่ยวกับขบวนการอัลกออิดะห์ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า อุซามะห์ บิน ลาดิน และพวกพ้องใกล้ชิด ได้กำหนดวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ โดยดึงสหรัฐฯ เข้ามาต่อสู้ทำสงครามตามแผนที่ อุซามะห์ บิน ลาดิน ได้วางเอาไว้ พร้อมทั้งล่อให้ระเบิดอารมณ์เข้าใส่โลกมุสลิมอย่างดุดัน ชนชั้นนำแนวหน้าของขบวนการอัลกออิดะห์จำนวนน้อยนิดคงมิอาจต่อกรกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ได้ซึ่งๆ หน้า วิธีเดียวที่พวกเขาจะทำได้คือก่อ ‘สงครามอสมมาตร’ ที่จะจุดประกายการปะทะครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกมุสลิม

 

เหมือนเป็นการทำนายไว้ล่วงหน้า พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังมันเกิดขึ้นเป็นจริงตามนั้น อันที่จริงความต้องการของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาคือการขับไล่กองทัพของสหรัฐฯ ออกจากผืนแผ่นดินของประเทศมุสลิม โดยเฉพาะในบ้านเกิดของเขาเองอย่างซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญสุดของอิสลาม 2 แห่ง ทั้งนครมักกะฮ์และนครมะดีนะห์

 

ขณะที่นักรบญิฮาดส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าโจมตีไปที่ ‘ศัตรูทางใกล้’ อันหมายถึงรัฐต่างๆ ในโลกมุสลิมที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แต่สำหรับ อุซามะห์ บิน ลาดิน แล้ว ศัตรูตัวฉกาจที่เขาจะต้องจัดการเป็นลำดับแรกคือสหรัฐฯ เขายั่วยุให้สหรัฐฯ เข้ามาสู่โลกแห่งการใช้ความรุนแรง ล่อหลอกให้สหรัฐฯ ตอบโต้อย่างไร้สติ จนกลายเป็นยาพิษที่บั่นทอนสัมพันธภาพระหว่างรัฐมุสลิมกับประชาชนของตนเอง อุซามะห์ บิน ลาดิน ได้แปรสภาพผู้นำรัฐมุสลิมเหล่านี้ให้กลายเป็นพวกคิดคดร่วมมือกับศัตรูนอกศาสนา

 

นอกจากนั้น อุซามะห์ บิน ลาดิน ยังรู้ด้วยว่าเขาสามารถมีชัยเหนือคู่ต่อสู้ได้ เพียงแค่ทำให้อัลกออิดะห์ยังคงดำรงอยู่ ปักหลักต่อสู้จนยอดผู้เสียชีวิตชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น และเกิดค่าใช้จ่ายในการทำสงครามจำนวนมหาศาล จนกระทั่งประชาชนคนอเมริกันเองไม่สามารถจะยอมรับได้ บางคนถึงกับลงความเห็นว่า อุซามะห์ บิน ลาดิน อาจเข้าใจสังคมสหรัฐฯ มากกว่าประธานาธิบดีของตนเองด้วยซ้ำไป หลายครั้ง อุซามะห์ บิน ลาดิน ชี้ชวนให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำในสิ่งที่เขาต้องการ กล่าวคือ ทำให้โลกมุสลิมส่วนใหญ่จมดิ่งสู่ยุคแห่งความโกลาหลและการประหัตประหาร อันเป็นการสร้างเงื่อนไขให้อัลกออิดะห์และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เติบโตเข้มแข็งขึ้นมา

 

บรรดาพวกอนุรักษนิยมใหม่ ซึ่งชี้นำประธานาธิบดีบุชให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ 9/11 อย่างก้าวร้าว กับพวกแกนนำอัลกออิดะห์นั้น ต่างก็เป็นกระจกเงาที่สะท้อนซึ่งกันและกัน พวกเขาต่างเห็นว่าตนเองคือขบวนการฟื้นฟูที่ไม่พึงพอใจกับความทันสมัยที่จอมปลอม ทั้ง 2 ฝ่ายดูหมิ่นกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม ที่สำคัญคือ พวกเขาชอบใช้ความรุนแรงมากกว่าการพูดคุยสานเสวนา สำหรับโลกของพวกเขาแล้ว มันไม่มีทางสายกลาง ไม่มีขาวกับดำ มีแต่อิสลามกับตะวันตกที่ต้องต่อสู้กัน และจะมีเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ได้รับชัยชนะ ทั้ง 2 ฝ่ายมองว่าตนเองเป็นวีรบุรุษผู้ต่อสู้กับความชั่วร้าย พร้อมทั้งดูหมิ่นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้ง 

 

แต่ประเด็นสำคัญสุดคือ พวกเขาทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีส่วนสร้างภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาแห่งความรุนแรง และเป็นความเชื่อความศรัทธาที่เสื่อมทราม อันสอดรับกับแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรมระหว่างมุสลิมกับตะวันตกพอดี

 

แนวคิดสุดโต่งทั้ง 2 ขั้ว ทำให้โลกส่วนใหญ่ตกอยู่ในวังวนแห่งความตาย ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในแง่ของการสูญทางกายภาพ ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม และกลายเป็นผู้ลี้ภัยจำนวนมาก แต่ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกก็ต้องเสียหายอย่างหนักเช่นกัน เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความพ่ายแพ้ทางทหาร และวิกฤตทางศีลธรรมในสายตาประชาคมโลก จนยากที่สหรัฐฯ จะกู้สถานะตนเองกลับคืนมาได้

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X