18 นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ “หากไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from hunger and miseries) ย่อมไม่มีสุขภาพที่ดี” มีรายละเอียดดังนี้
วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เปิดเผยให้เห็นผลของความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ในขณะที่คนระดับบนสามารถกักตัวรักษาระยะทางสังคมได้อย่างไม่เป็นทุกข์ร้อนมากนัก แม้รายได้ที่ได้รับอาจจะลดลงบ้าง แต่คนชั้นล่าง โดยเฉพาะแรงงานรายวันและคนหาเช้ากินค่ำ มักจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่จะต้องออกจากงาน หรือสูญเสียช่องทางหารายได้หลักที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของชีวิต
ผลการสำรวจ ‘คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19’ โดยคณะวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนจนในเขตเมืองมีรายได้ลดลงโดยเฉลี่ย 70.84% โดยในจำนวนนี้ 60.24% มีรายได้ลดลงเกือบทั้งหมด และ 31.21% มีรายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง ในสภาวะที่บีบคั้นเช่นนี้ คนจนที่ไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from hunger and miseries) ย่อมจะไม่สามารถกักตัวเพื่อรักษาสุขภาพได้
แม้รัฐไทยจะได้ออกมาตรการเยียวยา-ช่วยเหลือมาจำนวนหนึ่งแล้วก็ตาม พวกเราจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามรายนามข้างล่างนี้ เห็นว่าภาวะวิกฤตพิเศษเช่นนี้ย่อมเรียกร้องต้องการมาตรการตอบสนองอย่างพิเศษ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ทนระยะสั้นและเพื่อรากฐานสำหรับสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้นในระยะต่อไป พวกเราขอนำเสนอหลักการและมาตรการแก้ไขดังต่อไปนี้แก่สังคมไทย
- ต้องไม่มีใครอดอยากและปราศจากปัจจัยสี่ของชีวิต
1.1 เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่ามีทั้งผู้เดือดร้อนที่เข้าไม่ถึงและผู้ที่ไม่เดือดร้อนแต่เข้าถึงมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งชี้ว่าทั้งเกณฑ์และข้อมูลประกอบการคัดกรองของรัฐบาลนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก ทั้งนี้ยังไม่นับความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการได้รับเงินของที่ผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมดและต้นทุนของรัฐในการคัดกรอง
พวกเราเห็นว่าควรยกเลิกมาตรการ 5,000 บาทนี้ โดยหันมาใช้วิธีการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็วกว่า คือการจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีค่ามากกว่าเส้นความยากจนของสังคมเราในปัจจุบันเล็กน้อย ในเวลา 3 เดือนเป็นขั้นแรกให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่แล้ว แม้ว่าจะต้องรีบปรับปรุงต่อไปก็ตาม (โดยผู้ที่คิดว่าตนได้รับผลกระทบน้อย อาจสามารถเลือกสละสิทธิ์ได้)
ทั้งหมดนี้เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ ตลอดจนถึงนักเรียน นักศึกษา ซึ่งจะแก้ปัญหาการแจกเงินของรัฐบาลที่ไม่สามารถคัดกรองผู้ที่เดือดร้อนได้ครบถ้วน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาทสำหรับเวลา 3 เดือน
1.2 จัดให้มีการแจกจ่ายอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพโดยตรงแก่กลุ่มคนเปราะบางทุกกลุ่ม ซึ่งบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงมาตรการข้างต้น เช่น กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนไร้บ้าน ฯลฯ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่ตกงานและตกค้างในไทย พวกเราคาดว่างบประมาณที่จำเป็นสำหรับการจัดถุงยังชีพให้แก่ประชากรเปราะบาง 2 ล้านคนเป็นระยะเวลา 3 เดือนในขั้นแรกจะคิดเป็นจำนวน 7,800 ล้านบาท
จากการคำนวณข้างต้นพบว่า ต้นทุนทางการคลังจากมาตรการทั้งสองจะอยู่ภายใต้วงเงินของ (ร่าง) พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
- เจ้าของปัจจัยทุนและที่ดินต้องร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
ในขณะที่ผลกระทบของวิกฤตต่อแรงงานและผู้ประกอบการเห็นได้ชัดเจนในรูปของการตกงานและยอดขายลดลงมาก พวกเราเห็นว่าเจ้าของที่ดินและทุนต้องร่วมเข้ามาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพื่อช่วยเหลือและเพื่อความสมานฉันท์ทางสังคม ดังนี้
2.1 พวกเราขอเรียกร้องต่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ให้ยุติการเก็บค่าเช่าทั้งต่อที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการขนาดเล็ก เราตระหนักดีว่าการบังคับใช้มาตรการนี้เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษห้ามการไล่-รื้อทุกประเภทในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ รวมทั้งพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ลดหรือยุติการเก็บค่าเช่า เช่น การอนุญาตให้นำมาลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า
2.2 เราตระหนักดีว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือแล้วหลายประการ เช่น การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่พวกเราเห็นว่ายังไม่พอเพียง จึงขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินยุติการคำนวณดอกเบี้ยในสินเชื่อคงค้างของบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ ให้คิดดอกเบี้ยได้เฉพาะต่อสินเชื่อใหม่เท่านั้นและในอัตราผ่อนปรน รวมทั้งระงับการฟ้องคดีล้มละลายต่อทั้งบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาแห่งวิกฤต
พวกเราเห็นว่ามาตรการข้อ 1 คือมาตรการพื้นฐานที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดในช่วงวิกฤตไปได้อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี ขณะที่มาตรการในข้อ 2 จะเป็นมาตรการเสริมที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศสามารถที่จะรักษากิจการของตนไว้ได้ เพื่อเป็นรากฐานที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาในภายหลัง
รายนามผู้สนับสนุนแถลงการณ์ฉบับนี้
- กุศล เลี้ยวสกุล
- เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
- เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
- ชล บุนนาค
- ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล
- ณพล สุกใส
- ดวงมณี เลาวกุล
- ธนสักก์ เจนมานะ
- นภนต์ ภุมมา
- พรเทพ เบญญาอภิกุล
- พลอย ธรรมาภิรานนท์
- พิชญ์ จงวัฒนากุล
- ภาวิน ศิริประภานุกูล
- วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร
- สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา
- อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ
- อภิชาต สถิตนิรามัย
- อิสร์กุล อุณหเกตุ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า