วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2024 ถือเป็นวันครบรอบ 20 ปีของ Facebook โซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของโลกที่มียอดผู้ใช้งานต่อวันอยู่ราว 2.09 ล้านล้านราย โดยประมาณ 1 ใน 4 ของผู้คนทั่วโลกใช้บริการ Facebook ในทุกๆ วัน แสดงให้เห็นถึงความนิยมของแพลตฟอร์มที่ถูกใช้โดยคนจำนวนมากบนโลก
เนื่องในโอกาส 20 ปีนับตั้งแต่ Facebook เปิดตัว เราจะขอชวนมาดู 4 เรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นโดย โจ ไทดี นักข่าวไซเบอร์จาก BBC ว่าเจ้าแพลตฟอร์ม Facebook นั้นเข้ามาเปลี่ยนโลกเราไปโดยสิ้นเชิงอย่างไร?
ผู้พลิกโฉมวงการโซเชียลมีเดีย
แม้ Facebook จะไม่ใช่โซเชียลมีเดียรายแรก แต่แพลตฟอร์มของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีตั้งแต่เปิดตัวในปี 2004 โดยในเวลาไม่ถึง 12 เดือน Facebook สามารถกอบโกยผู้ใช้งานมาได้ถึง 1 ล้านบัญชี จนในที่สุดก็สามารถแซงหนึ่งในคู่แข่งที่เกิดขึ้นมาก่อนอย่าง MySpace ได้สำเร็จในระยะเวลา 4 ปี ด้วยนวัตกรรมอันหนึ่งที่ทำให้การ ‘แท็ก’ คนอื่นๆ บนรูปภาพเกิดขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ที่ใหม่และถูกใจชีวิตวัยรุ่น ณ ตอนนั้น
เพียงแค่ในปี 2012 แพลตฟอร์มก็มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนเกิน 1 พันล้านรายไปแล้ว และตัวเลขในปัจจุบันยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการสะดุดระหว่างทางอยู่บ้างก็ตาม
ด้วยสถานะที่ได้ชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่นิยมมากที่สุดในโลก บางคนมองว่า Facebook คือเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทรงพลัง แต่กลุ่มที่มองต่างก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนเสพติด จนอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างทางสังคมได้
ผู้ที่ทั้งสร้างคุณค่าและบั่นทอนความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล
ในปัจจุบัน Meta เป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรจากการเก็บบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลของเราได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในฐานะบริษัทที่ทำรายได้จากการโฆษณาขนาดใหญ่ ผ่านบริการการเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำผ่านข้อมูลของผู้ใช้งาน Meta มีรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 เป็นเม็ดเงินมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มอย่าง Facebook ก็เผยอีกด้านหนึ่งให้เห็นว่า ธุรกิจการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะมีหลายกรณีในอดีตนับตั้งแต่แพลตฟอร์มเปิดตัว ที่ข้อมูลเหล่านี้มิได้ถูกจัดเก็บไว้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
เคสหนึ่งที่ค่อนข้างโด่งดังเกิดขึ้นตอนปี 2014 เมื่อ Facebook ถูกเชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาที่มีบริษัทนำข้อมูลผู้ใช้งานแพลตฟอร์มกว่า 50 ล้านรายไปทำแคมเปญหาเสียงทางการเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทต้องชำระค่าปรับจำนวน 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเยียวยาความเสียหายต่อการถูกละเมิดข้อมูล
นอกจากนี้ในปี 2022 Facebook ก็ต้องเจอกับค่าปรับมูลค่า 265 ล้านยูโรอีกครั้ง เนื่องจากปล่อยให้มีเหตุการณ์ที่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานถูกดึงออกไปจากแพลตฟอร์มได้
ผู้ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสังเวียนทางการเมือง
สาเหตุที่ Facebook กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่ต้องการของผู้ที่ทำแคมเปญการเมืองทั่วโลก เพราะบริการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด เช่น เมื่อตอนปี 2020 ข้อมูลงานวิจัยจาก Statista เผยว่า ทีมงานของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทุ่มเงินถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใส่เข้าไปในการยิงโฆษณาบน Facebook
มากไปกว่านั้น การเมืองระดับรากหญ้ายังถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะมันกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ใช้งานจากหลากหลายพื้นที่ในหลายประเทศ สามารถมารวมตัวและวางแผนความเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับโลกได้
ทว่าการใช้ Facebook เพื่อดำเนินความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ก็ตกเป็นสิ่งที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่ตามมาในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะในปี 2018 ทางแพลตฟอร์มออกมายอมรับถึงความล้มเหลวที่ตนไม่สามารถป้องกันเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาได้ ซึ่งอัลกอริทึมของ Facebook ที่ให้ความสำคัญกับ ‘กำไร’ ก็เป็นชนวนที่นำมาสู่ความรุนแรงดังกล่าว
ผู้ที่ให้กำเนิดอาณาจักร Meta ผู้ครองตลาด
ด้วยผลสำเร็จที่ท่วมท้นของ Facebook มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้สร้างอาณาจักรโซเชียลมีเดียที่ทรงพลัง ทั้งในมิติของจำนวนและอิทธิพลต่อผู้ใช้งาน
บริษัทอย่าง WhatsApp, Instagram และ Oculus ต่างถูกซื้อให้เข้ามาอยู่ในเครือเดียวกับ Facebook ที่หลังจากปี 2021 ก็เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการภายใต้นาม Meta ซึ่งมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มอันใดอันหนึ่งประมาณ 3 พันล้านคนในแต่ละวัน
ถึงแม้ว่า Meta จะไม่สามารถเข้าซื้อโซเชียลมีเดียได้ทุกรูปแบบ แต่การออกผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับคู่แข่งก็จำเป็นต้องมีออกมาให้ใช้เพื่อรักษาตำแหน่ง ‘เจ้าตลาด’ เอาไว้ให้ได้
ฟีเจอร์ Stories ที่มีอายุการมองเห็น ก็เป็นอะไรที่คล้ายกันกับของ Snapchat หรือ Reels ก็เป็นการโต้กลับของแพลตฟอร์มต่อการแข่งขันในฝั่งของ TikTok รวมถึง Threads ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดูแล้วจะคล้ายกับ X (Twitter) ค่อนข้างมาก
สำหรับ 20 ปีที่ผ่านมา Facebook ได้เฉิดฉายและเติบโตมาอย่างต่อเนื่องจากวิสัยทัศน์ของซีอีโอ แต่ท่ามกลางอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ต่ออีก 20 ปี ก็ดูแล้วจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างที่เราเห็นว่าทิศทางของบริษัทก็เริ่มจะหันเหออกจาก Facebook มาสู่เมตาเวิร์สมากขึ้น รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย
ดังนั้นต่อจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของเวลาในการพิสูจน์ว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และอาณาจักรของเขา จะรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ไปได้อีกนานเท่าไร
ภาพ: Justin Sullivan / Getty Images
อ้างอิง:
- Facebook at 20: Four ways the app changed the world
- Myanmar: Facebook’s systems promoted violence against Rohingya; Meta owes reparations – new report – Amnesty International
- Cambridge Analytica: all the news about Facebook’s data privacy scandal – The Verge
- Facebook User and Growth Statistics to Know in 2024
- Joshua Schachter