ปี 2025-2026 จะเป็นปีแห่งการกำหนดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ถึงแม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีวาระยาวถึง 4 ปี แต่รอบนี้ชัดเจนครับว่าทรัมป์มาในลักษณะใจร้อนและรอไม่ได้ เพราะนี่เป็นโอกาสรอบสุดท้าย เขาจึงมีปฏิทินในใจที่ชัดเจน
ปฏิทินของทรัมป์ไม่ใช่ 4 ปี แต่เป็น 2 ปี คือต้องการสร้างผลงานและปฏิวัติระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลา 2 ปีแรกก่อนการเลือกตั้งมิดเทอมในสหรัฐฯ ในปี 2026 ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดคะแนนนิยมของ ‘แนวคิดแบบทรัมป์’ (Trumpism) ที่สำคัญ
ไทม์ไลน์ของเขาจึงมีสิ่งที่ต้องทำใน First Day และ First 100 Days จากนั้นก็มาสู่ปฏิทินวันที่ 4 กรกฎาคม 2026 ซึ่งจะเป็นกำหนดฉลองครบรอบ 250 ปีการก่อตั้งสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์กำหนดเป็นเส้นเดดไลน์ให้กับงานปฏิรูประบบราชการและลดทอนกฎระเบียบที่มอบหมายให้ อีลอน มัสก์ ไปทำ นั่นก็จะเป็นช่วงก่อนเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2026 พอดีที่ทรัมป์คงออกมาประกาศว่าลดภาษีไปเท่าไร ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ และลดภาคราชการประหยัดงบประมาณไปได้เท่าไร
มีคนบอกว่าทรัมป์อยู่ได้อีกเพียงวาระเดียวตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แต่หากไปได้สวย ทรัมป์ได้เตรียม ‘ทายาทอสูร’ ไว้เรียบร้อยแล้ว นั่นก็คือรองประธานาธิบดีของเขาอย่าง เจ.ดี. แวนซ์ ในวัย 38 ปี ซึ่งมีความคิดทางนโยบายที่เหมือนกับทรัมป์ทุกอย่าง แถมยังเป็นคนมีการศึกษาและวาทศิลป์ชั้นเลิศ ฟังเขาทีไรดูมีเหตุมีผล ผู้ฟังเคลิ้มตามกันไปได้ง่ายๆ
เพื่อนสนิทของ เจ.ดี. แวนซ์ คือใครทราบไหมครับ คำตอบคือลูกชายคนโตของทรัมป์ชื่อ ทรัมป์ จูเนียร์ จนตอนนี้มีการพูดกันว่าการเลือกตั้งอีก 4 ปีต่อจากนี้อาจเป็น เจ.ดี. แวนซ์ คู่กับ ทรัมป์ จูเนียร์ ในฐานะผู้สมัครรองประธานาธิบดีก็เป็นได้
ส่วนในด้านเศรษฐกิจโลก ภายในเวลา 2 ปีสำคัญนี้ โจทย์ใหญ่ก็คือการกำหนดที่ทางของจีนในการแบ่งเค้กเศรษฐกิจโลก
ภาพใหญ่ตอนนี้คือ สหรัฐฯ ต้องการกีดกันจีนออกจากโต๊ะเศรษฐกิจโลก เพราะเกรงว่าหากให้จีนเข้ามาร่วมโต๊ะอย่างที่เป็นอยู่ จีนจะกินรวบและฮุบมาเป็นผู้นำแทน สหรัฐฯ จึงต้องการกดดันและกำหนดกฎเกณฑ์กติกาใหม่ให้จีนยอมรับ ถึงจะยอมเปิดทางให้จีนเข้าร่วมโต๊ะได้ แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็อาจแยกโต๊ะเป็น 2 โต๊ะไปเสียเลย
ในสมัยรัฐบาล โจ ไบเดน พยายามใช้วิธีแยกเรื่อง คือถ้าเป็นอุตสาหกรรมในเชิงยุทธศาสตร์หรืออุตสาหกรรมที่มีผลต่อความมั่นคง ไบเดนต้องการให้แยกเป็น 2 โต๊ะ อย่ามาเชื่อมโยงกัน แต่ในเรื่องการค้าสินค้าทั่วๆ ไป ไบเดนยังยินดีให้จีนร่วมโต๊ะ เพราะยังต้องการจะซื้อของถูกจากเมืองจีน
แต่ความคิดทรัมป์มาในแนวที่แรงกว่าและไม่ได้แยกเรื่องแบบนั้น ดังนั้นในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ทรัมป์น่าจะกดดันจีนหนักมาก เพื่อบีบให้จีนต้องยอมรับเงื่อนไขใหม่ๆ ตามกฎกติกาโลกใหม่ที่จะคงความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ
คำถามคือ ทรัมป์ต้องกดดันจีนแรงและหนักแค่ไหนกันจีนถึงจะทนเจ็บไม่ไหวยอมมาเจรจาด้วย ขณะที่จีนเองตอนนี้ก็ดูจะตั้งท่าอดทนพร้อมรับทุกแรงกดดัน เหมือนจีนเคยแสดงมาแล้วว่าปิดประเทศตอนโควิดจีนก็อยู่ได้ จีนรับแรงกระแทกได้มากกว่าที่สหรัฐฯ คิด
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ดูเหมือนทิศทางของโลกจะเป็นไปในแนวทางแยกกัน 2 วง แตกเป็น 2 โต๊ะเสียมากกว่า เพราะร่วมโต๊ะเดียวกันไม่ได้อีกต่อไป จีนก็จะถูกกดดันให้ไปตั้งโต๊ะใหม่ จะเรียกว่ากลุ่ม BRICS ก็ได้ หรือในโซเชียลมีเดียจีนเรียกกันขำๆ ว่าพรรคกระยาจก หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและ Global South แยกจากโต๊ะของสหรัฐฯ ยุโรป และพันธมิตรกลุ่มประเทศรวย
โต๊ะสหรัฐฯ ยุโรป และพันธมิตร ตอนนี้อาจดูเป็นก้อนเศรษฐกิจใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 ของ GDP โลก ขณะที่ประเมินว่าโต๊ะที่จีนแยกวงยังมีขนาดเศรษฐกิจรวมเพียงร้อยละ 30 ของ GDP โลกเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นก้อนที่มีศักยภาพในการเติบโตที่สูง เพราะโตจากจุดที่ต่ำ ขณะที่ก้อนใหญ่ของสหรัฐฯ และพันธมิตรนั้นดูอิ่มตัวมากแล้ว จริงๆ การแยกโต๊ะ 2 วงจึงดูไม่เป็นประโยชน์กับใคร แต่ทำอย่างไรได้ เพราะนี่เป็นยุคที่ความมั่นคงและการแข่งขันชิงมหาอำนาจมาแทนตรรกะแบบพ่อค้าและโลกาภิวัตน์เช่นในอดีต
ตรรกะโลกาภิวัตน์เก่าหลายสิบปีที่ผ่านมาคือ เราค้าขายกัน ร่วมโต๊ะเดียวกัน ก้อนเศรษฐกิจทั้งหมดก็ใหญ่โตมโหฬารให้เราแบ่งเค้กกัน ทุกคนรวยขึ้น เพียงแต่สหรัฐฯ เริ่มไม่พอใจว่าจีนรวยขึ้นมาเร็วมากและเริ่มกำลังจะกินรวบแล้ว
ส่วนการเลิกโลกาภิวัตน์ กีดกันจีนออกไป แยกเศรษฐกิจโลกเป็น 2 โต๊ะหรือหลายโต๊ะ ที่ศัพท์วิชาการบางคนเรียกว่า Dual Globalization หรือ Fragmented Globalization ทุกคนย่อมจนลงและเจ็บตัวกันหมด แต่สหรัฐฯ มองว่าจีนจะเจ็บสาหัสกว่า และแม้สหรัฐฯ จะแย่ แต่จะแย่น้อยที่สุดในบรรดาประเทศทั้งหมดที่จะแย่กันถ้วนหน้า
ภาพ: Reuters, Emre Okutan via ShutterStock