วานนี้ (6 มกราคม) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุถึงความคืบหน้าโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครผ่านเฟซบุ๊ก ‘หวังสร้างเมือง’ ว่า
“ฝุ่นมาแล้วครับ การแก้ที่ต้นตอนั้นดีที่สุด แต่ถ้าไม่ทันเราก็ต้องหาทางป้องกันให้ทัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สุดก็คือเด็กเล็ก อนาคตของเมืองเรา
“วันนี้ผมมีโอกาสได้เจออาจารย์มณีรัตน์อีกครั้ง ปีก่อนอาจารย์มาให้ความรู้เรื่องห้องปลอดฝุ่นต้นแบบ และบอกว่าจะลงมือทดลองวิจัยให้โดยมหาลัยนวมินทร์
“วันนี้ห้องต้นแบบเสร็จแล้ว โรงเรียนวัดราชผาติการามของ กทม. โดยใช้วิธีง่ายๆ 4 ขั้นตอน
- ซีลห้องให้มิดชิด
- ติดเครื่องปรับอากาศ
- ทำระบบเติมอากาศ 2 แบบ เพื่อทดลองให้เห็นความแตกต่าง (1) แบบตัวเติมอากาศแบบเดียว และ (2) แบบที่สามารถเอาอากาศหมุนออกไปฟอก แล้วกลับมาอีกครั้ง
- ติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อวัดค่าฝุ่น อุณหภูมิ ความชื้น และ CO2
“ข้อสรุปเพื่อดำเนินการต่อ
ทำข้อ 1, 2, 4 โดยในสเกลระดับหลายพันห้องอาจไม่จำเป็นต้องทำระบบเติมอากาศ แต่ใช้เครื่องฟอกแทนก็ได้ แต่อาจารย์แนะนำว่าควรติดตั้งข้อ 4 เพื่อวัดสถานการณ์ค่าฝุ่น และที่คนมักไม่ค่อยวัดคือค่า CO2 ที่สำคัญมาก
“ค่า CO2 สำคัญมากอย่างไร เราเคยนั่งในห้องแล้วง่วงไหมครับ นั่นคือสาเหตุหนึ่งเลย เพราะห้องมีออกซิเจนน้อยไป และถ้าหากเยอะไปจะเกิดอันตราย CO2 ทำให้เราง่วงและไม่เหมาะกับการเรียน ค่ามาตรฐานคือไม่ควรเกิน 1,000 ppm แต่ในห้องปิดแบบห้องปลอดฝุ่น พอคนพูดและทำกิจกรรมเยอะๆ จะเกินไปถึง 2,000 ppm ซึ่งเป็นค่าที่อันตรายต่อการหายใจแล้ว
“วิธีแก้แบบดีคือทำระบบเติมอากาศแบบข้อ 3 เอาอากาศหมุนออกแล้วเติมอากาศดีใหม่เข้าไป แต่วิธีที่ง่ายกว่าที่อาจารย์แนะนำก็คือเปิดประตูห้องสักพักแล้วค่อยปิดก็ช่วยแล้ว แน่นอนว่าฝุ่นก็จะเข้า แต่ด้วยเครื่องฟอกสักพักก็จะดีขึ้นครับ
“กทม. ตั้งใจทำห้องปลอดฝุ่นให้กับนักเรียนมานานแล้ว ปีนี้ได้รับงบประมาณแล้ว สำนักศึกษากำลังเร่งทำทั้ง 1,743 ห้องให้เร็วที่สุดครับ”
อ้างอิง: