×

สรุปประเด็น ‘บัตร 2 ใบคนละเบอร์ ใครได้ประโยชน์’ มุมมองจาก กมธ.-นักวิชาการ ถึงระบบเลือกตั้งที่ดี

31.03.2022
  • LOADING...
บัตร 2 ใบ คนละเบอร์

วานนี้ (30 มีนาคม) รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD สัมภาษณ์ สมชัย ศรีสุทธิยากร โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

กรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมี สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเสียงข้างมากให้กติกาการเลือกตั้งทั่วไป ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคนละเบอร์ คือเบอร์ของผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต จะแตกต่างจากเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเดียวกัน

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวว่า เรื่องนี้คุยกันตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ยังไม่มีความเห็นที่ตกผลึกร่วมกัน มีการอภิปรายให้ความเห็นต่างมุม สำหรับการลงมติวันที่ 30 มีนาคม มีความเห็น 2 ทางประกอบด้วย 

 

  • ฝ่ายที่เสนอให้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นเบอร์เดียวทั้งประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายค้าน เช่น เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ และบางส่วนของประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนา

 

กลุ่มนี้เขารู้ว่าเวลาเลือกตั้งจะสื่อสารกับประชาชนได้ง่าย บอกครั้งเดียวเบอร์เดียว พรรคก็หาเสียงง่าย ประชาชนก็มีความสะดวกไม่ต้องไปจดจำให้สับสน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็จัดการเลือกตั้งได้สะดวก 

 

  • ฝ่ายที่เสนอให้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคนละเบอร์ ฝ่ายนี้เห็นว่า แม้แบบแรกจะดี แต่มีอุปสรรคคือ มาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่มีการแก้ไข แม้จะแก้เรื่องบัตรเลือกตั้งให้เป็น 2 ใบ แต่มาตรา 90 ไม่ได้ถูกแก้ไขด้วย ยังค้างอยู่ 

 

สาระสำคัญคือ พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครในระดับเขตก่อนส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นการออกแบบสำหรับบัตรใบเดียวที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เมื่อมีบัตร 2 ใบ ต้องไปสมัครที่เขตก่อน ก็ไม่มีทางที่จะได้เบอร์เดียวกับบัญชีรายชื่อ เพราะฉะนั้นจึงเป็น 2 เบอร์ที่แตกต่างกันแน่นอน กรณีแบบนี้ก็จะออกมาว่า แต่ละเขตเบอร์จะไม่ตรงกัน และเบอร์ของเขตก็ไม่ตรงกับเบอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเดียวกันด้วย

 

สมชัยกล่าวว่า นอกจากมาตรา 90 แล้ว ยังมีการอภิปรายเพิ่มเติม เช่น ถ้าเบอร์เดียวทั้งประเทศ จะทำให้ซื้อเสียงง่าย เดี๋ยวจะเกิดการซื้อเสียงกันทั่วบ้านทั่วเมือง ราวกับว่าที่ผ่านมาไม่มีการซื้อเสียง จึงขอให้เป็นคนละเบอร์จะได้ซื้อยากอีกนิด

 

อีกเรื่องที่เขาอภิปรายคือ อยากจะให้ประชาชนคิดเยอะๆ ก่อนตัดสินใจกาให้พรรคให้คน ถ้าเป็นเบอร์เดียว กาง่าย ไม่ค่อยได้คิด ไม่ค่อยได้ไตร่ตรอง จึงให้ประชาชนคิด ไตร่ตรองเยอะๆ จำเบอร์มาแม่นๆ 

 

เมื่อที่ประชุมลงมติแล้วเป็นบัตร 2 ใบคนละเบอร์ ชนะเสียงข้างมาก ในขั้นวาระ 2 คงต้องคุยกันอีกยาว แล้วให้ที่ประชุมสภาเป็นผู้ตัดสินว่าจะเอาตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือจะเอาตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย

 

ผู้ดำเนินรายการถามสมชัยว่า ที่ประชุมมีการแสดงความกังวลเรื่องแลนด์สไลด์หรือไม่ 

 

สมชัยกล่าวว่า ทุกคนพยายามจะพูดโดยใช้เหตุผลไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ว่าจริงๆ แล้วลึกๆ การตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น เขาคิดว่าประเมินมาแล้วได้เสียงต่างๆ อย่างไร ส่วนตัวพยายามจะบอกว่าอย่าเอาพรรคการเมืองเป็นที่ตั้ง ถ้าเอาพรรคเป็นที่ตั้ง การกำหนดกติกาจะทำให้บางพรรคได้เปรียบ บางพรรคเสียเปรียบ ท้ายสุดเราจะมีอคติในการคิดในการตัดสินใจ 

 

แต่ถ้าเราเอาหลักการว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง อะไรเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด เราจะตัดสินใจโดยความปลอดโปร่งและได้สิ่งที่ถูกต้องออกมา อยากจะบอกว่า เวลาที่จะจัดการเลือกตั้ง 

 

หลักประการที่ 1 ให้ประชาชนเข้าสู่การเลือกตั้งได้โดยสะดวกที่สุด หลักการนี้ต้องอยู่ในการออกแบบของ กกต. หาวิธีการว่าใครอยากเลือกตั้งต้องได้เลือกตั้ง ไม่ใช่ใครอยากเลือกตั้งต้องกรอกแบบฟอร์มไม่รู้สารพัดกี่แบบซึ่งเป็นการเข้าถึงที่ยาก หรือวิธีการเข้าถึงรูปแบบอื่นๆ จะทางไปรษณีย์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ก็ดี พวกนี้ต้องพยายามส่งเสริมให้คนเข้าถึงการเลือกตั้งให้ได้ง่ายที่สุด 

 

ประการที่ 2 เวลาประชาชนไปเลือก ผลของการเลือกต้องตรงกับใจเขาที่สุด ฉะนั้น ความสับสนต่างๆ ต้องเอาออกไปให้มากที่สุด ไม่ใช่ต้องมากาสลับกัน ระหว่างตั้งใจเลือกพรรคกับตั้งใจเลือกผู้สมัคร กลายเป็นผิดทั้ง 2 ใบ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่ดี 

 

ผู้ดำเนินรายการถามย้ำว่าบัตร 2 ใบคนละเบอร์ แม้ไม่ได้พูดตรงๆ แต่มีเพื่อป้องกันแลนด์สไลด์หรือไม่  

 

สมชัยกล่าวว่า เข้าใจว่าจากการประเมินที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เขาอาจจะกลัวฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทยมากไปหน่อย แล้วบังเอิญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเสนอ เมื่อเพื่อไทยเสนอ อีกฝ่ายก็ต้องคิดว่าข้อเสนอนี้เพื่อไทยได้ประโยชน์ จึงโหวตในทางตรงข้าม 

 

สมชัยกล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า ประเทศไทยไม่มีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ไม่ได้มีเหตุผลจากประโยชน์ประชาชน แต่เป็นเหตุผลที่มาจากฝ่ายการเมืองเป็นหลัก 

 

วันดีคืนดีทำไมบอกว่าเอาบัตรใบเดียว ก็เพราะต้องการให้พรรคหนึ่งแพ้ วันดีคืนดี เลิกบัตรใบเดียว ให้กลับมาเป็นบัตร 2 ใบ ก็เพราะวันนี้คิดว่าตัวเองเป็นพรรคใหญ่ แล้วกลัวจะตกที่นั่งแบบเดียวกับพรรคเดิมในอดีตที่เคยแพ้มาแล้ว 

  

ง่ายๆ คือ หมายความว่าวันที่พรรคเพื่อไทยโตก็ไปจำกัดเขา โดยใช้วิธีเอาบัตรเลือกตั้งใบเดียว คำนวณบัญชีรายชื่อ จัดสรรปันส่วนผสม ฉะนั้นปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทยจึงกลายเป็นศูนย์ 

 

แล้ววันหนึ่งเมื่อพรรคตัวเองโตขึ้นมา ถ้าใช้กติกาเดิมก็รู้สึกว่ากลัวปาร์ตี้ลิสต์ตัวเองจะเป็นศูนย์แบบเพื่อไทยตอนนั้น จึงเกิดวิธีการคิดใหม่ว่า ต้องเปลี่ยนมาเป็นบัตร 2 ใบ พอเปลี่ยนมาเป็น 2 ใบ พรรคที่เคยคิดว่าใหญ่กลับแฟบลงมา เพราะมีคนย้ายเข้าย้ายออก จึงเกิดความรู้สึกใหม่ว่า เป็นการแก้เพื่อเข้าทางเพื่อไทยหรือเปล่า 

 

ฉะนั้นอย่าหวังว่าประเทศไทย การเมืองไทยจะพูดคุยด้วยเหตุผล เพราะทุกอย่างเป็นผลประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าการพูดจาต่อหน้าประชาชนใช้เหตุผลทางวิชาการ หลักการสารพัดมาพูดให้รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองพูดนั้นดูดี ไม่ได้มาจากการมองประโยชน์ของประชาชน แต่มาจากการคิดว่ากติกาแบบนี้ตัวเองได้เปรียบหรือตัวเองเสียเปรียบ  

 

ผู้ดำเนินรายการถาม พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคนละเบอร์ เป็นเกมการเมืองที่ใครมีอำนาจก็อยากจะออกแบบกติกาให้ได้เปรียบมากที่สุดใช่หรือไม่ 

 

พรสันต์กล่าวว่า ส่วนตัวสวมหมวกนักวิชาการ ฉะนั้นจะแสดงความคิดเห็นผ่านกรอบทางวิชาการ ผ่านกรอบรัฐธรรมนูญ การให้เหตุผลว่าการออกแบบแบบนี้ เกิดจากความกลัวว่าพรรคการเมืองหนึ่งจะแลนด์สไลด์ มันไม่เป็นเหตุเป็นผลในทางหลักการ ในทางรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งในทางกฎหมายไม่ได้รับฟังอยู่แล้ว

 

ต้องกลับมาตั้งสติใหม่ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ กำลังออกแบบการเลือกตั้งสำหรับการที่จะหาเจตนารมณ์ของประชาชนไม่ใช่หรือ แต่ตอนนี้กลายเป็นการพูดคุยระหว่างนักการเมือง ขณะที่ประชาชนอย่างเรามองตาปริบๆ ว่าคุณคุยเรื่องอะไรกัน ทำอะไรกันอยู่ กลายเป็นว่าประชาชนไม่ได้ถูกนับเป็นตัวแปรในการคิดสมการ ในการออกแบบระบบเลือกตั้งเลย ฉะนั้นเวลาที่มานั่งพูดเรื่องการแลนด์สไลด์หรือไม่ ไม่ได้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน

 

การเลือกตั้งที่ดีคือ สามารถดึงเอาเจตนารมณ์ของประชาชนออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช่ป้องกันพรรคไหนชนะ เวลาอธิบายเชิงวิชาการ ในทางรัฐธรรมนูญ ถ้าการแลนด์สไลด์คือเจตนารมณ์ของประชาชน เขาอยากจะเลือกแบบนั้น นี่คือเรื่องระบอบประชาธิปไตย แบบผู้แทนที่ประชาชนอยากเลือกพรรคไหน อยากเลือกผู้แทนแบบไหน ก็เป็นสิทธิของเขา จะไปบอกว่าห้ามเลือก แปลว่ากำลังทำอะไรอยู่ การอธิบายแบบนี้จึงไม่มีน้ำหนักในทางกฎหมาย

 

พรสันต์กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกประเด็นข้อดี ข้อเสีย ข้อโต้แย้ง ประเด็นในทางกฎหมาย จะเอาเบอร์เดียวกันหรือคนละเบอร์ มีหลักการทางรัฐธรรมนูญที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด คือข้อกังวลของมาตรา 90

 

“ผมมองในมุมนักกฎหมาย ผมคิดว่าสาระสำคัญจริงๆ แล้ว สิ่งที่เรากำลังพูดถึงตอนนี้คือ ระบบการเลือกตั้ง โดยเชิงหลักการที่สำคัญ ออกแบบระบบให้สะท้อนความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการออกแบบให้มีความซับซ้อน เป็นอุปสรรคในการผลักดันเสียงสะท้อนของประชาชน ในทางรัฐธรรมนูญเป็นการออกแบบที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ยิ่งสร้างขั้นตอนเยอะ ยิ่งทำให้เสียงประชาชนในการไปคัดเลือกผู้แทนราษฎรที่จะเข้าไปนั่งในสภาอาจถูกบิดผันไปได้มาก ด้วยความที่สร้างกระบวนการที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

 

ส่วนที่บอกว่าอยากให้ประชาชนคิดรอบคอบมากขึ้น ในมุมมองผม มันกลายเป็นอีกแบบ ไม่ได้คิดแบบคนที่เสนอ เพราะสิ่งนั้นกลายเป็นทำให้ประชาชนต้องคิดว่า ไม่รู้ว่าจะกาผิดหรือกาถูก ต้องคิดให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่คิดให้รอบคอบ กลายเป็นคิดว่าต้องมาคิด จะกาผิดหรือกาถูก เป็นการสร้างอุปสรรคให้ประชาชน แทนที่เขาจะเลือกโดยง่ายๆ ว่า ต้องการคนนี้ ต้องการพรรคนี้ ไปเป็นผู้แทนในสภา 

 

ระบบการเลือกตั้งที่ดีคือ ออกแบบให้ง่ายที่สุด แล้วสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เขาต้องเลือกผู้แทนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สะท้อนว่า เขาต้องการให้คนนี้เข้าไปทำหน้าที่แทนเขา”

 

พรสันต์กล่าวด้วยว่า ฝ่ายที่เสนอบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคนละเบอร์ อย่างแรกเขากังวลเรื่องมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ แล้วเขาบอกว่ามันจะเป็นประเด็นใหญ่ถ้าใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศมันจะขัดกับตัวมาตรา 90 

 

จริงๆ มาตรา 90 เป็นผลพวงจากการที่ไปออกแบบระบบรัฐธรรมนูญการจัดสรรปันส่วน ผสมในการเลือกตั้งแบบเดิม จึงต้องเขียนมาตรา 90 ขึ้นมา เพราะมาตรา 90  เป็นฐานในการคิดคำนวณคะแนน ต้องไม่ลืมว่าระบบการเลือกตั้งการจัดสรรปันส่วนผสมแบบเดิม ก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมไป มันมีการผูกโยงระหว่างการคำนวณการลงคะแนนแบบแบ่งเขต แล้วเอาตรงนั้นมาเป็นฐานคิดสำหรับการกำหนดบัญชีรายชื่อ ดังนั้นมาตรา 90 ว่าง่ายๆ คือกลไกของระบบการเลือกตั้งแบบเดิม แต่ปัจจุบัน เราต้องเข้าใจว่า เรามีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งแบบนี้ไปแล้ว เราเปลี่ยนระบบจัดสรรปันส่วนผสมไปเป็นระบบใหม่ ที่เรียก Parallel ในการคิดเป็นระบบบัตร 2 ใบ แบบแบ่งเขตก็เรื่องหนึ่ง แบบปาร์ตี้ลิสต์ก็เรื่องหนึ่ง ว่าง่ายๆ เรากำลังย้อนกลับไประบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540   

 

ดังนั้น ฐานการคิดคะแนน ส.ส.แบ่งเขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มัน Parallel มันแยกขาดออกจากกันอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นเมื่อไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แล้วไปอ้างมาตรา 90 เพื่อจะบอกว่าต้องเป็นคนละเบอร์ เป็นคำอธิบายระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เราแก้ไขแล้ว แต่อธิบายมาตรา 90 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบเดิม จึงเป็นการผิดฝาผิดตัว ย้อนแย้งในตัวเอง 

 

“การอ้างมาตรา 90 จึงเป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง บางคนบอกว่าถ้าไม่อ้างมาตรา 90 จะขัดเจตนารมณ์ผู้ยกร่าง แต่ผมมองว่าการอ้างมาตรา 90 นี่แหละเป็นการขัดเจตนารมณ์ผู้ยกร่างจริงๆ และขัดรัฐธรรมนูญที่เราแก้ไปใหม่”

 

พรสันต์กล่าวว่า ขอพูดในทางวิชาการ ปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เราแก้ระบบเลือกตั้งแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในประเทศไทยค่อนข้างมีปัญหา แล้วคนก็เข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควรว่า เวลาเราจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยหลักจะต้องเสนอตัวร่างว่าจะแก้ไขมาตราไหนบ้าง อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ แต่กรณีครั้งล่าสุด เราจะทำการแก้ระบบเลือกตั้ง แล้วจับพลัดจับผลูเราไปเสนอแค่ 2 มาตรา แล้วก็เหลือมาตราอื่นๆ อยู่ มีประเด็นว่าการออกกฎหมายลูกจะมีปัญหาหรือไม่ 

 

จริงๆ แล้วในหลักการ เมื่อเสนอแก้ 2-3 มาตรา แต่มันเป็นมาตราที่เป็นโครงหลักสำคัญของระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยหลักการแล้วสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเสนอมาตรานั้นมาตรานี้ใส่เข้าไป นี่คือประเด็นปัญหาที่นักการเมืองในสภาเข้าใจหรือไม่เข้าใจกันอย่างไร

 

บางครั้งไปเดินตามลายลักษณ์อักษรจนไปทำลายหลักการ หลายคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในสภาคงเข้าใจ วาระแรกจึงเรียกว่า วาระรับหลักการ ซึ่งหมายถึงโครงสร้างใหญ่ ฉะนั้นรับหลักการว่าต้องการให้การเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ มันก็คือบัตร 2 ใบ แสดงว่าในมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับที่รับหลักการ ก็ต้องแก้ไขไปเสียทีเดียวเพื่อให้สอดคล้อง ไม่ใช่ไปทิ้งร้าง การทิ้งร้างจึงเกิดปัญหาทิ้งเป็นมรดกปัญหาแบบนี้ 

 

ส่วนที่ที่ประชุมบอกว่าป้องกันการซื้อเสียงให้ยากมากขึ้น พรสันต์กล่าวว่า 

 

“สำหรับผมเหตุผลนี้ไม่มีน้ำหนักทางรัฐธรรมนูญ จะเอาเหตุผลนี้ไปทำลายโครงสร้างของระบบการเลือกตั้งทั้งหมด แบบใหม่ที่แก้ไขไป โดยบอกว่ากลัวการซื้อเสียง ผมคิดว่ามันไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอ แล้วการแก้ปัญหาซื้อเสียงเป็นระบบการบริหารจัดการ มีองค์กรอิสระ เราจะมี กกต. ไว้ทำไม

 

ที่สำคัญการกำหนดให้คนละเบอร์เพื่อให้ซื้อเสียงยากขึ้น ต้องไม่ลืมว่าในมุมกลับมันสร้างภาระมากขึ้นให้กับประชาชน ในรัฐธรรมนูญมีหลักการนี้อยู่เช่นกัน เรื่องหลักความได้สัดส่วน เวลาที่จะไปกำหนดเกี่ยวกับเรื่องภาระหน้าที่ต่างๆ ของประชาชน ต้องไม่ไปสร้างหรือผลักภาระให้ประชาชนมากจนเกินควร จนถึงขนาดว่าประชาชนต้องมานั่งแบกรับ เดี๋ยวเลือกตั้งครั้งนี้ต้องจดเบอร์แบบแบ่งเขตเบอร์นี้ เลือกพรรคเบอร์นี้ แล้วแต่ละเขตก็ไม่เหมือนกันอีก ฉะนั้นทำให้ประชาชนมีภาระเพิ่มเติมมากขึ้น  

 

เหตุผลของฝ่ายสนับสนุนบัตร 2 ใบคนละเบอร์ ตามที่อาจารย์สมชัยเล่า จึงไม่มีเหตุผลมากพอในทางรัฐธรรมนูญ” พรสันต์กล่าว

 

เกาะติดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ Facebook: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising