*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา*
เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา ซีรีส์แนว Multilayer Drama จากค่าย Miti Art Media กับเนื้อหาที่เล่าถึงความสัมพันธ์สามเส้าข้ามรุ่นที่ซับซ้อนอย่างสละสลวย ผ่านงานกำกับและเขียนบทของ พรรณศักดิ์ สุขี ผู้กำกับละครเวทีมากฝีมือ
ซีรีส์เริ่มขึ้นด้วยการแนะนำให้ผู้ชมรู้จักกับ ศศิวิมล (แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช) ผู้กำกับสาววัยกลางคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และ แวง (ปอนด์-พลวิชญ์ เกตุประภากร) ลูกชายดื้อเงียบหัวขบถที่อยากออกเดินทางสู่ขั้วโลกเหนือจรดขั้วโลกใต้เหมือน สยาม พ่อของตนเอง ทั้งคู่ออกเดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปดูโลเคชันสำหรับการถ่ายทำละครเรื่องใหม่
แต่ในระหว่างการเดินทาง รถของสองแม่ลูกก็หลงมาติดหล่มดินกลางป่า นำพาให้แวงต้องมาขอความช่วยเหลือจาก อินทวุธ (ไนกี้-นิธิดล ป้อมสุวรรณ) เจ้าของคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางขุนเขา และเมื่อทั้งสามมาพบกัน เรื่องราวก็เผยว่าอินทวุธคือเพื่อนเก่าของแม่ ทำให้เวลาแห่งความหลังก็เริ่มไหลวนมาใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องความตายของสยาม ผู้เป็นพ่อของแวง และชายผู้เป็นที่รักของทั้งศศิวิมลและอินทวุธ
บ้านสีดำสถาปัตยกรรมโมเดิร์นตั้งอยู่กลางหุบเขา ใหญ่โตและอ้างว้าง มีรูปทรงที่ดูคล้ายกล่องแพนโดรา หรือกล่องแห่งความลับ พร้อมกับการปรากฏตัวของคู่แม่ลูกที่เดินทางมาในราชรถสีน้ำเงิน สีแห่งจิตวิญญาณ เสมือนเป็นภาพจิตวิญญาณของตัวละครที่กำลังเข้าไปค้นหา ขุดคุ้ยหาความจริงที่ปกปิดไว้ในกล่องแห่งความลับ
ธรรมชาติที่รายล้อมบ้านและตัวละครทั้งสามดูยิ่งใหญ่จนสามารถโอบกอดทั้งมนุษย์และสิ่งก่อสร้างให้ดูเล็กจิ๋วไร้พลังจะต่อต้าน ภาพของตัวละครที่อยู่ท่ามกลางผืนหญ้าป่าดงสีเขียวขจีสร้างความรู้สึกอิสระ ปลดวิญญาณของมนุษย์ทั้งสามออกจากพันธนาการแห่งกฎเกณ์และสายตาของผู้คน ธรรมชาติขับเน้นและดึงอารมณ์ทั้งสุข, เศร้า, เหงา, รัก, เกลียด หรือแม้แต่ราคะออกมา โดยมีความอลังการตระการตา (Sublime) ที่ทรงพลังของธรรมชาติเป็นฉากหลัง
เราจะเห็นว่ายิ่งตัวละครทั้งสามเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้นเท่าไร เส้นแห่งกฎเกณฑ์และศีลธรรมที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นก็ดูจะซีดจางตื้นเขินมากขึ้นไปทุกที ตัวละครมิอาจต้านทานแรงปรารถนาจากก้นบึ้งความรู้สึกได้ เหมือนที่เราจะเห็นฉากไฟดับในตอนที่ 2 ตัวละครทั้งสามตกอยู่ในความมืดไร้แสงไฟฟ้า พายุโหมกระหน่ำ ราวกับอารมณ์อัดอั้นของแวงและศศิวิมลค่อยๆ เดือดปะทุออกมา หรือฉากที่อาอินและแวงใช้เวลาร่วมกันในป่า ค่อยๆ ทำความรู้จักคู่สนทนาตรงหน้าโดยปราศจากสายตาจากมนุษย์จ้องมองตัดสิน
“เคยได้ยินไหม เราอ่านคนได้จากหนังสือที่เขาอ่าน”
อาอินกล่าวไว้ในตอนที่ 4 หนังสือที่อาอินมอบให้แวงคือ Symposium ซิมโพเซียม ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก หนังสือปรัชญาจากยุคคลาสสิกของนักปรัชญานาม เพลโต เป็นหนังสือในยุคคลาสสิกของกรีกโบราณ ว่าด้วยบทสนทนาทางปรัชญาระหว่างเพลโตกับลูกศิษย์หนุ่มนาม โสกราตีส และงานเลี้ยงอาหารค่ำของเหล่าชนชั้นสูงในกรุงเอเธนส์ ที่มีประเพณีของการดื่มไวน์โดยมีเด็กหนุ่มรินให้ และขนบการรักเพศเดียวกันระหว่างเพศชาย (Homosexuality) ในอารยธรรมกรีกโบราณไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่เป็นสิ่งที่สังคมเชิดชูว่าเป็นรักบริสุทธิ์ เรื่องราวบทสนทนาในหนังสือเกิดขึ้นซ้ำในความสัมพันธ์ระหว่างอาอินและแวง ภาพ Allusion จากหนังสือปรากฏในซีรีส์ที่อาอินดื่มไวน์โดยมีแวงเทให้ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์จากอารยธรรมกรีกโบราณที่ไหลเวียนภายในความสัมพันธ์ของทั้งสอง
เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา ถูกเล่าด้วยบทสนทนาระหว่างสามตัวละครหลักที่เต็มไปด้วยบทพูดแต่ไม่น่าเบื่อเลยสักนิด กลับกันซีรีส์ใช้คำพูดที่บรรจงร้อยเรียงเล่าถึงเรื่องราวในชีวิตของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งและน่าติดตาม ตัวของศศิวิมลแทนเสียงของคนในวัยกลางคนในสังคม สะท้อนมุมมองของคนที่ต้องรับผิดชอบ หาเลี้ยงปากท้อง อดทนอดกลั้น แวง ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันถึงโลกอุดมคติ ไม่แยแสต่อค่านิยมเก่าๆ และอินทวุธ คุณค่าที่เขาฝักใฝ่นั้นไม่ชัดเจน ไม่เลือกข้าง นิยมการประนีประนอมที่ใช้ไม่ได้ผลนัก เขาคือตัวแทนของคนชนชั้นกลางค่อนสูง มีความรู้ มีอิสรภาพทางการเงิน และปลีกตัวออกจากสังคม
ในซีรีส์ไม่ชี้นำว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ไม่เลือกข้าง แต่เปิดทางให้ผู้ชมและตัวละครค่อยๆ เติบโตและทำความเข้าใจถึงมุมมองหรือสถานการณ์ที่แตกต่างของปัจเจก ไม่สามารถตัดสินกันและกันได้ด้วยเหตุผลของตัวเองเป็นหลัก ทั้งสามคนเป็นภาพแทนบุคลิกที่เราเห็นได้ในสังคม ดังนั้นเมื่อทั้งสามพูดคุยกัน มันจึงกลายเป็นการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ที่แตกต่าง เป็นไดอะล็อกที่ให้คนดูได้ฉุกคิดต่อในเศษซากความคุกรุ่นที่หลงเหลืออยู่ มอบรสชาติของปรัชญาชั้นดีที่หาได้ยากจากอุตสาหกรรมซีรีส์ในไทย
และทั้งหมดนี้ถูกแสดงออกในลีลาแบบละครเวที ทั้งจังหวะการพูด น้ำเสียง บทที่คล้องจองยากต่อการจดจำ หรือแม้แต่ยากต่อนักแสดงที่จะพูดให้เข้าปาก แต่ความยากทั้งหมดนี้กลับถูกแสดงออกมาอย่างลื่นไหลน่าประทับใจ
การเลือกใช้ Long Take ในซีนอารมณ์ เผยให้เห็นการประชันบทบาทที่ไม่มีการคัต ไม่มีรอยต่อของอารมณ์ ลื่นไหล ไต่ระดับ และระเบิดออกมาราวกับประกายพลุสว่างไสวกลางท้องฟ้าสีดำ ภาษากายและภาษาพูดที่ถูกใช้สื่อสารทั้งแบบนัยตรงและนัยประหวัด และการเลือกใช้คำดุจบทกวีคลาสสิกที่มีกลิ่นวินเทจนิดๆ ในเซ็ตติ้งแบบร่วมสมัย ทำให้เราหวนนึกถึงหนัง Romeo & Juliet (1996) ที่มอบประสบการณ์เหมือนเรากำลังรับชมละครเวทีอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
จุดเด่นของซีรีส์เรื่อง เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา คือการตอบโต้ของตัวละครแต่ละตัวนั้นแตะต้องไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของอารมณ์ผู้ชม เผยแก่นของเรื่องที่เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ความรัก ทั้งรักแบบครอบครัว แบบเพื่อน และแบบคู่ชีวิต โดยใช้สัญญะ ความกำกวมของภาษา และท่าทางที่ทำให้ผู้ชมต้องคะนึงถึงความนัยของทุกๆ องค์ประกอบของเรื่อง เป็นความหฤหรรษ์ที่มีเสน่ห์ ซีรีส์สะกดผู้ชมให้ลุ้นว่าจะมีอะไรออกมาให้เราตีความอีก เป็นความสนุกสองชั้น เรื่องราวของซีรีส์กำลังเดินทางมาสู่จุดที่กำลังเข้มข้น คุกรุ่น และเปิดเผยปมหลักของเรื่อง ซึ่งสามารถติดตามกันต่อว่าเรื่องราวของทั้งสามจะลงเอยอย่างไร ใครจะ ‘สมหวัง’ และใครจะ ‘ผิดหวัง’
เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา ออกอากาศทางช่อง one 31 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 23.15 น. และสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง TrueID
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่
ภาพ: TrueID, Mitiartmedia / Twitter