×

2 สมาพันธ์แรงงานออกจดหมายถึงนายกฯ เสนอกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เพิ่มทุกปีตามค่าครองชีพและเงินเฟ้อ

โดย THE STANDARD TEAM
10.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (10 ธันวาคม) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล เรื่อง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล ต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับมาตรการควบคุมราคาสินค้า โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

“ตามที่สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้ดำเนินการทั้งการแถลงข่าว การขับเคลื่อนมวลชน การยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงาน และรัฐบาลทั้งรัฐบาลชุดเก่าและชุดใหม่ แสดงจุดยืนในการปรับค่าจ้างหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทำแบบสำรวจสถานะการดำรงชีวิต ค่าจ้าง รายได้ หนี้สินของคนงานให้สังคมได้รับทราบ และภายหลังที่ได้นำเสนอเหตุผลความจำเป็น ได้ถูกทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายทุนดาหน้าแสดงอาการไม่เห็นด้วย คัดค้าน และมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ สสรท. และ สรส. หวั่นไหว เพราะทั้งสององค์กรเป็นตัวแทนของคนงาน ทำงานและเคลื่อนไหวกับพี่น้องแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่พอกินพอใช้ หนี้สินพอกพูน คุณภาพชีวิตตกต่ำ ระบบการจ้างงานก็ไม่มั่นคง ทำให้ความยากจนแผ่กระจายทั่วประเทศ จนถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดของโลก

 

“สสรท. และ สรส. จึงต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนงาน แม้จะทำให้บางกลุ่ม บางคน กลุ่มทุน และรัฐบาลไม่พอใจ ซึ่งคนเหล่านี้ก็ได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพราะมีพื้นที่ มีช่องทางครอบคลุม ถึงขั้นกรอกหูสังคม ข่มขู่ผู้ใช้แรงงานได้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องฟังเสียงของคนงาน คนยากจน แต่เฉพาะในส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ ต้องปรับทัศนคติตัวเองและเข้าใจความเป็นจริงบ้างว่าผู้ใช้แรงงานคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ หากแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ไม่ได้ จะแก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไร จะแก้ปัญหาความยากจน จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร การสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และหลักประกันในอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชน สร้างศักยภาพเศรษฐกิจในประเทศแบบพึ่งพาตนเองเป็นด้านหลัก คือการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ไม่ใช่รอแต่นักลงทุนจากต่างประเทศ รอนักท่องเที่ยวมาสร้างเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากยิ่งในสถานการณ์ความเสี่ยงของสังคมโลกในปัจจุบัน

 

“ทำไมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้

 

“1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ บัญญัติไว้ใน ข้อ 23(3) ว่า ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการประกันความเป็นอยู่อันควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์สำหรับตนเองและครอบครัว และหากจำเป็นก็จะได้รับการคุ้มครองทางสังคมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมด้วย

 

“2. อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 131 บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 ว่า องค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับของค่าจ้างขั้นต่ำ ตราบเท่าที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับแนวปฏิบัติและสภาวการณ์ภายในประเทศ ต้องรวมถึงความจำเป็นของคนงานและครอบครัวของคนงาน โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ ประโยชน์ทดแทนต่างๆ จากการประกันสังคมและมาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่นๆ

 

“3. รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพรรคเพื่อไทยมีนายกฯ ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14  พฤษภาคม 2566 ดูเหมือนว่าจะเข้าใจสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ และได้เสนอนโยบายเร่งด่วน เช่น แจกเงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป พร้อมกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 600 บาท จ้างงานในวุฒิปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นต้น

 

“อย่าให้ประชาชนกล่าวหาว่านโยบายที่ใช้หาเสียงนั้นเป็นเพียงนโยบายเพื่อให้ได้คะแนนเสียงเท่านั้น จนถึงขณะนี้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยมีปัญหามากมาย รวมทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ ก่อนหน้านี้ก็บอกว่าค่าจ้างต้องไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดวันละ 370 บาทเท่านั้น และอัตราต่ำสุดอยู่ที่ 330 บาท ซึ่งปรับเพิ่มเพียง 2-16 บาทเท่านั้น ในขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค, น้ำมัน, ก๊าซหุงต้ม, ค่าไฟฟ้า, ค่าโทรศัพท์, อินเทอร์เน็ต, ค่าขนส่ง, ค่าเดินทาง ได้ปรับราคาขึ้นอย่างมาก รัฐบาลไม่สามารถที่จะควบคุมราคาได้ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลปล่อยกิจการของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจถูกถ่ายโอนการผลิตให้กลุ่มทุนเอกชนเกือบทั้งหมด

 

“ประเทศไทยไม่อาจเดินลำพังโดยไม่ปฏิสัมพันธ์กับนานาชาตินั้นไม่ได้ เมื่อรัฐบาลจะพัฒนาประเทศ จึงต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติ ต้องทำให้จริง ทำให้ได้ อย่าเลือกทำบางเรื่อง ไม่ทำบางเรื่อง เลือกปฏิบัติ สังคมไทย สังคมโลกจะประณามว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ดี เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ในหลักสากลว่าต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องชี้วัดว่า ‘รัฐบาลจริงจัง จริงใจในคำประกาศแค่ไหน’ ค่าจ้างที่แถลงมานั้น ลำพังคนเดียวอยู่ได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ แล้วเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร รัฐบาล กลุ่มทุน และคนที่เห็นต่าง…ลองตอบคำถามดู

 

“ทำไมการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ

 

“1. ผลเสียของการปรับค่าจ้างที่ต่างกัน
ประการแรก ประเทศไทยเริ่มประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเมื่อปี 2516 วันละ 12 บาท และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละช่วงแต่ละปีเรื่อยมา จนมาถึงปี 2537 รัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้ค่าจ้างลอยตัว แต่ละเขต แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดสามารถปรับขึ้นค่าจ้างเองได้โดยผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด แล้วส่งมาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสิน

 

“ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงานยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดูจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง รัฐไทยยังไม่รับรอง ทั้งๆ ที่เป็นอนุสัญญาหลักของ ILO ในต่างจังหวัดจึงแทบจะไม่มีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของคนงานอย่างแท้จริงร่วมพิจารณาการปรับค่าจ้าง จึงทำให้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำกันมาก บางพื้นที่รอยต่อจังหวัดต่อจังหวัด ค่าจ้างต่างกันแต่ต้องซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในการครองชีพแตกต่างกัน

 

“และที่สำคัญทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูง ทำให้เกิดเมืองแออัด ทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤตการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบทล่มสลาย ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคเกษตรไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง สภาพเช่นที่กล่าวมาก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน

 

“ประการที่สอง กล่าวคือ วันนี้คนงานคนหนึ่งต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเพราะค่าจ้างต่ำ ในขณะที่สินค้าอุปโภค-บริโภค ราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้จะอยู่ในต่างจังหวัด แต่วิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ผูกพันกับร้านสะดวกซื้อซึ่งราคาสินค้าไม่แตกต่างกัน บางรายการแพงกว่าในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป แค่เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างจังหวัดก็แพงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก แต่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะควบคุมราคาสินค้า หรือกำหนดราคาสินค้าให้อยู่ในกรอบราคาเป็นเขตพื้นที่เหมือนกับค่าจ้าง ซึ่งจะมีข้ออ้างทุกครั้งว่าการปรับค่าจ้างแล้วราคาสินค้าจะขึ้นราคา แท้จริงแล้วในผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์

 

“2. ผลดีหากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ

 

“ประการแรก จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เขตค่าจ้างสูง เพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงาน กระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครอบครัวไม่แตกสลาย

 

“ประการที่สอง เมื่อปรับค่าจ้างให้คนงานมีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้ เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้ มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ อีกด้านหนึ่งเมื่อคนงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถวางอนาคตตนเองและครอบครัวได้ เช่น การศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

 

“การปรับค่าจ้าง หากมองมิติเดียวแคบๆ แบบไร้วิสัยทัศน์ไม่ได้ เพราะจะทำให้การพัฒนาประเทศไร้ทิศทางไปด้วย คือ อุตสาหกรรม กลุ่มทุนเติบโตร่ำรวยอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวคนงานยากจนลง ก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ ก้าวไม่พ้นเรื่องความยากจน ก้าวไม่พ้นเรื่องหนี้สิน ต่อให้กี่รัฐบาล ต่อให้กี่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยากที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ได้

 

“ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่จะพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานจะนำเสนอ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน จะต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรม ให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคส่วน รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างภาครัฐ ซึ่งยังรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

 

“สสรท. และ สรส. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น ที่ได้ขยายไปเรื่อยๆ จาก 4 ราคาในปี 2561 เป็น 9 ราคาในปี 2565 และกำลังจะเป็น 17 ราคาในปี 2567

 

“และรัฐบาลควรกำหนดให้แต่ละสถานประกอบการจัดทำ โดยให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า และปรับค่าจ้างทุกปีตามดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ โครงสร้างค่าจ้างจะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ ผู้ประกอบการก็สามารถวางแผนธุรกิจได้ พรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องนำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไปหาเสียง และจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเท่าใด พร้อมๆ กับการปรับค่าจ้าง ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising