×

ครม.เคาะ ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ ยืนยันสิทธิ์ เฉพาะคนไทย ผ่านแอป ‘ทางรัฐ’

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2025
  • LOADING...
รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

วันนี้ (8 กรกฎาคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้า ทุกสาย ในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดราคาค่าครองชีพในทุกมิติ ให้กับประชาชน เช่น การปรับราคาค่าครองชีพ ค่าสาธารณูปโภค และค่าพลังงานต่าง ๆ

 

ทั้งนี้ นโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จัดอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้กับประชาชน ที่จะเร่งดำเนินการ ซึ่งมั่นใจว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องด้วยผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีรูปแบบสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถที่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางธุรกิจแตกต่างกัน จึงได้กำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดบนแอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ เพื่อรองรับการใช้งานตามนโยบาย

 

สำหรับเงื่อนไขการลงทะเบียนนั้น ก็เพื่อยืนยันตัวบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก และสามารถใช้ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่เคยลงทะเบียนไว้) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’

 

ทั้งนี้ บัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิ์โดยอัตโนมัติ เมื่อใช้งานหลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 โดยจะครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู, สีน้ำเงิน, สายสีม่วง, สายสีแดง และ สายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL)

 

ทั้งนี้ การใช้บริการรูปแบบบัตร Rabbit Card (บัตรเติมเงิน) จะใช้ได้กับสายสีเขียว, สีทอง, เหลือง, ชมพู ขณะที่บัตร EMV Contactless (หรือบัตรเครดิต Visa/Mastercard) สามารถใช้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง, น้ำเงิน, ม่วง, ชมพู, เหลือง, ARL (ไม่รวมสีทองและสีเขียว)

 

ขณะที่ในอนาคตจะมีการเปิดระบบสแกน QR Code ในมือถือแทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน

 

จิรายุ กล่าวต่อไปว่า โดยมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนี้จะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 279.84 กิโลเมตร 194 สถานี

 

สำหรับแนวทางการชดเชยรายได้ค่าโดยสารจากการดำเนินมาตรการ จะมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม

 

ทั้งนี้ยังได้ประมาณการผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วง 1 ปี ในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับผลประโยชน์ จะประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

 

1. ด้านเศรษฐกิจ ประเมินจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์

 

2. ด้านสังคม ประเมินจากค่าความสุข และการลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ

 

3. ด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

ทั้ง 3 ด้าน ประเมินเป็นประโยชน์ในการประหยัดงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

ภายในช่วงเดือน สิงหาคม 2568 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ และภายใน 1 ตุลาคม 2568 จะเริ่มดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล และภายหลังจากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้โครงสร้างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

“สำหรับมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐเพื่อเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัย สะดวก ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาค่าโดยสารที่เข้าถึงได้ตามนโยบายของรัฐบาล เกิดการใช้บริการในระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และเพิ่มมูลค่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เป็นส่วนสนับสนุนการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้พลังงานน้ำมัน ลดปริมาณมลพิษจากการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ตามแนวสายทางและข้างเคียงให้ดีขึ้น” จิรายุ กล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising