×

“เพราะฉันนั้นต้องการมีเสี้ยวนาทีที่ยิ่งใหญ่” ตลอด 178 ปี นางงามเวทีโลกต้องผ่านอะไรมาบ้าง

โดย Homesickalienn
17.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • การประกวดนางงามนั้นปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกมาเกือบสองศตวรรษ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1839 ในฐานะกิจกรรมสันทนาการระหว่างการพบปะสังสรรค์และแข่งกีฬาในแวดวงสังคมของเมืองอาร์ลิงตัน ประเทศสกอตแลนด์
  • ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศเวเนซุเอลาจะประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างถึงขีดสุด แต่หนึ่งในสิ่งซึ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตาคือบรรดานางงามที่ยกขบวนกันไปคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลถึง 7 ครั้ง
  • 20 ปีแรกของการประกวดนางงามจักรวาล มีเพียงสาวงามผิวสีไม่กี่คนที่สามารถผ่านด่านอรหันต์เข้าไปยืนในรอบสุดท้าย โดยสาวงามคนแรกที่ทำได้มีนามว่า เอเวอลิน มิโอต์ จากประเทศเฮติ
  • เคยมีเอกสารลับซึ่งมีเนื้อความเกี่ยวกับการจ่ายเงินนับล้านเหรียญสหรัฐเพื่อแลกกับตำแหน่งอันสูงสุดของเวทีนางงามปฐพี หรือ Miss Earth ในปี 2012 ซึ่งผู้ครองมงกุฎ ได้แก่ เทเรซา ฟาจก์โซวา จากสาธารณรัฐเช็ก ได้ถูกนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

     “จงจำไว้เสมอ ผู้ชนะอาจจะไม่ใช่หญิงสาวที่สวยที่สุด แต่เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในค่ำคืนนั้น”
     ประโยคอธิบายสรุปบริบทของการประกวดเวทีนางงามโดยกูรูแห่งวงการนางงามท่านหนึ่ง ซึ่งพูดถึงธรรมชาติของการประกวดนางงามเวทีต่างๆ ทั่วโลกอย่างเป็นกลาง จากหลายๆ ครั้งที่ผลการประกวดอาจไม่ถูกใจผู้คน แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงประวัติศาสตร์การประกวดต่างๆในระดับสากล เราไม่อาจจะปฏิเสธธรรมชาติของวงการนี้ว่า “เหตุผลที่สาวงามคนหนึ่งจะคว้ามงกุฎแห่งเกียรติยศและชัยชนะมา ล้วนมีมากกว่าเพียงการมีใบหน้าและทรวดทรงอันสวยสดงดงาม”

 

อาร์มี คูเซลา สาวงามจากประเทศฟินแลนด์ สตรีคนแรกที่ครองมงกุฎนางงามจักรวาลในปี 1952 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย

Photo: thegreatpageantcommunity.com


จากจุดเริ่มต้นที่สกอตแลนด์

     การประกวดนางงามนั้นปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกมาเกือบสองศตวรรษ โดยจากบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น การประกวดนางงามครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1839 ในฐานะกิจกรรมสันทนาการระหว่างการพบปะสังสรรค์และแข่งกีฬาในแวดวงสังคมของเมืองอาร์ลิงตัน ประเทศสกอตแลนด์ โดยสาวงามผู้ชนะเลิศและได้รับมอบตำแหน่ง ‘ราชินีแห่งความงาม’ หรือ Queen of Beauty ได้แก่ จอร์เจียนา ซีย์มัวร์ (Georgiana Seymour) ดัชเชสแห่งโซเมอร์เซต
     การจัดการประกวดขาอ่อนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงปี 1880 เวทีการประกวดยิบย่อยได้เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งมาพร้อมคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการไม่ให้ความเคารพต่อสตรีเพศ การนำเรือนร่างและความสวยงามทางกายภาพของผู้หญิงมาเป็นเกมการแข่งขัน จนกระทั่งการประกวดนางงามเริ่มเป็นที่ยอมรับของหลายฝ่ายในสังคมมากขึ้น เมื่อมีการจัดตั้งเวทีประกวด Miss America ขึ้นในปี 1921 โดยมุ่งเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของเมืองแอตแลนติกซิตี้ ในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ และมีการให้คะแนนการแสดงความสามารถของผู้เข้าประกวด รวมถึงการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งการประกวด Miss America ยังคงได้รับความนิยมเรื่อยมาและมีการจัดประกวดขึ้นในทุกๆ ปี

 

Miss Universe ปี 1997 ที่ไมอามี

Photo: ROBERTO SCHMIDT / AFP


‘The Big Three’ สามเวทีความงามที่สำคัญสุด
     ในขณะที่มีการจัดการประกวดสาวงามขึ้นมากมายในปัจจุบัน เวทีการประกวดที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในวงกว้างมักจะเป็นเวทีที่สั่งสมชื่อเสียงเกียรติยศมาอย่างยาวนาน และได้รับความร่วมมือในการซื้อลิขสิทธิ์การประกวดเพื่อได้รับสิทธิ์ในการส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนหลายประเทศทั่วโลก โดยเวทีประกวดที่แฟนนางงามทั่วโลกยกให้เป็น 3 เวทีหลัก อ้างอิงจากเกียรติประวัติอันยาวนาน ความน่าเชื่อถือ และการยอมรับจากนานาประเทศ ได้แก่ นางงามจักรวาล (Miss Universe), นางงามโลก (Miss World) และนางงามนานาชาติ (Miss International)

     เวทีการประกวดเหล่านี้มาพร้อมเม็ดเงินลงทุนทางด้านโปรดักชันจำนวนมหาศาล แลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากผู้สนับสนุนต่างๆ ที่พร้อมจะเข้ามาโฆษณาสินค้าหรือองค์กร และในบางกรณี การประกวดเวทีขาอ่อนยังเปรียบเสมือนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศเจ้าภาพให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกผ่านวีทีอาร์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมักจะถูกสอดแทรกเข้ามาในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างการถ่ายทอดสดเสมอ
     นอกจากทั้ง 3 เวทีที่กูรูนางงามหลายเจ้ายกให้เป็นประหนึ่ง ‘แกรนด์สแลมของเวทีขาอ่อน’ แล้ว ยังมีการประกวดสาวงามในระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างอีกมากมาย เช่น Miss Supranational, Miss Earth, Miss Intercontinental, Miss Globe และ Miss Grand International ของประเทศไทย ซึ่งดำเนินงานโดย ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ที่เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายหลังจากก่อตั้งองค์กรมาได้เพียง 5 ปีเท่านั้น

โดนัลด์ ทรัมป์ กับเหล่าผู้เข้าประกวด Miss Universe ปี 1998 ซึ่งจัดขึ้นที่ฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย

Photo: HO / MISS UNIVERSE ORGANIZATION / AFP


ประเทศมหาอำนาจทางความงาม
     การใฝ่ฝันที่จะเห็นหรือได้ยินชื่อประเทศที่ตนเป็นพลเมืองอยู่ถูกประกาศบนเวที ไม่ว่าจะในฐานะผู้เข้ารอบหรือผู้ครองมงกุฎก็ตาม นั่นคือความภาคภูมิใจ ความอิ่มอกอิ่มใจของคนในชาติ และความชาตินิยมในรูปแบบนี้มีให้เห็นเด่นชัดในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการประชันความงามและทำผลงานได้ดีบนเวทีนานาชาติเป็นประจำ ก่อกำเนิดคำนิยามของ ‘ประเทศมหาอำนาจทางความงาม’ อย่างเช่น เวเนซุเอลา และประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างฟิลิปปินส์
     จากสถิติของผลการประกวดเวทีระดับโลกที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเวเนซุเอลาจะประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างถึงขีดสุด แต่หนึ่งในสิ่งซึ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตาและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศก็คือบรรดานางงามที่ยกขบวนกันไปคว้ามงกุฎในระดับนานาชาติกันเป็นว่าเล่น การันตีด้วยการเป็นผู้ชนะนางงามจักรวาลถึง 7 ครั้ง (ล่าสุดเมื่อปี 2013 และยังทำสถิติการเป็นผู้ชนะติดต่อกัน 2 ปีเมื่อปี 2008 และ 2009 อีกด้วย), 6 มงกุฎนางงามโลก (ล่าสุดเมื่อปี 2011), 7 มงกุฎนางงามนานาชาติ (ล่าสุดเมื่อปี 2015) พ่วงด้วยอีก 2 มงกุฎนางงามปฐพี (ล่าสุดเมื่อปี 2013)

 

อลิเซีย มาชาโด Miss Universe ปี 1996 จากเวเนซุเอลา 

Photo: BOB STRONG/AFP

กาเบรียลา อิสเลร์ Miss Universe ปี 2013 จากเวเนซุเอลา

Photo: ALEXANDER NEMENOV / AFP


     ทางด้านทวีปเอเชีย การประกวดนางงามช่วงยุค 90s นั้น ประเทศอินเดียเคยถือเป็นมหาอำนาจวงการนางงามโลกที่มักจะส่งตัวแทนสาวงามซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยใบหน้าสวยคมเข้มตามแบบฉบับสาวแขกนัยน์ตาหวาน ผู้มาพร้อมปฏิภาณไหวพริบและความเฉลียวฉลาดในการใช้ภาษาตอบคำถามบนเวที จนถึงขั้นมีวลีกล่าวเอาไว้ว่า ‘อย่าให้นางงามอินเดียได้จับไมค์’ เพราะหากนางงามอินเดียผ่านช่วงสัมภาษณ์ไปได้เมื่อไร โอกาสในการครองมงกุฎเกียรติยศมักจะพุ่งสูงขึ้นไปเป็นทวีคูณ

     ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างฟิลิปปินส์ที่ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านการผลิตสาวงามป้อนเวทีการประกวดและมักจะจบผลลัพธ์ด้วยการครองมงกุฎ หรืออย่างน้อยก็เข้ารอบรองชนะเลิศอยู่เสมอ การันตีด้วยผลงานการเข้ารอบสุดท้ายบนเวทีนางงามจักรวาลถึง 7 ปีติดต่อกัน ซึ่ง 6 ใน 7 ปีนั้น สาวงามแดนตากาล็อกสามารถผ่านเข้าไปได้ถึงรอบ 5 หรือ 6 คนสุดท้าย

     เป็นที่น่าสังเกตอยู่ไม่น้อยว่าประเทศมหาอำนาจทางความงามเมื่อสมัยสัก 5 ทศวรรษก่อน เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน หรือสหราชอาณาจักร ปัจจุบันกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการส่งสาวงามไปคว้ามงกุฎตามการประกวดรายการใหญ่ๆ เหตุผลหนึ่งคือเรื่องของกระแสนิยมและนิยามของความงามที่แปรเปลี่ยนไป รวมถึงการขาดความเอาใจใส่จากผู้สนับสนุนและทีมงานภายในประเทศ เนื่องจากการเสื่อมความนิยมของวงการขาอ่อนในประเทศนั้นๆ นั่นเอง

 

วาเนสซา วิลเลียมส์ Miss America ปี 1983

Photo: parade.com


เรื่องของผิวสีและเทรนด์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
     นับตั้งแต่ อาร์มี คูเซลา (Armi Kuusela) สาวงามจากประเทศฟินแลนด์ได้กลายเป็นสตรีคนแรกผู้ครองมงกุฎนางงามจักรวาลในปี 1952 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และกีกี โฮแคนสัน จากประเทศสวีเดน เป็นผู้ชนะตำแหน่งนางงามโลกเมื่อปี 1951 จากการจัดประกวดที่ประเทศอังกฤษ ค่านิยมของสาวงามในอดีตซึ่งเตะตากรรมการนั้นมักจะมาพร้อมผิวที่ขาวผ่อง ผมสีบลอนด์ทอง และภาพลักษณ์ที่เหนียมอาย มีนัยความหมายเชิงความเป็นกุลสตรี และยากเหลือเกินที่จะมีนางงามผิวสีได้ผ่านเข้ารอบเข้าไปเฉียดใกล้มงกุฎแห่งเกียรติยศในระดับนานาชาติ
     ในประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นดุจหม้อหลอมรวมพหุวัฒนธรรม มีผู้คนหลายเชื้อชาติจากแทบจะทุกมุมโลกเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมเดียวกัน แต่ถึงกระนั้นวงการขาอ่อนก็ต้องรอจนถึงปี 1983 ที่ วาเนสซา วิลเลียมส์ (Vanessa Williams) ได้กลายเป็นสตรีผู้มีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งได้ครองตำแหน่งสูงสุดในการประกวด Miss America และถึงแม้จะเกิดเรื่องอื้อฉาวเมื่อภาพเปลือยที่เธอเคยถ่ายแบบเอาไว้ในอดีตถูกมือดีขุดขึ้นมาทำร้าย และทำให้เธอโดนปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา แต่เธอก็ได้กลายเป็นหนึ่งในนักร้องหญิงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในยุค 90s
     การประกวดนางงามระดับนานาชาติในประวัติศาสตร์ช่วง 20 ปีแรกของการเริ่มจัดการประกวดนางงามจักรวาลหรือนางงามโลก มีเพียงสาวงามผิวสีไม่กี่คนที่สามารถผ่านด่านอรหันต์เข้าไปยืนในรอบสุดท้าย โดยสาวงามคนแรกที่ทำได้มีนามว่า เอเวอลิน มิโอต์ (Evelyn Miot) จากประเทศเฮติ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 คนสุดท้ายในการประกวดนางงามจักรวาลปี 1962 จนกระทั่ง แจเนล กอมมิสซิอง (Janelle Commissiong) จากประเทศตรินิแดดแอนด์โตเบโก ได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นสาวงามผิวสีคนแรกที่ครองมงกุฎนางงามจักรวาลในปี 1977 และได้กลายเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญในการเรียกร้องสิทธิสตรีผิวสีบนเวทีโลกในเวลาต่อมา
     ค่านิยมความงามในยุคปัจจุบันนั้นเริ่มเบนเข็มมองหาสาวงามจากภายใน ควบคู่ไปกับความงามด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ความมั่นใจ ปราดเปรียว การมีทัศนคติแบบผู้หญิงยุคใหม่ซึ่งเคารพคุณค่าในตนเอง รวมถึงทักษะในการเป็นผู้นำ เป็นแรงบันดาลใจแง่บวกให้กับผู้คนในสังคม ดังจะเห็นได้จากการประกวดนางงามจักรวาลในปัจจุบันที่ทรวดทรงองค์เอวหรือจริตจะก้านในการเดินสับขาหมุนตัวติ้วสเตปลูกข่างบนเวทีอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ช่วยผลักให้สาวงามเข้ารอบแต่อย่างใด

 

Miss Universe ปี 1996 ที่ลาสเวกัส

Photo: MISS UNIVERSE INC. / AFP

 

อัตลักษณ์ของประเทศที่มาพร้อมความใหญ่โตและโก้เก๋
     ความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ประจำถิ่นของแฟนนางงาม ทำให้การประกวดรอบชุดประจำชาติของแต่ละเวทีได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หากนางงามได้รับอาภรณ์สวมใส่ซึ่งถูกระดมไอเดียออกแบบมาอย่างดี โอกาสที่จะมีกรรมการกดคะแนนโหวตจนชนะรางวัลนั้นย่อมมีมากกว่าชุดที่แสดงถึงความเป็นชนชาตินั้นๆจริงๆ แต่ไร้ซึ่งความโดดเด่น ดังจะเห็นได้จากเทรนด์การมอบรางวัลชุดประจำชาติในยุค 90s ของเวทีนางงามจักรวาล ซึ่งมักจะประเคนถ้วยรางวัลแด่สาวงามจากประเทศลาตินอเมริกาหรืออเมริกาใต้ เพราะความ ‘ใหญ่โตโอฬาร’ ของขนนก เครื่องหัว และสีสันที่สะดุดตา

     โดยตลอดประวัติศาสตร์เวทีนางงามโลก ชุดประจำชาติในตำนานที่กลายเป็นเรื่องเล่าขานว่ามีขนาดใหญ่และหนักที่สุดในประวัติศาสตร์คือชุดประจำชาติของประเทศปารากวัย ในการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 1992 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งสวมใส่โดยสาวงามนามว่า พาเมลา ซาร์ซา (Pamela Zazar) เธอเปิดเผยว่าชุดได้รับการขนส่งมาทางเรือ และเนื่องจากความมโหฬารของชุด เธอจึงไม่สามารถเดินขึ้นเวทีตอนเริ่มต้นการประกวดได้ และทีมงานต้องให้เธอยืนนิ่งๆ บนเวทีเอาไว้ตั้งแต่ก่อนการถ่ายทอดสดจนกลายเป็นเรื่องฮือฮา
     กระแสความนิยมในการออกแบบชุดประจำชาติให้ออกมาดู ‘เรียบแต่โก้’ กลายมาเป็นเทรนด์ในช่วงปลายยุค 2000s นับตั้งแต่ คุราระ ชิบานะ (Kurara Chibana) นางงามญี่ปุ่นใส่ชุดซามูไรสุดเซ็กซี่ขึ้นเวทีนางงามจักรวาลในปี 1996 ลามมาจนถึงชุด ‘ตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์’ ซึ่งถูกสวมใส่โดย อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ชนะในการประกวดชุดประจำชาตินางงามจักรวาลในปี 2015 ที่เมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

Miss World ปี 2010 ณ ประเทศฮังการี

Photo: ATTILA KISBENEDEK / AFP


ที่ใดมีการลงทุน ที่นั่นย่อมคาดหวังจะได้รับเงินสนับสนุนหมุนกลับคืนมา
     วงการนางงามมีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่อย่างมหาศาลและมีเหตุผลทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เรื่องฉาวคาวน้ำปลาซึ่งมีประเด็นเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับเวทีขาอ่อนนั้นจะถูกขุดคุ้ยขึ้นมาแฉกันเป็นประจำ
     มีการประกวดนางงามระดับนานาชาติหลายครั้ง ซึ่งแฟนนางงามหลายคนต่างตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับการได้มาซึ่งมงกุฎของนางงามบางประเทศ เอกสารลับอย่างเช่นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีเนื้อความเกี่ยวกับการจ่ายเงินนับล้านเหรียญสหรัฐเพื่อแลกกับตำแหน่งอันสูงสุดของเวทีนางงามปฐพี หรือ Miss Earth ในปี 2012 ซึ่งผู้ครองมงกุฎ ได้แก่ เทเรซา ฟาจก์โซวา (Tereza Fajksova) จากสาธารณรัฐเช็ก ได้ถูกนำมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าหากเอกสารเหล่านั้นเป็นความจริง ความน่าเชื่อถือว่าด้วยความโปร่งใสขององค์กรนางงามปฐพีย่อมจะแหลกสลายไปในพริบตา อย่างไรก็ดี ในกรณีของปี 2012 นั้นไม่มีการพิสูจน์หลักฐานว่าเอกสารที่ว่านั้นเป็นของจริงหรือไม่ ทำให้เรื่องราวค่อยๆ เงียบหายไป
     หลายครั้งที่องค์กรนางงามของแต่ละประเทศมีความพยายามและตั้งใจที่จะสานสัมพันธไมตรีที่ดีกับองค์กรแม่ของการประกวดนางงามระดับนานาชาตินั้นๆ อันเป็นที่มาของวลีที่แฟนนางงามเรียกว่า ‘โอนไว’ ซึ่งเปรียบเปรยถึงการที่ผู้ถือลิขสิทธิ์การส่งสาวงามเข้าประกวดเวทีระดับนานาชาติของแต่ละประเทศใช้ความสามารถในการประจบประแจง และอาจจะมีการมอบเงินสินบนหรือเงินสนับสนุนองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อแลกกับการที่สาวงามของตนได้มีโอกาสเข้ารอบสุดท้ายในการประกวด หรือแม้แต่ในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดประกวดนางงามจักรวาล (ปี 1996-2015) ข่าวลือเรื่องการคัดเลือกบางส่วนผู้เข้ารอบนางงามจักรวาลตามลำดับประเทศที่เกื้อหนุนต่อการประกอบธุรกิจของทรัมป์นั้นก็ยังเป็นสิ่งที่แฟนนางงามบางคนยังเคลือบแคลงใจจนถึงทุกวันนี้

 

https://www.youtube.com/watch?v=OFampNVCYgM&feature=youtu.be

 

Miss World ปี 1956 ที่ลอนดอน 

Photo: INTERCONTINENTALE / AFP

Miss Universe ปี 2015

Photo: VALERIE MACON / AFP

 

วัฒนธรรมวงการนางงาม

     ในทุกๆ ปี เราจะได้เห็นการฟาดงวงฟาดงาของแฟนคลับนางงามแต่ละประเทศจากการที่สาวงามของตนเองนั้นไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันตามที่หมายมั่นปั้นจิตอธิษฐานเอาไว้ได้ ก่อกำเนิดเป็นคำพูดประทุษร้าย ดูถูก เหยียดหยาม และโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างมากมาย

     กูรูนางงามบางคนต้องออกมาเตือนสติกันด้วยประโยคที่ว่า “นางงามไม่ใช่แม่ ขอให้ดูแค่เปรียบเสมือนเกมกีฬา ทุกอย่างมีแพ้ มีชนะ และเราไม่สามารถจะสมหวังในทุกๆ ครั้งที่ตั้งความหวังได้ จงดูนางงามด้วยความสนุก ลุ้นไปกับทุกรอบบนเวที และอย่าได้มีความอินเกินไปจนก่อให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง”

     แน่นอน ถ้าเรามั่นใจว่าตัวแทนของประเทศเราดีจริง เราไม่ควรจะเสียดายถ้าตัวแทนคนนั้นได้ทำหน้าที่ของเธออย่างเต็มที่ในการประกวดระดับนานาชาติ ดังเช่นในกรณีของ ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น กับการผ่านและหยุดที่รอบ 8 คนบนเวทีการประกวดนางงามปฐพีเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ท่ามกลางเสียงชื่นชมที่เธอได้แสดงศักยภาพของหญิงไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในเวทีโลก ถึงแม้จะไม่ได้ตำแหน่งสูงสุดในค่ำคืนนั้นกลับมา
     นั่นรวมถึงการเอาใจช่วย มารีญา พูลเลิศลาภ ตัวแทนสาวไทยในการประกวดนางงามจักรวาล ครั้งที่ 66 ณ เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีการประกวดรอบตัดสินในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

Miss France ปี 1993

Photo: PIEERE VERDY / AFP

 

Cover Photo: ROMEO GACAD / AFP

อ้างอิง:

FYI

อภิธานศัพท์นางงามที่ไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่ถ้ารู้ก็สนุกดี

  • มง ย่อมาจาก มงกุฎ เป็นของรางวัลอันสูงสุดซึ่งมอบให้แด่ผู้ชนะในเวทีการประกวดต่างๆ การใช้คำว่า ‘มง’ เป็นการย่อคำเพื่อใช้อธิบายสถานการณ์ต่างๆ เช่น สมมง แปลว่า สมตำแหน่ง, มงลงหัว แปลว่า ผู้ชนะได้รับการส่งมอบตำแหน่งโดยการสวมใส่มงกุฎ, มาเพื่อมง แปลว่า ผู้เข้าแข่งขันซึ่งเป็นตัวเก็ง ควรได้รับชัยชนะด้วยเหตุผลต่างๆ
  • นอนมา ใช้ในสถานการณ์ที่มีผู้เข้าแข่งขันความงามซึ่งถูกสื่อและกูรูการประกวดเก็งว่าเป็นตัวเต็งจ๋าที่จะคว้ามงกุฎ โดยที่สาวงามคนนั้นแทบจะไม่ต้องขวยขวายหรือพยายามอะไรเลย
  • ตุ้บ แปลว่า ตกรอบ ซึ่งเป็นการเล่นคำเลียนแบบเสียงของตกหล่น นั่นก็คือเสียง ‘ตุ้บ’ เราสามารถใช้คำนี้ในกรณีที่สาวงามคนนั้นไม่ผ่านเข้ารอบต่างๆ เช่น ว้าย ปีนี้เวเนฯ ตุ้บรอบ 10 คนค่ะ
  • ผีผลัก โดยมากจะใช้ร่วมกับวลี ‘นางงามผีผลัก’ ซึ่งแฟนนางงามมักจะนิยามถึงสาวงามที่อาจจะไม่ได้มาพร้อมกับความสวยเตะตาอะไรมากในสายตาผู้ชมส่วนใหญ่ แต่สามารถผ่านเข้ารอบต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเปรียบเปรยเหมือนกับการโดนผีผลักเข้ามาด้วยอำนาจมืด
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising